ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ผอ.เภสัชฯให้ข้อมูลดีเอสไอ แจงน้ำท่วมใหญ่ทำก่อสร้าง รง.วัคซีนล่าช้า ชี้แยก 4 สัญญาเพราะ ครม.อนุมัติงบผูกพัน 4 ปี วัตถุดิบผลิตยาพาราฯแค่ปนเปื้อนเส้นผม 'ประดิษฐ'ยันไม่ปลด'วิทิต'

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยกรณีมอบหมายให้นายกมล บันไดเพชร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ สธ. เข้ายื่นหนังสือ ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ตรวจสอบองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ที่ส่อว่าจะมีการทุจริตใน 2 เรื่อง คือ 1.โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนที่ ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี วงเงินประมาณ 1,400 ล้านบาท และ 2.การ จัดซื้อวัตถุดิบในการผลิตยาพาราเซตามอลที่มีการปนเปื้อน ว่าได้แจ้งกับ นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (ผอ.อภ.) ว่าหากดีเอสไอต้องการข้อมูลอะไร ก็ให้ข้อมูลตามข้อเท็จจริง

นพ.ประดิษฐกล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่เคยพูดว่าจะปลด ผอ.อภ. ยังคงทำหน้าที่เหมือนเดิม โดยเรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าทั้งหมดเป็นอย่างไร มีผู้รับผิดชอบคนไหนบ้าง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าผู้ที่เกี่ยวข้องผิด ต้องดูว่าได้ดำเนินการแก้ไขตามขั้นตอนถูกต้องหรือไม่ หากถูกต้องแต่มีเหตุอันควรจะได้ทราบเหตุผล เนื่องจากที่ผ่านมาเมื่อถามรายละเอียดใดๆ ไม่เคยได้รับคำตอบที่ชัดเจน แม้กระทั่งผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) ก็รายงานไม่ชัดเจน แจ้งเพียงว่า ผอ.อภ.ในฐานะผู้บริหารต้องรับผิดชอบ แต่ไม่มีหลักฐานหรือเอกสารใดๆ เป็นการสรุปแบบคลุมเครือ

เล็งร้องสอบรง.ยาเอดส์อีก

"การสรุปให้ ผอ.อภ.รับผิดชอบในฐานะผู้บริหาร ผมมองว่าไม่ถูกต้อง เนื่องจากอาจมีการสั่งการเรียบร้อยแล้ว แต่เราไม่ทราบ เพราะหาก ผอ.อภ.ได้สั่งการทุกเรื่องถูกต้องหมด จะไปเอาผิดก็ไม่ถูกต้อง จึงบอกให้ไปตรวจสอบอีกครั้ง โดยไล่ขั้นตอนให้ดูก่อนว่ามีการสั่งการอย่างถูกต้องหรือไม่ บางเรื่องอย่างโรงงานผลิตยาเอดส์ ที่ จ.ปทุมธานี ขณะนี้ยังสร้างไม่เสร็จ เบื้องต้นมีปัญหาในเรื่องเครื่องปรับอากาศ ผมยังไม่นำเรื่องนี้ยื่นให้ดีเอสไอสอบสวน เพราะต้องให้โอกาสผู้ปฏิบัติงานในการชี้แจงข้อเท็จจริง แต่หากไม่สามารถชี้แจงได้จะใช้กระบวนการตรวจสอบดีเอสไอเช่นกัน" นพ.ประดิษฐกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า การส่งเรื่องให้ดีเอสไอเป็นการโต้กลับทางการเมือง นพ.ประดิษฐกล่าวว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว ไม่ได้มาโยงเลย แปลกใจว่าทำไมกลุ่มคัดค้านเอาเรื่องนี้มาโยงกับแนวทางการปรับปรุงค่าตอบแทนบุคลากร สธ. และหากทุกคนเห็นว่าเรื่องนี้ผิดปกติ ทำไมไม่รู้สึกดีใจที่จะได้มีการสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้ทุกอย่างชัดเจน ทำไมต้องเดือดร้อนแทนใคร

ปฏิเสธข้อครหารวบอำนาจ

เมื่อถามว่า บางกลุ่มเข้าใจว่าการเสนอเรื่องให้ดีเอสไอตรวจสอบ เนื่องจากต้องการเปลี่ยนตัว ผอ.อภ. เป็นการเดินเรื่องเพื่อรวบอำนาจ นพ.ประดิษฐกล่าวว่า "รวบอำนาจ ไม่มีทาง รวบได้ เพราะองค์กรส่วนหนึ่งเกิดโดยกฎหมาย และผมเป็นประธานในบางองค์กร อย่างประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งมีอำนาจอยู่แล้ว จะไปรวบอำนาจอะไรอีก"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โรงงานผลิตยาต้านไวรัสเอชไอวี (เอดส์) ที่ถนนรังสิต-นครนายก คลอง 10 จ.ปทุมธานี มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2551 ให้ก่อสร้างโดยใช้งบ 700 ล้านบาท ต่อมามีการปรับปรุงแบบเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตจึงต้องเพิ่มงบเป็น 900 ล้านบาท โดยกำหนดสร้างเสร็จปี 2555 แต่จนบัดนี้ยังไม่แล้วเสร็จ

สอบถาม'ฮู'ช่วยหาทางออก

ต่อมา นพ.ประดิษฐให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า อภ.ต้องชี้แจงเรื่องนี้ให้ได้ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงแบบอาคารโรงงาน ที่ผ่านมา ให้เหตุผลว่าเปลี่ยนแปลงแบบเพราะฐานรากหรือโครงสร้างพื้นดินรับอาคารไม่ดีพอ เกรงน้ำท่วมจะกัดเซาะ ทำให้ต้องเพิ่มวงเงินอีก 45 ล้านบาทนั้น ถามว่าสมควรหรือไม่ เพราะก่อนก่อสร้างน่าจะทราบอยู่แล้วว่าพื้นดินเป็นอย่างไร ทำไมไม่มีการตรวจสอบ ส่วนที่บอกว่าเพื่อต้องการให้โรงงานผลิตได้ทั้งชนิดเชื้อเป็นและเชื้อตายเพื่อรองรับการระบาด ต้องถามกลับว่าคุ้มค่าหรือ เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา

นพ.ประดิษฐกล่าวว่า ยังมีเรื่องของวัตถุดิบที่จะนำมาผลิตเชื้อเป็นคือ ไข่ปลอดเชื้อ เพราะหากเกิดการระบาดจริง จะสามารถจัดหาไข่จำนวนเป็นล้านๆ ได้อย่างไร อีกทั้งขณะนี้การผลิตวัคซีนเชื้อเป็นยังอยู่ในขั้นวิจัย หากไม่สำเร็จ แล้วโรงงานนี้จะเกิดประโยชน์หรือไม่ ที่สำคัญปัจจุบันผลการทดลองเรื่องเชื้อเป็นยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจน แต่การเตรียมเทคโนโลยีไว้ล่วงหน้า ได้เคยถามว่าหากการทดลองไม่ประสบความสำเร็จจะทำอย่างไร ก็ไม่ได้คำตอบ

"ผมได้ทำเรื่องสอบถามไปยังองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าสามารถยกระดับโรงงานผลิตวัคซีนเป็นมาตรฐานความปลอดภัยระดับ 2 บวกได้หรือไม่ หากได้รับคำตอบว่า สามารถดำเนินการได้ด้วยการยกระดับเปลี่ยนเครื่องจักร จะได้หมดปัญหาในเรื่องนี้ว่าผู้ที่ดำเนินการทำอย่างบริสุทธิ์ โดยรัฐไม่เสียประโยชน์ ตรงนี้เป็นการพยายามหาทางออกให้ว่าอาจเป็นการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็เป็นได้" นพ.ประดิษฐกล่าว

