ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ทีดีอาร์ไอแนะแก้กฎหมายประกันสังคม ปรับโครงสร้างอิสระ จี้ลดสัดส่วนงบบริหารกองทุนจากร้อยละ10 เหลือร้อยละ 5 ระบุช่วยบริหารจัดการคล่องตัว ทั้งรองรับจ่ายเงินชดเชยชราภาพที่จะไหลออกมหาศาลในอนาคต ด้านรองเลขาธิการสปส.ยันการใช้จ่ายเงินกองทุน เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงการคลังทุกอย่าง

นายวีระพงษ์ ประภา นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในการเสวนา"ติดตามร่างกฎหมายประกันสังคม" จัดโดยสถาบันทีดีอาร์ไอร่วมกับสถาบันพระปกเกล้าที่มูลนิธิวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กทม.ว่า จากการวิเคราะห์ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมที่เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 1 จำนวน 4 ฉบับได้แก่ ร่างพ.ร.บ.ฉบับรัฐบาล ฉบับภาคประชาชน ฉบับนายเรวัต อารีรอบ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)และฉบับนายนคร มาฉิม ส.ส.ปชป.เห็นว่า ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับรัฐบาลไม่นำไปสู่การปฏิรูปที่จำเป็นเพื่อให้ได้ตัวแทนผู้ประกันตนและนายจ้างที่แท้จริง และเสริมสร้างธรรมาภิบาลระบบประกันสังคม และการที่สภาฯไม่รับร่างพ.ร.บ.ฉบับประชาชนเป็นการเสียโอกาสในการปฏิรูประบบประกันสังคม

ทั้งนี้ การแก้ไขร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมควรสร้างแรงจูงใจให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่ประกันสังคมมาตรา 40 ผู้ประกันตนควรมีสิทธิเลือกตั้งผู้แทนผู้ประกันตนเข้ามาเป็นคณะกรรมการประกันสังคมโดยตรง เนื่องจากปัจจุบันมีตัวแทนผู้ประกันตนมาจากสภาองค์การลูกจ้างซึ่งมีสมาชิกแค่ 3 แสนคน ขณะที่ผู้ประกันตนมีกว่า 10 ล้านคน

นอกจากนี้ ควรแก้ไขมาตรา 24 ของพ.ร.บ.ประกันสังคมที่กำหนดให้คณะกรรมการประกันสังคมใช้เงินกองทุนไม่เกินร้อยละ10 ของเงินสมทบแต่ละปี เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ โดยเห็นควรปรับลดเหลือร้อยละ5 แม้ปัจจุบันสปส.ใช้เงินกองทุนอยู่ที่ร้อยละ3 และตั้งแต่ปี 2551-2554 สปส.มีค่าใช้ในการบริหารจัดการเฉลี่ยปีละกว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูง และควรตั้งคณะกรรมการตรวจสอบซึ่งมาจากผู้แทนนายจ้างและลูกจ้าง ผู้ตรวจสอบบัญชีและผู้ตรวจสอบภายในที่มีความรู้และเป็นอิสระด้วย

