ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคมในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.)จัดเวทีสาธารณะเรื่อง ร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับใหม่ กับจุดเปลี่ยนสำคัญ : อิสระ..ครอบคลุม..โปร่งใส..? ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

-คปก.ออกจมเปิดผนึก คว่ำร่างฯปชช. เสี่ยงขัดรธน.

นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เปิดเผยว่า คปก.ได้ออกจดหมายเปิดผนึก เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานวุฒิสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร สิทธิการเข้าชื่อโดยคปก.เห็นว่า การเสนอกฎหมายมีผลผูกพันการใช้อำนาจในการตรากฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรการไม่รับหลักการร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชน ไม่เพียงแต่เป็นการปฏิเสธสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองทางการเมืองโดยตรงของประชาชนเท่านั้น ยังเป็นการใช้อำนาจที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังเป็นการกระทำที่อาจไม่ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยอีกด้วยทั้งนี้หากพิจารณาร่างกฎหมายประกันสังคมที่เสนอโดยนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264คน พบว่า มีหลักการและสาระสำคัญเป็นการการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมแก่คนทำงานที่มีการขยายตัวอย่างกว้างขวาง การปรับปรุงและพัฒนาการบริหารกองทุนประกันสังคมให้มีความเป็นอิสระ มีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ มีระบบการตรวจสอบที่เข้มแข็ง และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียอย่างแท้จริง เป็นการสะท้อนความต้องการของประชาชนผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายที่ต้องการปฏิรูปกฎหมายประกันสังคมเพื่อให้สมประโยชน์แก่ประชาชนผู้เข้าสู่ระบบประกันสังคม

นางสุนี กล่าวว่า แม้ว่าร่างกฎหมายประกันสังคมที่เสนอโดยรัฐบาลร่างกฎหมายที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชน จะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่ด้วยกระบวนพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรที่มีขั้นตอนในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญสามารถเปิดโอกาสให้ความเห็นที่แตกต่างกันสามารถถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผลอย่างสร้างสรรค์และโดยสันติบนพื้นฐานของผลประโยชน์ของประชาชน ถือเป็นวิถีประชาธิปไตยที่ยึดถือปฏิบัติกันเสมอมา ด้วยเหตุดังกล่าวการมีมติไม่รับหลักการร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชน จึงเป็นการปิดกั้นโอกาสไม่ให้ผู้แทนประชาชนได้เสนอเหตุผลเพื่อหาข้อสรุปที่ยอมรับกันได้ในการแก้ไขกฎหมายประกันสังคมให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนให้มากที่สุด

 “ดังนั้น คปก.จึงเห็นว่า เมื่อรัฐธรรมนูญได้รับรองให้ผู้แทนประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด ย่อมแสดงให้เห็นว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในกระบวนการและขั้นตอนการพิจารณาร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชนของสภาผู้แทนราษฎรอย่างยิ่งยวด ดังนั้นการพิจารณาลงมติไม่รับหลักการร่างกฎหมายที่เข้าชื่อโดยประชาชนที่ไม่เป็นไปตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 163 อาจทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และอาจทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือต่อสถาบันรัฐสภา” นางสุนี กล่าว

ประกันสังคมแจง ร่างฯรัฐบาลเพิ่มสิทธิผู้ประกันตน

นายโกวิท สัจจวิเศษ ผู้อำนวยการกองนิติการ สำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า จุดแข็งของร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม คือ 1.ขยายความคุ้มครองจากเดิมที่คุ้มครองเฉพาะลูกจ้างส่วนราชการที่ทำงานรายวัน 2.ขยายสิทธิไปยังแรงงานนอกระบบ ที่เป็นลูกจ้างอิสระให้มาอยู่ในมาตรา 40 ตรงนี้รัฐไม่จ่ายเงินสมทบ เราจึงเห็นว่ารัฐควรจ่ายเงินสมทบให้กับลูกจ้างกลุ่มนี้ด้วย นอกจากนี้ประกันสังคมยังขยายความคุ้มครองให้กับลูกจ้างขอรับทุพพลภาพ จากเดิมต้องสูญเสียอวัยวะเกิน 50% ได้มีการแก้ไขกรณีที่สูญเสียหรือทุพพลภาพให้เป็นไปตามประกาศของการแพทย์ นอกจากนี้ยังขยายการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคส่วนกรณีเสียชีวิต ได้แก้ไขให้ผลประโยชน์ตกแก่ทายาทอื่นได้เพราะให้เห็นว่าเงินจำนวนนี้ควรตกแก่ผู้ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังกำหนดกรณีว่างงาน กรณีเกิดภัยพิบัติที่นายจ้างไม่สามารถจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างได้ ตรงนี้ได้แก้ไขให้จ่ายเงินให้กับลูกจ้างในกรณีด้วย

