ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

“ผมไม่เคยพูดว่าจะปลดผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ผมแค่ต้องการข้อเท็จจริงเท่านั้น” นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ย้ำกับสื่อมวลชนเสมอ หลังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบปัญหาความล่าช้าของการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก ที่ ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี มูลค่า 1.4 พันล้านบาท ขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) รวมทั้งยังให้ดีเอสไอตรวจสอบปัญหาการปนเปื้อนของวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอล ซึ่งทั้งหมดมีเป้าหมาย เปลี่ยนตัว ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เพื่อนำคนของตัวเองเข้าไปบริหารแทน

ยังไม่มีใครรู้ ข้อเท็จจริงเป็นเช่นไร... แต่ดูเหมือนดีเอสไอจะพบข้อสงสัยไม่เว้นแต่ละวัน

กรณีโรงงานผลิตวัคซีนฯ นั้น ได้รับการอนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 เห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ โดยกำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี เป็นเงิน 1,411.70 ล้านบาท ล่าสุดยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากต้องมีการปรับแบบเพิ่มทางด้านเทคโนโลยีจากเชื้อตายเป็นเชื้อเป็น ทำให้ต้องมีการเจรจาต่อรองราคากับผู้รับเหมา  โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งเป็นที่ปรึกษาได้คิดคำนวณตัวเลขแล้วไม่เกิน 45 ล้านบาท แต่บริษัทรับเหมาต่อรอง 59 ล้านบาท การเจรจาจึงยังไม่สิ้นสุด

นอกจากนี้ นพ.วิฑิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการอภ. ยังเคยให้เหตุผลถึงความล่าช้านี้ว่า มาจากฐานราก ของอาคารวัคซีนซึ่งพบว่าบริเวณใต้ดินมีชั้นหินไม่เท่ากัน หากมีน้ำป่าไหลมาจะทำให้เสี่ยงอาคารถล่มได้ ประกอบกับช่วงปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมา ครม.ได้อนุมัติให้เลื่อนการก่อสร้างออกไป

แต่เหตุผลแค่นี้ไม่พอ เพราะดีเอสไอยังมีคำถามอีกมาก อย่างล่าสุดพบการประกวดราคาก่อสร้างอาคารส่วนที่ 1 งบประมาณ 321 ล้านบาท ที่มีผู้ร่วมเสนอราคา 57 ราย มีผู้ซื้อแบบ 10 ราย แต่กลับยื่นซองรายเดียว หรือแม้กระทั่งข้อสงสัยของ นพ.ประดิษฐ กรณีที่ อภ.ให้เหตุผลในการยกระดับการก่อสร้างโรงงานจากระดับความปลอดภัยระดับ 2 เป็นระดับ 2 บวก ว่า เป็นคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ทำให้ต้องมีการปรับแบบ และเป็นเหตุผลหลักของความล่าช้านั้น ก็ได้ส่งหนังสือสอบถามไปยังองค์การอนามัยโลก เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง ขณะเดียวกัน คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) ก็ส่งเรื่องสอบถามไปด้วย ซึ่งหากคำตอบเป็นไปในทิศทางเดียวกับ อภ. เรื่องก็จะง่ายขึ้น แต่หากไม่ใช่ ก็คงเรื่องยาว

อย่างไรก็ตาม หลายคนมองว่าเรื่องนี้ควรถึงขั้น ดีเอสไอหรือไม่ เนื่องจากบอร์ด อภ.ก็ตั้งคณะกรรมการสอบสวนไปเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา มี นพ.สมชัย นิจพานิจ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นประธาน ส่วนประเด็นเรื่องความล่าช้าของโรงงานผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ และกรณีของโรงงาน Mass Production ซึ่งเป็นโรงงานผลิตยาพาราเซตามอล แห่งใหม่ ที่พระราม 6 ก็ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยเช่นกัน โดยมี นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประธาน ซึ่งการตรวจสอบจะใช้เวลา 30 วัน

งานนี้กลายเป็นว่า ตรวจสอบแบบคู่ขนานกับ ดีเอสไอทีเดียว

ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดความเคลือบแคลงใจขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสหภาพองค์การเภสัชกรรม ได้ออกมาแสดงพลังไม่พอใจรัฐมนตรีว่าการ สธ. และเลขานุการรัฐมนตรีว่าการ สธ. ถึงการส่งเรื่องให้ดีเอสไอที่สร้างความเสียหายให้กับองค์กร แม้ผู้บริหาร สธ.จะเอ่ยปากขอโทษ เรื่องก็ไม่จบ กลายเป็นศึกแลกหมัดไม่จบสิ้น