บอร์ดอภ.ตั้งกก.สอบสวน

นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานบอร์ด อภ. กล่าวว่า ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา และได้ส่งผลการตรวจสอบให้รัฐมนตรีว่าการ สธ.เมื่อช่วงเดือนมีนาคม ซึ่งทราบว่ามีสาเหตุที่ทำให้โครงการเกิดความล่าช้า แต่ยังไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ รวมทั้งไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นความผิดที่เกิดจากการทุจริตหรือจากกระบวนการทำงาน เนื่องจากต้องรวบรวมหลักฐานอย่างละเอียดอีกครั้ง เบื้องต้นเตรียมตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณารายละเอียดเหล่านี้ คาดว่าจะได้รายชื่อคณะกรรมการภายในสัปดาห์หน้า

'หมอวิทิต'ให้ข้อมูลดีเอสไอ

นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผอ.อภ.ปฏิเสธที่ จะให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินทางพร้อมคณะเข้า ให้ปากคำกับนายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ ผู้อำนวย การศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ดีเอสไอ ประมาณ 2 ชั่วโมง โดยระบุว่า ให้ดีเอสไอ ชี้แจง ทั้งนี้ นพ.วิทิตได้ยกมือชู 2 นิ้ว ก่อนเดินทางกลับ

นายธานินทร์กล่าวว่า ดีเอสไอได้ตั้งประเด็นการสืบสวน 4 ประเด็น คือ 1.การจัดซื้อจัดจ้างด้วยการแบ่งแยกสัญญาจ้างก่อสร้างออกเป็น 2 สัญญา และมีการแยกที่ปรึกษาออกแบบเป็น 4 สัญญา นอกจากนี้ยังจ้างการติดตั้งระบบภายในอีก 1 สัญญา 2.การแก้ไขสัญญา มีการเปลี่ยนแปลงแบบและมีการขยายระยะเวลาให้กับผู้รับจ้าง 3.การแก้ไขกระบวนการผลิตซึ่งเดิมกำหนดเป็นแบบเชื้อตาย แต่เปลี่ยนเป็นแบบเชื้อเป็น และ 4.การจัดซื้อครุภัณฑ์ (เครื่องจักร) ทั้งที่การก่อสร้างอาคารยังไม่เสร็จ

"ส่วนการซื้อวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตา มอล ได้กำหนดประเด็นสืบสวนไว้ 2 ประเด็น คือ กระบวนการจัดซื้อวัตถุดิบถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ และการตรวจรับวัตถุดิบ การเก็บรักษาเป็นไปตามหลักวิชาการหรือไม่" นายธานินทร์กล่าว

แจงที่มางบประมาณก่อสร้าง

นายธานินทร์กล่าวว่า นพ.วิทิตได้ชี้แจงประเด็นตามข้อสงสัยที่มีการร้องเรียน โดยเฉพาะประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีน ว่ามีการดำเนินการอย่างไร และชี้แจงเหตุผลที่จำเป็นต้องมีการจัดซื้อจัดจ้างหลายสัญญาว่าเป็นเพราะปัญหาเรื่องเงินงบประมาณ ซึ่งเดิมดีเอสไอตรวจสอบเบื้องต้นตามเอกสารที่ได้รับ พบว่าโครงการดังกล่าวเป็นเงินงบประมาณจากรายได้ของ อภ.จำนวนร้อยละ  35 ที่ต้องส่งคืนกระทรวงการคลัง จำนวน 4 ปี ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวต้องผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เช่นกัน แต่ทาง อภ.ชี้แจงว่าเป็นเงินงบประมาณจากสำนักงบประมาณที่ ครม.อนุมัติเป็นงบประมาณผูกพัน 4 ปี ทำให้ต้องทยอยจ่าย จึงต้องแบ่งแยกเป็นหลายสัญญา