นักวิชาการเสนอทางออก ขอกมธ.1 ใน 3 – หนุนที่มาคณะกรรมการฯร่างฯเรวัต

นายกิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ คณะวิจัย สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษา แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มีทางออกอย่างน้อย 2 ทางคือ 1.อาจจะต้องต่อสู้ในเรื่องของสัดส่วนกรรมาธิการวิสามัญจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ในเมื่อรัฐธรรมนูญได้รับรองให้ผู้แทนประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด ดังนั้นการพิจารณาไม่รับหลักการร่างกฎหมายที่เข้าชื่อโดยประชาชนที่ไม่เป็นไปตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 163 อาจทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ2.ร่วมกันพิจารณาร่างฯของนายเรวัต อารีรอบ ส.ส.ผู้เสนอร่างฯฉบับที่สภารับในหลักการแล้ว ยังมีช่องทางสนับสนุนในประเด็นเรื่องคณะกรรมการฉะนั้นมีโอกาสจะไปแก้ไขตรงจุดนั้นได้ และขอเน้นย้ำว่า สิ่งที่รัฐบาลทำอาจะเป็นปัญหาที่ทิ้งไว้ในอนาคตได้

 “สิ่งที่เราเสนออยู่ภายใต้ฐานวิชาการ โดยเสนอจัดตั้งให้เป็นองค์กรมหาชน หรืออาจจะแก้ไขทั้งฉบับ ซึ่งจากการสำรวจพบว่าในเรื่องความต้องการภายในองค์กรนั้น เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่อยากให้เป็นองค์กรมหาชน เหตุผลความเป็นอิสระจึงยอมรับได้ในทางวิชาการ แต่ที่เห็นคือร่างฯฉบับรัฐบาลกลับไม่ได้แก้ไขในจุดนี้ ไม่ได้แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ หากปล่อยไปอาจจะเกิดปัญหาในภายหลัง กองทุนก็จะมีปัญหาที่จะต้องจ่ายเงินไปในอนาคต สิ่งที่รัฐบาลสนใจกลับไม่ได้เป็นหัวใจ แต่เป็นเรื่องอื่นๆ เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย ทั้งหมดนี้จะย้อนกลับมาที่ประโยชน์ของประเทศและประชาชน”นายกิตติพงศ์ กล่าว

ภาคประชาชนถอนกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ประกาศไม่ร่วมสังฆกรรม

นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ผู้แทนพ.ร.บ.ประกันสังคม(ฉบับที่..)พ.ศ...กล่าวว่า ตนขอปฏิเสธการเป็นกรรมาธิการวิสามัญในครั้งนี้ เนื่องจากมองว่าเป็นเสียงข้างน้อยไม่อาจทำอะไรได้ จึงไม่ร่วมสังคกรรมครั้งนี้ทั้งนี้หากพิจารณาสภาพปัญหาพบว่า สำนักงานประกันสังคมถูกแทกแซงได้ง่ายจากฝ่ายการเมือง ขณะเดียวกันพบว่ารัฐบาลยังค้างจ่ายเงินประกันสังคมจำนวนมาก โอกาสจะเกิดการคอรัปชั่นมีสูง จากสาเหตุที่มีการนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ,การให้อำนาจคณะกรรมการมีอำนาจในการตัดสินใจได้เองขณะที่เจ้าของเงินไม่มีการตัดสินใจเอาเงินไปใช้และยังพบด้วยว่ามีการเบิกจ่ายเงินเพื่อไปดูงานต่างประเทศจำนวนเงินกว่า 30 ล้านบาทในปีที่ผ่านมาดังนั้นถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปลี่ยนองค์กรประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ เพื่อประโยชน์แก่ผู้ประกันตนอย่างแท้จริง