ด้าน ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ผอ.วิจัยด้านประกันสังคม ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า สปส.มีปัญหาใหญ่ต้องเร่งแก้ไขคือ โครงสร้างองค์กรที่เป็นระบบราชการ ไม่มีความเป็นอิสระ ขาดความคล่องตัวและคณะกรรมการ สปส.เมื่อบริหารงานผิดพลาดก็ไม่ต้องรับผิดชอบ และใช้เงินกองทุนประกันสังคมอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เช่น การดูงานต่างประเทศไม่รู้ว่าได้เอามาใช้พัฒนาระบบประกันสังคมหรือไม่ การซื้อตึก อาคารต่างๆเพื่อจัดเก็บเอกสารมีความโปร่งใสหรือไม่ จึงควรปรับปรุงสปส.ให้เป็นองค์กรอิสระ บริหารงานคล่องตัวโดยเฉพาะด้านการลงทุน เพื่อความมั่นคงของกองทุนในระยะยาว เนื่องจากการจัดเก็บเงินสมทบในอัตราปัจจุบันไม่สอดคล้องกับการจ่ายเงินบำเหน็จและบำนาญชราภาพ ซึ่งอนาคตต้องจ่ายเงินออกไปจำนวนมาก จะหวังพึ่งรัฐบาลก็ยากเพราะใน 50 ปีข้างหน้า รัฐบาลมีภาระต้องใช้หนี้ถึง 5 ล้านล้านบาท  "เชื่อว่าไม่ว่าผู้ใช้แรงงานจะเสนอร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมที่เน้นปรับสปส.ให้เป็นองค์กรอิสระไปกี่ครั้ง ก็ตกสภาฯเพราะรัฐบาลไม่เอาด้วย ผู้ใช้แรงงานจะต้องค่อยๆใช้เวลาทำความเข้าใจและตกลงกับนักการเมืองและรัฐบาล เวลานี้ที่ทำได้ก็คือ ผู้ใช้แรงงานต้องเจรจากับรมว.แรงงาน ขอเข้าไปมีส่วนร่วมรับฟังการประชุมบอร์ดสปส.ว่านำเงินกองทุนเอาไปใช้ทำอะไรบ้าง และให้มีการเผยแพร่รายงานการประชุมผ่านเว็บไซต์ ซึ่งปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ก็ทำเช่นนี้" ดร.วรวรรณ กล่าว

ขณะที่ น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับประชาชนเน้นปรับโครงสร้างสปส.ให้เป็นหน่วยงานที่มีการบริหารงานที่มีความเป็นอิสระ โปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยผู้ประกันตนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ บริหารงานโดยมืออาชีพและเพิ่มประโยชน์ เนื่องจากสปส.ใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ เช่น โครงการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์กว่า 2,300 ล้านบาท การดูงานต่างประเทศปีละกว่า 30 ล้านบาท งบประชาสัมพันธ์กว่า 170 ล้านบาท ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าการใช้เงินมีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์ต่อผู้ประกันตนหรือไม่ ซึ่งคสรท.จะเดินหน้าล่ารายชื่อพี่น้องผู้ใช้แรงงานเพื่อยื่นถอดถอนนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน และจะรณรงค์ไม่ให้เลือกส.ส.250 คนเข้าไปนั่งในสภาฯในสมัยหน้า

ส่วนนางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) กล่าวว่า การที่ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับประชาชนไม่ผ่านการพิจารณาในวาระที่ 1 ของสภาฯจะมีผลกระทบไปถึงร่างกฎหมายภาคประชาชนฉบับอื่นๆด้วย อย่างไรก็ตาม กรณีร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับประชาชนอาจจะถูกตีความได้ว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะสภาฯปล่อยให้ตกไปและไม่ได้ตั้งตัวแทนภาคประชาชนให้เป็นกรรมาธิการวิสามัญ(กมธ.)พิจารณาร่างกฎหมายในวาระที่ 2 ในสัดส่วน 1 ใน 3 ของกมธ.ทั้งหมด

นายอารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการสปส. กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สปส.นำเงินกองทุนประกันสังคมมาใช้ในการบริหารจัดการอยู่ที่ร้อยละ 2-3 ต่อปี ส่วนใหญ่เป็นงบเงินเดือนของบุคลากรของ สปส.ซึ่งขณะนี้มีถึง 6,000 คน โดยในจำนวนนี้มีข้าราชการเพียง 2,000 คน จึงต้องใช้งบกองทุนจ้างบุคลากรส่วนที่เหลือ อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าการใช้จ่ายเงินกองทุนเป็นไปตามระเบียบของกระทรวงการคลังทุกอย่างและต้องแจ้งบัญชีใช้จ่ายด้วย นอกจากนี้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ก็ยังได้เข้ามาตรวจสอบ

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 6 เมษายน 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง