ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

แหล่งข่าวในกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า รพ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา และรพ.พาน จ.เชียงราย ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 2 ใน 10 แห่ง ที่กระทรวงสาธารณสุขนำร่องไปใช้จ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน หรือ พีฟอร์พี โดย รพ.สูงเนิน ได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการและจ่ายค่าตอบแทนแบบพีฟอร์พี ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2549 ถึงปัจจุบัน ผลการศึกษาพบว่า 1. การจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานเชิงปริมาณ มีการจ่ายค่าตอบแทนในกลุ่มผู้ปฏิบัติงานเชิงปริมาณ มีการจ่ายค่าตอบแทนในกลุ่มผู้ปฏิบัติงานและผู้บริหารที่เกินเกณฑ์ประกันเพิ่มจาก 90.18% ในปีที่ 1 เป็น 96.24% ในปีที่ 5 เมื่อคิดเป็นค่าเฉลี่ยจำแนกตามตำแหน่องพบว่า แต่ละตำแหน่งได้ค่าตอบแทนเฉลี่ย 1 โอทีของแต่ละกลุ่มวิชาชีพต่อเดือน

2. การจ่ายค่าตอบแทนตามผลปฏิบัติงานเชิงคุณภาพ พบว่า มีการกำหนดเกณฑ์จ่ายโดยใช้แนวทางการพัฒนาการรับรองคุณภาพโรงพยาบาลและดำเนินการจ่ายในปีที่ 1-3 3. การประเมินความพึงพอใจของเจ้าหน้าที่โดยใช้การสำรวจบรรยากาศองค์กรในมิติรางวัล พบว่า ค่าเฉลี่ยในภาพรวมเพิ่มขึ้นจาก 2.54 ในปีที่ 1 เป็น 2.74 ในปีที่ 5 จากคะแนนเต็ม 4 คะแนน และ 4. การประเมินผลในภาพรวม พบว่า สอดคล้องกับหลักการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด  ได้แก่ ครอบคลุมทุกวิชาชีพ ครอบคลุมทุกมิติทั้งบริการ วิชาการ และบริหาร รวมทั้งครอบคลุมหน่วยบริกาทุกระดับ

ส่วนข้อสรุปการถอดบทเรียนประสบการณ์การจ่ายค่าตอบแทนตามปริมาณงาน รพ.พาน พบว่า 1. เจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานส่วนใหญ่เห็นด้วยกับนโยบายการจ่ายค่าตอบแทนตามปริมาณงาน เพราะเป็นความพยายามสร้างความเป็นธรรม สามารถแสดงให้เห็นถึงเนื้องานและภาระงานอย่างเป็นรูปธรรม เป็นต้น

2. ผลกระทบด้านบวกของนโยบาย เจ้าหน้าที่มีความกระตือรือร้นในการทำงานเพิ่มขึ้น เกิดขวัญกำลังใจต่อผู้ปฏิบัติงาน เสริมสร้างการทำงานเป็นทีม ผลผลิตของโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้นและพฤติกรรมการให้บริการของผู้ปฏิบัติงานและเจ้าหน้าที่ดีขึ้น เป็นต้น  และ 3. ผลกระทบด้านลบ บางครั้งมีการปฏิเสธการทำงานที่ไม่มีแต้มหรือมีแต้มน้อย บางครั้งไม่ยอมกระจายงานเพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของการทำงาน อาจก่อให้เกิดทัศนคติเชิงลบต่อองค์กรในกลุ่มที่ไม่เข้าใจนโยบาย ไม่มีส่วนร่วม และไม่ได้รับการสื่อสารหรือให้ข้อมูล และส่วนใหญ่มีความรู้สึกไม่เป็นธรรมในการกำหนดค่าคะแนนระหว่างแผนกหรือลักษณะงาน

ทั้งนี้ ยังมีข้อคำถามที่ยังไม่สามารถตอบได้ คือ นโยบายนี้กับความเปลี่ยนแปลงด้านผลลัพธ์ที่ออกมาที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน และการบริการที่ดีขึ้น และนโยบายนี้สามารถสกัดการโยกย้ายของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 8 เมษายน 2556