แหล่งข่าวในแวดวงสาธารณสุขให้ข้อมูลว่า ขณะนี้มีการประเมินสถานการณ์ว่า เรื่องนี้ตั้งธงแต่แรกเพื่อเปลี่ยนตัวผู้บริหาร อภ. เริ่มตั้งแต่ตัวประธานบอร์ด อภ. ที่ นพ.วิชัย โชควิวัฒน หมดวาระลงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555 มีการคัดเลือก นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อดีตอธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานบอร์ด อภ. แต่สุดท้ายก็ลาออก ซึ่งคาดว่ามีเหตุผลบางประการที่อาจไม่สามารถสนองนโยบายบางอย่างได้ จึงเปลี่ยนมาเป็น นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี อดีตเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นประธานบอร์ด อภ.ในปัจจุบัน โดยมาสานงานในการตรวจสอบปัญหาการก่อสร้างล่าช้าของโรงงานผลิตวัคซีน แต่ดูเหมือนผลสอบไม่เป็นที่น่าพอใจ ไม่สามารถเอาผิดใครได้ เนื่องด้วยปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องของการบริหาร ทำให้ฝ่ายการเมืองอาจไม่พอใจ และหันไปใช้ดีเอสไอ จนเป็นข่าวคราวใหญ่โต ผลลัพธ์คือ สหภาพไม่พอใจ

ประเด็นสหภาพ โดยข้อเท็จจริง หลายคนมองว่า มีการเมืองภายใน อภ.ผลักดันให้มาเรียกร้องความเป็นธรรมหรือไม่ จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะอย่าลืมว่าสหภาพ อภ. มีความเป็นปึกแผ่นไม่ใช่น้อย และมีความรู้สึกว่า รัฐมนตรีว่าการ สธ. ไม่ควรทำลายภาพลักษณ์ขององค์กร แต่ควรรอให้ผลสอบของบอร์ด อภ.แล้วเสร็จ ประกอบกับกระแสคัดค้านรัฐมนตรีว่าการ สธ.จากภาคส่วนต่างๆ ทั้งหมอชนบท หมอโรงพยาบาลชุมชน ก็กระหน่ำเจ้ากระทรวง งานนี้หมอประดิษฐ แทนที่จะสร้างกระแสความชอบธรรม อาจถูกตีกลับในเรื่องความเหมาะสม และเบื้องหลังของการชงเรื่องให้ ดีเอสไอได้ แหล่งข่าวกล่าว และว่า ส่วนที่กังวลว่า นพ.วิทิต จะหลุดจากตำแหน่งหรือไม่นั้น คาดการณ์กันว่า 50 ต่อ 50 นั่นคือ หากสามารถเคลียร์ตัวเองโดยการเปิดเผยหลักฐานมาสู้ได้อย่างแท้จริง สังคมก็จะกระจ่าง เพราะสุดท้ายเรื่องนี้ไม่ได้ต้องการว่าเป็นการทุจริตหรือไม่ เพียงแค่สร้างกระแสข้อสงสัยการทำงานของ อภ. ซึ่งเชื่อมไปถึงบอร์ด อภ.ในอดีตที่มี นพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธานบอร์ดสมัยนั้น ประจวบกับ นพ.วิทิตก็ผันตัวเองจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) มาเป็นผู้อำนวยการ อภ. ในช่วงที่ นายวิทยา แก้วภราดัย เป็นรัฐมนตรีว่าการ สธ. และได้วางศิลาฤกษ์โรงงานตั้งแต่ปี 2552 เรียกว่ามาในช่วงเดียวกัน

งานนี้ นพ.วิทิต แม้จะไม่มีสายสัมพันธ์ชนิดแน่นแฟ้นกับบอร์ด อภ.ชุดเก่า แต่อาจมีบางอย่างที่ไม่สามารถสนองตอบหรือไม่ ณ ตอนนี้ยังไม่มีใครทราบ แต่เชื่อว่าเร็วๆ นี้ ข้อเท็จจริงที่ดีเอสไอสงสัยจะชัดขึ้น

แค่อย่าถอดใจเป็นพอ!

ผู้เขียน : วารุณี สิทธิรังสรรค์ email : catcat_2927@hotmail.com

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 6 เมษายน 2556