ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

'ดีเอสไอ'ตรวจ รง.วัคซีน ส่อผิดฮั้วประมูล หลังพบบริษัทเดียวยื่นซองประกวดราคาสร้างอาคารส่วนที่ 1 มูลค่า 321 ล้าน แต่ ผอ.อภ.ไม่ยกเลิกการประมูล สหภาพฯเดินตามมติจี้'ปธ.บอร์ด'แจ้งความเอาผิด 'หมอประดิษฐ'ฐานทำ อภ.เสียหาย

จากกรณีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) แสดงความไม่พอใจกรณี นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และนายกมล บันไดเพชร เลขานุการรัฐมนตรี สธ. ส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ สอบสวนกรณีการผลิตยาพาราเซตามอล ที่พบวัตถุดิบปนเปื้อน และปัญหาการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีน ที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ล่าช้า

เมื่อวันที่ 3 เมษายน นายระวัย ภู่ระกา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ อภ. เปิดเผยว่า ตามมติของสหภาพฯมี 2 เรื่อง คือ 1.แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่กล่าวร้าย อภ.ทำให้เสียชื่อเสียง รวมทั้งจะดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหาย และ 2.ขอให้ นพ.ประดิษฐแสดงความรับผิดชอบขอโทษต่อเหตุการณ์ดังกล่าว เนื่องจากทำให้ อภ.เสียชื่อเสียง ประชาชนอาจเข้าใจผิดเรื่องคุณภาพยาของ อภ. ซึ่งเมื่อรัฐมนตรี สธ.ยอมขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าอาจเข้าใจผิดนั้น เป็นเรื่องที่ดี แต่ตามมติของสหภาพฯยังขาดอีกเรื่อง และต้องดำเนินการต่อ เนื่องจากออกเป็นมติแล้ว คือ การแจ้งความดำเนินคดี โดยขณะนี้อยู่ระหว่างร่างหนังสือถึงประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) ให้เป็นตัวแทนดำเนินการแจ้งความคาดว่าจะส่งเรื่องให้ภายในสัปดาห์นี้

นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานบอร์ด อภ.กล่าวว่า คงต้องดูรายละเอียดของหนังสือดังกล่าวก่อน แต่เบื้องต้นกำลังจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อชี้แจงให้สหภาพฯทุกคนเข้าใจ

วันเดียวกันที่คลังสินค้าบริษัทไปรษณีย์ไทย แจ้งวัฒนะ  นายกมล บันไดเพชร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานบอร์ด อภ. และ นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการ อภ. ลงพื้นที่ตรวจวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอล ซึ่งพบว่ามีปัญหาการปนเปื้อน จนต้องส่งคืนบริษัทและ สธ.ได้ส่งเรื่องดังกล่าวให้ดีเอสไอ ทั้งนี้ ภายในอาคารคลังสินค้าดังกล่าว วัตถุดิบถูกบรรจุอยู่ในถังขนาดใหญ่กว่า 100 ถัง และมีการรักษาอุณหภูมิให้เหมาะสมกับวัตถุดิบ

นายกมลกล่าวว่า การตรวจสอบดังกล่าวเพื่อแสดงให้ประชาชนได้เห็นว่าภายหลังเกิดปัญหาดังกล่าว สธ.ไม่ได้นิ่งนอนใจและมีมาตรการการป้องกันและสอบสวนเพื่อหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างส่งวัตถุดิบทั้งหมดคืนให้แก่บริษัทต้นทาง โดยมีสินค้าส่งคืน 148 ตัน มูลค่า 23 ล้านบาท

นพ.วิทิตกล่าวว่า สำหรับวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอลที่เตรียมส่งคืนบริษัทจากจีนนั้นมีทั้งหมด 148 ตันนั้น จริงๆ ที่พบการปนเปื้อนมีเพียง 10 ตัน ซึ่งพบโดยโรงงานเภสัชกรรมทหาร แต่โดยหลักจะส่งคืนทั้งหมดภายใน 2 สัปดาห์ เนื่องจากเป็นกระบวนการตรวจสอบตามมาตรฐาน (QC) ขอย้ำว่าทั้งหมดยังไม่ได้ผลิตออกจำหน่ายในท้องตลาดจึงไม่ต้องกังวล และล่าสุด ดีเอสไอได้แจ้งว่าจะเข้ามาตรวจสอบวัตถุดิบดังกล่าวในวันที่ 5 เมษายนนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากข่าวดังกล่าวส่งผลให้ยอดขายยาพาราเซตามอลลดลงหรือไม่ นพ.วิทิตกล่าวว่า มีผลเช่นกัน ซึ่งปกติ อภ.จะผลิตยาพาราฯขายปีละประมาณ 500 ล้านเม็ด ขอย้ำว่า อภ.มีมาตรฐานการผลิตทั้งก่อนและหลังผลิต มีระบบตรวจคุณภาพที่ได้มาตรฐาน หากพบการปนเปื้อนเพียงเล็กน้อยจะคัดออกไม่ผลิตทันที

