ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

รวมตัวค้าน'พีฟอร์พี'แพทย์ดีเด่นศิริราชจับมือ หมอชนบท ใส่ชุดดำบุกพรรคเพื่อไทยจี้ปลด 'หมอประดิษฐ'ร้องทุกข์หน้าอนุสาวรีย์พระบิดาการแพทย์ไทย ชี้ระบบใหม่ทำให้เกิดการล่าแต้ม ไม่ได้ทำด้วยใจของวิชาชีพ

เครือข่ายแพทย์ชนบท และเครือข่ายแพทย์ชนบทดีเด่น ศิริราชพยาบาล นัดเคลื่อนไหวต่อต้าน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่เสนอปรับเปลี่ยนค่าตอบแทนโดยใช้วิธีการจ่ายตามภาระงานหรือ พีฟอร์พี (P4P : Pay For Performance) ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา โดยนัดประชุมที่โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต เขตดอนเมือง กทม. ในวันที่ 9 เมษายน พร้อมเคลื่อนพลไปยังพรรคเพื่อไทย (พท.) เรียกร้องให้ปลด นพ.ประดิษฐ พ้นตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ สธ.

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 เมษายน นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) สิชล จ.นครศรีธรรมราช  และอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท หนึ่งในแพทย์ที่ได้รับรางวัลแพทย์ชนบท ดีเด่น ศิริราชพยาบาล ปี 2544 กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลไม่เห็นความสำคัญของแพทย์ที่เสียสละทำงานในชนบท จึงต้องออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรม โดยวันที่ 9 เมษายน เวลา 09.00 น. ที่โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต กลุ่มแพทย์ชนบท ประกอบด้วย แพทย์ ทันตแพทย์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ประมาณ 200 คน จะประชุมร่วมกันภายใต้หัวข้อ "วิกฤตกำลังคนทางการแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน:ผ่าความจริง" เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าโรงพยาบาลชุมชน ไม่เห็นด้วยกับการจ่ายค่าตอบแทนแบบพีฟอร์พี เพราะจะทำให้เกิดการล่าแต้มของแพทย์ ทำให้แพทย์แข่งขันกันและไม่ทำด้วยใจของวิชาชีพอย่างแท้จริง

"หลังจากการประชุมแล้วเสร็จ แพทย์ชนบทที่มาร่วมประชุมทุกคนจะรวมตัวกันใส่ชุดดำเดินทางไปที่ พท.ในช่วงบ่าย เพื่อเรียกร้องให้ปลด นพ. ประดิษฐ ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี สธ. โดยกลุ่มแพทย์ชนบทจะร่วมกันกล่าวคำปฏิญาณ 9 เมษายน 2556 ประกาศจุดยืนเรียกร้องให้รัฐมนตรี สธ.ลาออก ภายใต้แนวคิดอารยะขัดขืนต้านพีฟอร์พีขับไล่รัฐมนตรี สธ. และเมื่อแสดงจุดยืนที่ พท.เรียบร้อยแล้ว ทางกลุ่มจะเปลี่ยนชุด และเดินทางไปยัง รพ.ศิริราช เพื่อไปถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมกับกลุ่มแพทย์ดีเด่น ศิริราชพยาบาล และแพทย์ที่ได้รับรางวัลกองทุนนายแพทย์กนกศักดิ์ พูลเกษร ซึ่งเป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นในมูลนิธิแพทย์ชนบท รวมทั้งหมดประมาณ 30 คน จากนั้นจะร้องทุกข์บริเวณหน้าอนุสาวรีย์สมเด็จ พระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งทรงเป็นพระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันไทย" นพ.อารักษ์กล่าว และว่า เหตุที่ไปร้องทุกข์ที่ รพ.ศิริราช เพราะเป็นจุดกำเนิดการแพทย์ไทย เป็น รพ.แห่งแรกของประเทศ

