ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

กลายเป็นเรื่องยืดเยื้อไม่จบสิ้นกับแนวทางการจ่ายค่าตอบแทนใหม่ของกระทรวงสาธารณสุข เพราะดูเหมือนกลุ่มแพทย์ชนบท ทั้งแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ และเภสัชกรประจำโรงพยาบาลชุมชน จะไม่ยอมหยุดหากไม่มีการล้มเลิกแนวทางดังกล่าว แม้คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเห็นชอบและมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมาก็ตาม

เห็นได้จากมาตรการ "ดาวกระจาย" ที่ต่อต้านแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการปรับเปลี่ยนการจ่ายค่าตอบแทนใหม่ โดยเน้นการจ่ายตามผลการปฏิบัติงาน หรือ พีฟอร์พี (P4P:Pay for Performance) เนื่องจากกลุ่มแพทย์ชนบทมองว่า ไม่ดีจริง เพราะค่าตอบแทนที่ได้กลับมาในส่วนนี้น้อยมาก แต่ สธ.กลับไม่พูดข้อเท็จจริง ทำให้เกิดการหลงเชื่อและเข้าใจผิด

โดย นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช และอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยเรื่องนี้ โดยชูตัวอย่างของโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งในภาคอีสาน เข้าใจว่าเป็นโรงพยาบาล 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ จ.อุบลราชธานี โดยมีการคำนวณเงินพีฟอร์พีที่ได้จากบุคลากรทั้งหมด 386 คน แบ่งเป็นแพทย์ เภสัชกร ทันตแพทย์ พยาบาลวิชาชีพ นักเทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัด ฯลฯ ซึ่งเมื่อนำมาคำนวณตามระเบียบวงเงิน ร้อยละ 1 จะได้เงินพีฟอร์พีอยู่ที่ 55,639 บาท โดยเงินจำนวนนี้ต้องมาเฉลี่ยแต่ละวิชาชีพในอัตราค่าน้ำหนักที่แตกต่างกัน สุดท้ายได้มากสุดก็ไม่เกินพันบาทต่อเดือน ถามว่าคุ้มหรือไม่

แม้ปลัด สธ.จะออกมายืนยันชัดเจนว่า ไม่ใช่เช่นนั้น เนื่องจากโรงพยาบาลที่ถูกจัดพื้นที่เป็นพื้นที่เฉพาะ หรือทุรกันดาร ยังคงได้ทุกอย่างเหมือนเดิม แต่บวกเพิ่มพีฟอร์พีอีกร้อยละ 1 ซึ่งย่อมได้มากขึ้น ส่วนโรงพยาบาลที่อยู่ในเขตเมือง แม้จะถูกลดเงินเดือน แต่จำนวนที่ลดจะไปอยู่กองกลาง และบวกกับเงินเดือนปัจจุบัน ดังนั้น เมื่อนำมาคำนวณร้อยละ 1 ก็จะได้เพิ่มขึ้นอีก จึงเป็นที่มาของทำงานมากก็ได้รับเงินมากนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการพีฟอร์พีนั้น ข้อเท็จจริงได้มีการดำเนินการในโรงพยาบาลนำร่องต่างๆ ไปตั้งแต่ปี 2549 อาทิ โรงพยาบาลสูงเนิน จ.นครราชสีมา และโรงพยาบาลพาน จ.เชียงราย  โดยผลการดำเนินงานนั้น พบว่า เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานมีความกระตือรือร้นในการทำงานขึ้น  บุคลากรพึงพอใจในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะรูปแบบการจ่ายพีฟอร์พีแบบเพิ่มเติม แม้จำนวนเงินที่ได้รับจะไม่มากนัก และบุคลากรที่ทำงานหนักอยู่แล้วก็มีขวัญกำลังใจมากขึ้น

ในทางกลับกันชมรมแพทย์ชนบท กลับเปิดเผยผลกระทบด้านลบ ว่า จุดอ่อนของพีฟอร์พี คือ สร้างภาระในการเก็บข้อมูลการปฏิบัติงานเพิ่มขึ้น รวมทั้งยังเป็นภาระในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลผลการปฏิบัติงานอีก นอกจากนี้ ผลกระทบในระยะยาว อาจมีผลทำให้บุคลากรเลือกปฏิบัติงานที่มีค่าคะแนนการปฏิบัติงานสูง หรือที่เรียกว่าแย่งกันล่าแต้มนั่นเอง นอกจากนี้ อาจเกิดผลกระทบต่อทัศนคติการปฏิบัติงานของบุคลากร ซึ่งจะคำนึงถึงผลประโยชน์ตอบแทนที่เป็นตัวเงินมากเกินไป

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ย้ำว่า เรื่องนี้ต้องมีผลการศึกษาจากต่างประเทศ หรือจากโรงเรียนแพทย์ เพื่อให้เกิดความชัดเจนขึ้น ซึ่งการที่สภาวิชาชีพต่างๆ ทั้ง แพทยสภา ทันตแพทยสภา หรือสภาการพยาบาล ประกาศเห็นด้วยกับแนวทางของกระทรวง ขอถามกลับว่า ทำไมไม่ไปเรียกร้องให้โรงเรียนแพทย์ ทั้งรามาธิบดี ศิริราชพยาบาล หันมาทดลองทำพีฟอร์พี หากมีผลงานวิจัยของโรงเรียนแพทย์ยืนยัน เชื่อว่าโรงพยาบาลทุกระดับก็จะไม่คัดค้านเรื่องนี้อีก

กลายเป็นเพิ่มโจทย์ให้โรงเรียนแพทย์ในฉับพลัน...

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 11 เมษายน 2556