นางสาววิไลวรรณ กล่าวว่า ร่างฯฉบับประชาชนมีข้อเปรียบต่างอยู่หลายประเด็นคือ การให้ความคุ้มครองทุกภาคส่วน สำหรับคณะกรรมการประกันสังคมเน้นกระบวนการในการสรรหาให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง เพื่อให้ได้มืออาชีพในการบริหารจัดการ สิทธิประกันตนก็มีโอกาสจะเพิ่มขึ้น จึงถึงเวลาแล้วที่ประกันสังคมจะเป็นองค์กรอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่ต่างกันมากที่สุด คือ สิ่งที่เรียกร้องไม่ว่าจะเป็นสิทธิประโยชน์ ต้องการให้มีการรักษาพยาบาลให้ครอบคลุมทุกโรค ทุกโรงพยาบาลที่เป็นคู่สัญญาของภาครัฐ กรณีผู้ประกันตนที่มีอายุ 55 ปี ควรได้รับสิทธิการว่างงานได้ด้วย เช่นเดียวกันในกรณีการสูญเสียอวัยวะอย่างใดอย่างหนึ่งก็สามารถได้รับการคุ้มครองด้วย

ปชป.กังขา รัฐบาลจ้องฮุบผลประโยชน์กองทุนฯ

นายนคร มาฉิม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ผู้เสนอร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่..)พ.ศ.... กล่าวว่า รัฐบาลไม่มีความจริงใจต่อประชาชน และรัฐบาลมีผลประโยชน์แอบแฝงในเรื่องการบริหารเงินกองทุน หรือไม่ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้รัฐบาลและเสียงส่วนใหญ่ในสภาไม่รับในหลักการร่างฯครั้งนี้ เพราะไม่ต้องการให้สำนักงานประกันสังคมมีความเป็นอิสระ รัฐบาลต้องการกำกับดูแลให้อยู่ในการควบคุมของรัฐบาลโดยตรง ขณะเดียวกันตั้งคำถามถึงผู้แทนแรงงานด้วยว่ามีความเป็นเอกภาพมากน้อยแค่ไหนที่จะขับเคลื่อนผลักดันเจตนารมณ์ของร่างฯฉบับนี้ เพราะหากขาดความเป็นเอกภาพจะทำให้รัฐบาลใช้เป็นข้ออ้างได้

 “กรรมาธิการที่สภาตั้งไว้มีจำนวน 31 คนในจำนวนดังกล่าวมีส.ส.พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)จำนวน 8 คน หากนางสาววิไลวรรณ ปฏิเสธการเป็นกรรมาธิการในครั้งนี้สภาฯก็ต้องเลือกแทนตำแหน่งที่ว่างลง ส่วนปชป.จะร่วมเป็นกรรมาธิการหรือไม่จะขอนำเรื่องนี้หารือกันภายในพรรคก่อนที่จะมีท่าทีอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา” นายนคร กล่าว

นายแพทย์ประทีป ธนกิจเจริญ กรรมการการแพทย์ คณะกรรมการประกันสังคม กล่าวว่า กฎหมายประกันสังคมมีมิติทางประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานจำนวนมากที่กว่าจะได้กฎหมายฉบับนี้ทำให้ผู้ใช้แรงงานมีความรู้สึกว่ามีความเป็นเจ้าของสูง ดังนั้นการไม่รับหลักการร่างฯประกันสังคมฯครั้งนี้อาจเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่จะหมิ่นเหม่ขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญหรือไม่ ขณะเดียวกันปัญหาของประกันสังคมที่สำคัญที่สุดคือหลักการของระบบประกันสังคมที่ยึดเรื่องของการสร้างความมั่นคงของกองทุนเป็นหลัก ซึ่งแท้ที่จริงระบบประกันสังคมควรจะยึดหลักความมั่นคงของผู้ประกันตนเป็นหลัก ตรงนี้คิดว่าเป็นหัวใจ ควรจะเปลี่ยนจากหลักเดิมยึดเอาผู้ประกันตนเป็นศูนย์กลาง

 “ข้อเสนอในแง่เนื้อหาจะต้องเปลี่ยนแนวคิดระบบประกันสังคมให้เกิดความเท่าเทียมกัน เช่น จะเก็บเงินก็ต้องเก็บเงินให้หมด และต้องเปลี่ยนจุดมุ่งหมายของประกันสังคมที่เน้นผู้ประกันตนเป็นศูนย์กลาง สำนักงานควรจะเป็นองค์กรอิสระ รวมถึงสิทธิประโยชน์ควรขยายครอบคลุมมากขึ้น มีการจัดบริการที่ได้มาตรฐาน ดังนั้นโดยรวมสำหรับกฎหมายใหม่ที่กำลังจะออกมาควรเพิ่มเรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชน ,การคุ้มครองสิทธิ ,การควบคุมให้ได้มาตรฐาน” นายแพทย์ประทีป กล่าว