นพ.อารักษ์กล่าวว่า การรวมตัวกันครั้งนี้ไม่ขัดต่อระเบียบราชการ ไม่ได้ละทิ้งผู้ป่วย เพราะใช้สิทธิลาราชการอย่างถูกต้อง และมีแพทย์ประจำแต่ละแห่งอยู่แล้ว ไม่ได้มาทั้งหมด ส่วนที่คัดค้านพีฟอร์พี เพราะเล็งเห็นว่าไม่มีความยุติธรรมกับวิชาชีพ เน้นการล่าแต้ม ไม่เน้นคุณภาพอย่างที่ผู้บริหาร สธ.พร่ำบอก โดยมีข้อมูลชัดเจน ยกตัวอย่าง รพ.แห่งหนึ่งในภาคอีสาน มีการทำข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ พบว่าแพทย์ใน รพ.มีทั้งหมด 14 คน รวมเงินเดือนที่ได้รับทั้งสิ้น 424,740 บาท ค่าตอบแทนที่ได้รับเป็นเบี้ยรับทั้งสิ้น 424,740 บาท ค่าตอบแทนที่ได้รับเป็นเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายทั้งหมดอยู่ที่ 390,000 บาท แต่หากมีการปรับเปลี่ยนใหม่ จะพบว่าวงเงินค่าตอบแทนแยกตามกลุ่มจะอยู่ที่ 11,430 บาท หากมีการใช้ พีฟอร์พีจริงจะได้รับเฉลี่ยเพิ่มขึ้นไม่มาก

นพ.อารักษ์กล่าวว่า ค่าตอบแทนตามระบบ พีฟอร์พี สธ.ได้กำหนดตายตัวอยู่แล้ว คือ ให้วงเงินค่าตอบแทนคิดเป็นร้อยละ 1 ของแต่ละวิชาชีพ หากคิดแล้วจะแยกได้ดังนี้  วิชาชีพแพทย์ เกณฑ์การวัดค่าปริมาณอยู่ที่ร้อยละ 90 จะเพิ่มขึ้นเพียง 735 บาทต่อคน ส่วนเกณฑ์คุณภาพจะเพิ่มขึ้นเพียง 82 บาทเท่านั้น ส่วนวิชาชีพพยาบาลเกณฑ์ปริมาณเพิ่มเพียง 184 บาทต่อคน ส่วนเกณฑ์คุณภาพเพิ่มขึ้นเพียง 20 บาทเท่านั้น แบบนี้เรียกว่ายุติธรรมหรือไม่ เรื่องนี้จะต้องมีการเปิดเผยความจริง โดยในการประชุมจะหยิบตัวอย่างนี้ขึ้นมาแสดงด้วย

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า การรวมตัวของกลุ่มแพทย์ชนบทที่ได้รับรางวัลแพทย์ชนบทดีเด่น ศิริราชพยาบาลนั้น ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล ไม่เกี่ยวข้องกับศิริราชพยาบาลแต่อย่างใด ไม่อยากให้เข้าใจว่าความคิดเห็นหรือจุดยืนหรือแถลง การณ์ใดๆ ของแพทย์กลุ่มดังกล่าว เป็นความคิดเห็นของศิริราชพยาบาล

"ขอย้ำว่าการแสดงออกในเรื่องพีฟอร์พี เป็นเรื่องส่วนบุคคล แม้กลุ่มแพทย์ดังกล่าวจะได้รับรางวัลจากศิริราชพยาบาลจริง แต่การแสดงออกทางความคิดไม่ได้เกี่ยวโยงกัน" ศ.คลินิก นพ.อุดมกล่าว และว่า เรื่องพีฟอร์พีนั้น  โดยส่วนตัวมองว่าค่าตอบแทนเป็นสิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนควรได้รับ แต่เมื่อมีการปรับเปลี่ยนวิธีใดก็ตาม ต้องมีเหตุผลอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องคุย ต้องหันหน้าหารือกันทั้งสองฝ่าย จะเห็นทางออกในที่สุด

ผู้สื่อข่าวถามว่า จำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือกับกรณีที่แพทย์กลุ่มดังกล่าวจะเดินทางมายัง รพ.ศิริราชหรือไม่ ศ.คลินิก นพ.อุดมกล่าวว่า คงไม่ต้องรับมือใดๆ เพราะ รพ.เปิดให้ทุกคนเข้า ไม่ได้ห้ามใครเป็นการเฉพาะ เพียงแต่ขอย้ำว่าไม่ว่าจะมีการแสดงออกใดๆ ก็ตาม ทั้งหมดเป็นความคิดเห็นของกลุ่มบุคคล ไม่ใช่ของสถาบัน

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 9 เมษายน 2556