เมื่อถามถึงความคืบหน้าโรงงานผลิตยาต้านไวรัสเอชไอวี จ.ปทุมธานี นพ.วิทิตกล่าวว่า โรงงานดังกล่าวมีความคืบหน้าร้อยละ 99 โดยกำหนดแล้วเสร็จตามสัญญาจ้างในเดือนกันยายน 2555 ทั้งนี้ ล่าช้าเพราะมีการปรับปรุงแก้ไขระบบอากาศให้ได้มาตรฐาน ขณะนี้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาอยู่ระหว่างตรวจสอบและสรุปแนวทางการแก้ไขแบบ เพื่อนำเสนอ บอร์ด อภ. หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่กำหนดคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายนนี้

ขณะที่ นายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ ผอ.ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ดีเอสไอ กล่าวถึงการสอบสวนการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ของ อภ.ว่า ตั้งไว้ 3 ประเด็นที่ต้องเร่งสอบสวนให้ได้ข้อสรุป คือ 1.เหตุผลในการแก้ไขสัญญาของ อภ. โดยเฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนการผลิตวัคซีนคือ 1.เหตุผลในการแก้ไขสัญญาของ อภ. โดยเฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก ชนิดเชื้อเป็น ว่าได้มีการตกลงไว้ในทีโออาร์ตั้งแต่การทำสัญญาหรือไม่ หรือเป็นการแก้ไขสัญญาในภายหลัง อันเป็นเหตุให้ต้องแก้ไขสัญญาและมีการเพิ่มวงเงินหรือไม่ เนื่องจากการปรับแก้ไขสัญญา เพิ่มเติมจากการผลิตเชื้อตายเป็นเชื้อเป็น ซึ่งเกี่ยวข้องกับระยะเวลาในการก่อสร้างที่ต้องยืดออกไปเพราะมีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี 2.การขยายระยะเวลาสัญญาให้กับผู้รับจ้างของ อภ.เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่ และ 3.การประกวดราคาก่อสร้างอาคารส่วนที่ 1 อาคารผลิต อาคารบรรจุ อาคารประกันคุณภาพ และอาคารสัตว์ทดลอง งบประมาณ 321 ล้านบาท จากการตรวจสอบเอกสารพบว่า อภ.มีหนังสือเชิญให้ผู้เข้าร่วมเสนอราคา 57 ราย มีผู้มาซื้อแบบ 10 ราย แต่มายื่นซองเอกสารด้านเทคนิคเพียงรายเดียว คือ บริษัท เอ็ม แอนด์ ดับเบิลยู แซนเดอร์ (ไทย) จำกัด ซึ่งทาง อภ.ได้เจรจากับบริษัทลดราคาให้คงเหลือ 337,050,000 บาท  และต่อมาลดลงคงเหลือ 321 ล้านบาท

นายธานินทร์กล่าวต่อว่า การที่มีเพียงบริษัทเดียวที่เข้าเสนอราคาและที่สำคัญยังมีการต่อรองราคากลาง ทำให้ไม่มีการแข่งขันราคา อาจเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ (ฮั้วประมูล) มาตรา 12 ซึ่งโดยหลักการตามระเบียบพัสดุ หากมีการยื่นประมูลรายเดียวต้องยกเลิกและประกวดราคาใหม่ แต่โดยเอกสารชี้แจงในข้อเท็จจริงเบื้องต้นทาง อภ.ได้เสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมพิจารณาตัดสินใจ และอ้างว่า เกรงว่างบประมาณจะตก ซึ่งข้ออ้างดังกล่าวไม่สามารถยกมากล่าวอ้างได้ ดังนั้น ต้องสอบถามเพิ่มเติ่มในประเด็นดังกล่าวว่ามีเหตุอื่นอีกหรือไม่อย่างไร ส่วนผู้ที่เสนอให้บอร์ด อภ.พิจารณาคือ ผอ.อภ. ซึ่งอาจจะต้องรับผิดชอบให้จัดจ้าง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนของอาคารที่ 2 ใช้วิธีการแบบใด นายธานินทร์กล่าวว่า การประมูลงานก่อสร้างอาคารส่วนที่ 2 ใช้ระบบอีออคชั่นเช่นกัน ราคากลาง 121 ล้านบาท มีบริษัท เอกชนซื้อซอง 17 ราย ยื่นซองเอกสารด้านเทคนิค 6 ราย และยื่นซองราคา 6 ราย ทำให้ผลการประมูลได้ราคา 106 ล้านบาท เทคนิค 6 ราย และยื่นซองราคา 6 ราย ทำให้ผลการประมูลได้ราคา 106 ล้านบาท

นายธานินทร์กล่าวอีกว่า สำหรับการตรวจสอบเรื่องการปนเปื้อนยาพาราเซตามอลใน วันที่ 5 เมษายน เวลา 10.00 น. ดีเอสไอจะลงพื้นที่ตรวจสอบการจัดเก็บว่าเป็นไปตามหลักวิชาการหรือไม่ นอกจากนี้จะทำหนังสือถึง ผอ.โรงงานเภสัชกรรมทหาร เพื่อขอทราบผลการปนเปื้อนว่าเกิดจากเหตุใด และมีจำนวนมากน้อยแค่ไหน หากการปนเปื้อนอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ดีเอสไอจะสั่งยุติการตรวจสอบกรณีพาราฯปนเปื้อน

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 4 เมษายน 2556