"เพื่อความชัดเจน ดีเอสไอจะสอบถามไปยังสำนักงบประมาณ ว่ามีการอนุมัติเงินโครงการดังกล่าวลักษณะใด จำนวนเท่าไหร่ ตรงกับคำชี้แจงของ อภ.หรือไม่ เบื้องต้นถ้าตรวจสอบพบว่าเป็นไปตามขั้นตอนก็ถือว่าเป็นไปตามระเบียบ ไม่มีปัญหา นอกจากนี้ยังได้สอบถามในเรื่องของการเปลี่ยนระบบกระบวนการผลิตจากเชื้อตายมาเป็นเชื้อเป็น ทาง อภ.ระบุว่ากระบวนการผลิตทั้งสองแบบไม่แตกต่างกันมากในเรื่องเครื่องมือ แต่จะต่างกันเรื่องเทคนิค ซึ่งสามารถซื้อมาเพิ่มเติมใช้ร่วมกับเครื่องจักรแบบเชื้อเป็นได้" นายธานินทร์กล่าว

ปัญหาน้ำท่วมทำก่อสร้างช้า

นายธานินทร์กล่าวว่า ส่วนปัญหาการก่อสร้างโรงงานล่าช้า ผอ.อภ.ชี้แจงว่า สาเหตุหลักมาจากปัญหาน้ำท่วม และ ครม.อนุมัติขยายระยะเวลาก่อสร้าง 400 วัน จากนั้นมีการขยายเพิ่มอีก 100 วัน เนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับเทคนิคในการก่อสร้างที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงบางส่วน เช่น การเปลี่ยนเป็นใช้เสาตอกแทนเสาแผ่ตามคำแนะนำของวิศวกร ซึ่งจุดนี้ต้องตรวจสอบหลักฐานทางวิศวกรรมต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเด็นของการแบ่งซื้อแบ่งจ้าง อภ.ชี้แจงอย่างไร นายธานินทร์กล่าวว่า การที่รับอนุมัติเงินโครงการ 1,400 ล้านบาท เป็นงบก่อสร้าง 430 ล้านบาท โดยหลักการต้องจ้างบริษัทเดียว แต่เท่าที่ทราบมีการแบ่งการก่อสร้างเป็น 2 อาคาร ดังนั้น ต้องตรวจสอบว่าเป็นเพราะเหตุผลใด เป็นเรื่องเทคนิคเฉพาะหรือไม่ ความแตกต่างระหว่างการก่อสร้าง 2 โรงงาน แตกต่างกันหรือไม่ ทำไมต้องจ้าง 2 บริษัท แต่ละบริษัทมีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันอย่างไร ต้องดูในรายละเอียดอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้ดีเอสไอได้รับเอกสารมาแล้ว 80% แล้ว เนื่องจาก  อภ.มีเวลาเตรียมข้อมูลเพียงไม่กี่ชั่วโมง

2เม.ย.ตรวจรง.'สระบุรี'

นายธานินทร์กล่าวถึงการจัดซื้อวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอล ว่าไม่ใช่การปลอมปน เป็นเพียงการปนเปื้อนของเศษผม หรือเศษชิ้นส่วนเล็กๆ ระหว่างการผลิต ที่อาจเกิดขึ้นในขั้นตอนการผลิตที่จำเป็นต้องมีการเปิดวัตถุไว้ อย่างไรก็ตาม ทางการจีนที่เป็นผู้ส่งสินค้าระบุว่าหากวัตถุดิบมีการปนเปื้อน ไม่ได้มาตรฐานทางการจีนพร้อมรับสินค้าคืนและคืนเงินให้ทั้งหมดด้วย ส่วนที่ต้องซื้อวัตถุดิบจากประเทศจีนเป็นเพราะมีเพียงจีนและอินเดียที่เป็นแหล่งวัตถุดิบแหล่งใหญ่ ซึ่งจีนได้รับการรับรองมาตรฐานจากประเทศสหรัฐอเมริกา และมีราคาถูกกว่าประเทศอินเดีย

"วันที่ 2 เมษายน ดีเอสไอจะลงพื้นที่ตรวจสอบการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนที่ ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี" นายธานินทร์กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 30 มีนาคม 2556