ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เมื่อวันที่ 2 เมษายน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยว่า หลังจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มี นโยบายปรับการจ่ายค่าตอบแทนแพทย์ ขณะนี้มีแพทย์ในโครงการแพทย์โอ ดอท (ODOD) หรือ 1 แพทย์ 1 ตำบล ซึ่งต้องใช้ทุน 12 ปี มากกว่าเรียนแพทย์ทั่วไปถึง 4 เท่า หรือหากจะออกก่อนต้องใช้ทุนคืนมากกว่าปกติ 5 เท่า คิดเป็นวงเงินราว 2 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีคนลาออก แสดงความประสงค์ขอลาออก 2 คน โดยเป็นแพทย์โรงพยาบาลบ้านฝาง จ.ขอนแก่น

"ได้สอบถามสาเหตุ ได้รับเหตุผลว่า ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน หรือพีฟอร์พี (P4P : Pay for Performance) ซึ่งไม่เป็นธรรมกับหมอ ในชนบท อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 9 เมษายนนี้ แกนนำแพทย์โรงพยาบาลชุมชนจะมีการรวมตัวกันเพื่อหารือถึงแนวทางเคลื่อนไหวเรื่องนี้อีกครั้ง ที่โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต พร้อมทั้งทราบมาว่าแพทย์ที่เคยได้รับรางวัลแพทย์ชนบทดีเด่นของศิริราชพยาบาล จะรวมตัวกันร้องทุกข์หน้าสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งทรงเป็นพระบิดาแห่งการแพทย์ไทยด้วย" นพ.เกรียงศักดิ์กล่าว

ขณะที่เครือข่ายผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) สมเด็จพระยุพราช 20 แห่ง อาทิ รพ.สมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ จ.หนองคาย รพ.สมเด็จพระยุพราชเชียงของ จ.เชียงราย รพ.สมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จ.เลย รพ.สมเด็จพระยุพราชเลิงนกทา จ.ยโสธร รพ.สมเด็จพระยุพราชเวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี รพ.สมเด็จพระยุพราชสายบุรี จ.ปัตตานี รพ.สมเด็จพระยุพราชฉวาง จ.นครศรีธรรมราช ฯลฯ ออกแถลงการณ์ว่า การใช้พีฟอร์พีก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งใน สธ.จึงมีข้อเสนอ 1.ควรชะลอหรือยกเลิกการใช้มาตรการจ่ายค่าตอบแทนพีฟอร์พี 2.ควรทบทวนแนวทางการจ่ายค่าตอบแทนพีฟอร์พี โดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ และมีการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน แล้วประเมินผลอีกครั้ง 3.ควรเร่งดำเนินการลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย และสร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน 4.ควรร่วมมือกันอย่างสันติในการออกแบบระบบการจ่ายค่าตอบแทนที่เหมาะสม

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 3 เมษายน 2556