ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

หมอชนบทผนึกกำลังไล่ "ประดิษฐ" เดินหน้าอารยะขัดขืนทุกพื้นที่ เตรียมบุกเพื่อไทยประท้วงฉีกระเบียบ อัดสร้างระบบสาธารณสุขดูแลคนจนล่มสลาย เพจหมอชนบทร้อน หมอตื่นเรียงหน้าค้านพี ฟอร์พี เผยเอกสารองค์การอนามัยโลกระบุ พีฟอร์พีทำแพทย์ละเลยรักษาผู้ป่วย ด้าน สพศท.เดินหน้าหนุนประดิษฐ

เมื่อวันจันทร์ที่ 8 เมษายน 2556 นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าว ถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่มแพทย์ชนบท ต่อการออกระเบียบการจ่ายเงินค่าตอบแทนแบบร่วมจ่ายระหว่างการเหมาจ่ายและการ จ่ายตามภาระงาน หรือพีฟอร์พี ของกระ ทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่า ยืนยันว่าในช่วง สงกรานต์นี้แพทย์จะไม่หยุดให้บริการประ ชาชน แต่อาจจะมีบางคนหยุดซึ่งตนก็ไม่ทราบ

"ในอังคารนี้จะมาประชุมร่วมกัน เพื่อหารือถึงแนวทางการขับไล่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สธ.ให้พ้นจากตำแหน่ง สิ่ง หนึ่งที่จะทำแน่ๆ คือ การแสดงออกเชิงสัญ ลักษณ์ต่อการคัดค้านด้วยการฉีกระเบียบดังกล่าว พร้อมกับฉีกรูปถ่าย รมว.บนเวที พร้อมกับออกแถลงการณ์ของแพทย์ชนบทในแต่ละภาคอีกครั้งหนึ่ง"

ประธานชมรมแพทย์ชนบทกล่าวต่อ ว่า ในช่วงบ่ายของวันเดียวกันจะเดินทางไป ยังที่ทำการพรรคเพื่อไทย เพื่อชูป้ายโลโก้ "30 บาท ทักษิณสร้าง ประดิษฐทำลาย" ฉีกระเบียบการจ่ายเงิน และชี้ให้เห็นว่า นพ.ประดิษฐ ทำให้เกิดความเสียหายต่อวงการสาธารณสุขจนประชาชนเดือดร้อน

เขาระบุว่า ขอให้พรรคเพื่อไทยไล่ นพ. ประดิษฐออก ไม่เช่นนั้นจะยิ่งทำให้เกิดปัญหาต่อประชาชน เมื่อเสร็จจากพรรคเพื่อไทยแล้วจะเดินทางต่อไปยังโรงพยาบาลศิริราช เพื่ออ่านคำร้องทุกข์ต่อพระบรมรูปสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการสาธารณสุขไทย ว่าตอนนี้ประชาชนชาวชนบทกำลังลำบากนับตั้งแต่ นพ. ประดิษฐเข้ามาเป็น รมว.สธ. ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่เคยมาอยู่ในพื้นที่ ไม่เข้าใจความทุกข์ยากของคนในชนบท และกำลังทำระบบที่ดูแลคนจนให้ล่มสลาย จึงขอให้พระบิดาช่วยปกปักคุ้มครอง และ ให้กำลังใจบุคลากรทางแพทย์ในชนบท ให้มีกำลังในการต่อสู้กับอำนาจต่อไป

"เราจะปลุกอารมณ์ให้กับคนเหล่านี้ ไปแสดงอารยะขัดขืนในพื้นที่ต่อไป  ใครที่ยังไม่ออกเราก็จะให้เริ่มเตรียมทำออกมา จะมีการ ทำแบบท่าบ่อโมเดล คือหมอประดิษฐไปที่ไหน เราก็จะส่งคนไปถือป้ายประท้วงในทุกๆ ที่ เรื่องนี้พูดตรงๆ ว่าลากยาวแน่ๆ" นพ.เกรียง ศักดิ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การออกมาเคลื่อนไหวครั้งใหญ่อย่างนี้ กลัวหรือไม่ว่าจะถูกตรวจสอบวินัย นพ.เกรียงศักดิ์กล่าวว่า ถ้ากลัวก็ไม่ออกมา จะเช็กบิลอะไรเพราะเราทำเรื่องที่ดี เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง ต่อพี่น้องชนบท จะไปกลัวทำไม เพราะความกลัวจะทำให้เสื่อม และการออกมาแต่ละครั้งก็มีข้อมูลหลักฐาน เป็นที่ประจักษ์ว่าทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนอย่างไร และจะเห็นว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรก ที่แพทย์และทันตแพทย์ชนบทชั้นหัวกะทิของประเทศออกมาเคลื่อนไหวกันเยอะ

ขณะที่เฟซบุ๊กหมอชนบท มีความเคลื่อน ไหวการออกมาคัดค้านพีฟอร์พีอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ทพ.ดร.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์บทความ "ข้อเท็จจริงของพีฟอร์พี" ในเฟซบุ๊กชมรมแพทย์ชนบท มีรายละเอียดที่น่าสนใจ โดยช่วงหนึ่งระบุว่า...มีการทดลองใช้ P4P ในไทยแล้ว และไม่สามารถเพิ่มคุณภาพการรักษาได้ จากการทดลองใช้ใน รพ.พาน เชียงราย และ รพ.สูงเนิน นครราชสีมา มาตั้งแต่ปี 2546 และได้ทดลองใช้ในอีกหลายโรงพยายาล พบว่าสร้างแรงจูงใจกับผู้ปฏิบัติงานได้ มีผลิตภาพในการทำงานสูงขึ้น แต่ไม่ได้ประเมินว่าสุขภาพของประชาชนดีขึ้น  หรืองานได้ มีผลิตภาพในการทำงานสูงขึ้น แต่ไม่ได้ประเมินว่าสุขภาพของประชาชนดีขึ้น  หรือคุณภาพในการรักษาดีขึ้นหรือไม่

"วัฒนธรรมในการรักษาพยาบาลเปลี่ยน เป็นทุนนิยม การรักษาพยาบาลในระบบสา ธารณสุขไทยจะเปลี่ยนไป จากวัฒนธรรมอุดม คติทางการแพทย์ ที่ทำการรักษาเพื่อสุขภาพของผู้ป่วย เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุดของผู้ป่วย ไปเป็นการรักษาให้ได้ปริมาณมากเพื่อได้ผลตอบแทนมาก การมองผู้ป่วยเป็นชิ้นงาน มาก กว่าการมองผู้ป่วยเป็น 'คน' จะค่อยๆ เกิดขึ้นและหล่อหลอมผู้ให้บริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาล จนเกิดเป็นวัฒนธรรมใหม่ ซึ่งสิ่งนี้จะมีผลกระทบอย่างมากต่อระบบสาธารณสุขไทยในอนาคต" ทพ.ดร.ธงชัยกล่าว

แพทย์รายนี้ระบุอีกว่า หากนำ  P4P แบบไทยไปใช้ทั่วประเทศ สุขภาพของคนไทยจะไม่ดีขึ้น แม้จะมีปริมาณการรักษาที่มากขึ้น แต่เป็นการรักษาที่เป็นไปเพื่อค่าตอบแทน ไม่ได้คำนึงถึงผลลัพธ์สุดท้ายของสุขภาพ ไม่ส่งเสริมการทำงานป้องกันและสร้างเสริมสุขภาพ ไม่สนับสนุนการทำงานแบบบูรณาการ และการทำงานเป็นทีมสหวิชาชีพ

"ทั้งนี้เราไม่สามารถโทษว่า บุคลากรทาง การแพทย์ไม่มีจริยธรรมในการรักษา แต่ตัวระ บบที่ใช้เป็นตัวบีบบังคับให้บุคลากรทางการแพทย์ค่อยๆ ถูกกลืนไปทีละเล็กละน้อยจนไม่รู้ตัว เหมือนคำกล่าวที่ว่า 'อย่าเรียกร้องให้พืชพันธุ์งอกงามภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เลวร้าย' เนื่องจากเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ปัจเจกชนฝืนกระแสของระบบและสิ่งแวดล้อมทางสังคม" ทพ.ดร.ธงชัยระบุ

เขาระบุต่อว่า รูปแบบนี้จะละเลยการทำให้ผู้ป่วยดีขึ้น เพราะมุ่งทำงานตามตัวชี้วัด เอกสารองค์การอนามัยโลกได้ระบุชัดว่า การใช้  P4P ในการบริหารจัดการการให้บริการสุขภาพนั้น อาจจะเกิดภาวะที่เรียกว่า "ทำอะไรบางอย่างให้ผู้ป่วย" หมายถึงการบริการทางการแพทย์จะเป็นการให้บริการอะไรไปบางอย่าง และสิ่งที่ให้นั้นจะนำมาเพื่อใช้คำนวณการจ่ายค่าตอบแทน   ซึ่งจะทำให้มีการละเลยการรักษาให้ผู้ป่วยดีขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของการทำงานบริการสุขภาพ

ขณะที่ พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.) กล่าวว่า ได้ทำหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณีที่มีการออกมาขับไล่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สธ. โดยอ้างการปรับค่าตอบแทนของบุคลากรสาธารณสุข จากให้แบบเงินกินเปล่ามาเป็นค่าตอบแทนตามภาระงาน (พีฟอร์พี) หรือนโยบายการส่งเสริมเมดิคัลฮับ ทั้งที่ความจริงน่าจะมาจากกรณีการดึงตระกูล ส.มาทำงานร่วมกับ สธ. และกรณีการตรวจสอบในองค์การเภสัชกรรม (อภ.)

"ตอนนี้มีการใช้ยุทธการผีปอบ ขับไล่คนที่ตนเองไม่ชอบออกไปโดดเดี่ยวแล้วรุมประณาม ด้วยข้อกล่าวหาที่ไม่จำเป็นต้องเป็นความจริง อยากช่วย รมว. สธ. และปลัด สธ. แต่ไม่มีโอกาสออกสื่อเลย จึงขอความกรุณานายกฯ ให้ รมว.สธ.อยู่ทำงานเพื่อแก้ไขปัญหา สธ.ให้ลุล่วงต่อไป อย่าได้หวั่นไหวกับเสียงเรียกร้อง" พญ.ประชุมพรกล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 9 เมษายน 2556