ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

พลังขับเคลื่อนอันหนักหน่วงและต่อเนื่องของชมรมแพทย์ชนบทไม่เฉพาะ "แต่งดำ" ไว้อาลัยและรวมพลัง "ขับไล่" เท่านั้น แต่ยังรุกขยายไปยังแนวร่วมถึงที่ทำการพรรคเพื่อไทยให้ช่วย "ขับไล่"น.พ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ พ้นจากตำ แหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณ สุขอีกด้วย

สปอตไลน์ฉบับรับวันสงกรานต์จึงฝ่าเปลวแดดโฟกัสไปยัง "หมอประดิษฐ" ต้นคิดการออกระเบียบการจ่าย เงินค่าตอบแทนระหว่างการเหมาจ่ายและการจ่ายตามผลปฏิบัติงาน (Pay for Performance - P4P) หรือพีฟอร์พี โดยนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และมีมติออกมาให้ปฏิบัติได้

ล่าสุดออกประกาศระเบียบวิธีการจ่ายค่าตอบแทนแบบ "พีฟอร์พี" แล้วโดยให้มีผลย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 เป็นต้นไป พร้อมทำหนังสือสั่งการไปยังทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศให้ปฏิบัติตาม โดยมีหนังสือคู่มือให้คำแนะนำในการดำเนินงาน

แรกๆ "หมอชนบท" ก็ออกมาเตือนและตีกันไว้ก่อนว่าอย่าเปลี่ยนระเบียบใหม่เลย เดี๋ยวจะยุ่งอีนุงตุงนัง เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายแบบเดิมนะดีแล้ว แต่ถ้าจ่ายแบบดูผลงานและให้เร่งทำแต้มสะสมนั้นไม่ส่งผลดีต่อ "คนไข้" (ซึ่งไม่ใช่สินค้า) อย่างแน่นอน แต่ "หมอประดิษฐ์" ก็ไม่ยั้งหรือแม้แต่ทบทวน

ในที่สุดก็มีแถลงการณ์คัดค้านและขับไล่จนกลายเป็นไฟลามทุ่งไปทั่วทุกภาคขณะเดียวกันยังมีเครือข่ายแพทย์อีกหลายเครือข่ายที่ออกมาร่วมคัดค้านในลักษณะเดียวกัน อาทิ เภสัชชนบท แพทย์นักเรียนทุน กลุ่มทันต แพทย์ แพทย์ชุมชน ฯลฯ ล่าสุดโพสต์บทความ"ข้อเท็จจริงของพีฟอร์พี" อ้างเอกสารองค์การอนามัยโลกว่า พีฟอร์พีทำแพทย์ละเลยรักษาผู้ป่วย...มีการทด ลองใช้ P4P ในไทยแล้วจากหลายโรงพยาบาล แต่ไม่สามารถเพิ่มคุณภาพการรักษาได้

"วัฒนธรรมในการรักษาพยาบาลเปลี่ยนเป็นทุนนิยม จากอุดมคติทางการแพทย์ ที่ทำการรักษาเพื่อสุขภาพของผู้ป่วย เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุดของผู้ป่วย ไปเป็นการรักษาให้ได้ปริมาณมากเพื่อได้ผลตอบแทนมาก การมองผู้ป่วยเป็นชิ้นงาน มากกว่าการมองผู้ป่วยเป็น "คน"จะค่อยๆ เกิดขึ้น จนเกิดเป็นวัฒนธรรมใหม่ ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างมากต่อระบบสาธารณสุขไทยในอนาคต"

แกนนำเคลื่อนไหวตอกย้ำว่าในเมื่อสุขภาพมันต่างจากบริการและสินค้าปกติ ทำไมใช้วิธีปกติแบบขายมากได้มาก มาใช้กับบริการสาธารณะอย่างนี้ วิธีคิดอย่างนี้เหมือนพนักงานขายสินค้าให้เงินเดือนประจำคุณแล้ว คุณต้องทำยอดขายให้ได้เท่านี้คุณจะได้คอมมิสชันเท่านี้ .ถือว่าเป็นการดูถูกวิชาชีพทางสุขภาพเราอย่างรุนแรง ไม่คิดว่าจะถูกดูถูกขนาดนี้ หมอชนบทลาออก เอกชนก็ไม่รับ คนเป็นรัฐมนตรีดูถูกดูแคลนอย่างมาก.

"ตอนนี้ประชาชนชาวชนบทกำลังลำบากนับตั้งแต่ น.พ.ประดิษฐเข้ามาเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งไม่เคยมาอยู่ในพื้นที่ ไม่เข้าใจความทุกข์ยากของคนในชนบท และกำลังทำระบบที่ดูแลคนจนให้ล่มสลาย เราจะไปแสดงอารยะขัดขืนในพื้นที่ต่อไป คือหมอประดิษฐไปที่ไหน เราก็จะส่งคนไปถือป้ายประท้วงในทุกๆ ที่ เรื่องนี้พูดตรงๆ ว่าลาก ยาวแน่ๆ"แกนนำยืนยันขณะไปประท้วง

"อยากมีหมอที่มีหัวใจเป็นมนุษย์ หรือหมอที่มีหัวใจทุนนิยม เราอยากได้ความภาคภูมิใจจากงานที่ทำ หรืออยากได้เงินจากทุกกิจกรรมที่มีคะแนน ระบบนี้จะแก้ไขการขาดแคลนหรือทำให้ยิ่งขาดแคลนบุคลากรในชนบท ในเมื่อขวัญและกำลังใจเราถูกบั่นทอน วิชาชีพจะกลายเป็นอาชีพ การดูแลผู้ป่วยก็เหมือนการทำยอดขาย ความเป็นธรรมคงห่างไกลออกไปทุกที. "

ไม่รู้ว่าปฏิบัติขับเคลื่อนของ"หมอชนบท" และเครือข่ายแพทย์ต่างๆ จะสามารถสั่นคลอนเก้าอี้รัฐมนตรีสาธารณสุขคนนี้ ได้หรือไม่ และ "พีฟอร์พี" จะจบลงแบบใด?น.พ.ประดิษฐ์ เกิด 19 กรกฎาคม 2502 จบแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ปริญญาโท สาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐฯ เคยรับราชการเป็นนายแพทย์ประจำโรงพยาบาล ธัญญารักษ์ ถึงปี 2531 แล้วลาออกมาประกอบธุรกิจ เป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัทเดคคอร์มาร์ท จำกัด, บริษัทเจแอนด์ดับบลิว ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด และกรรมการบริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน)สถานภาพปัจจุบัน สมรสกับนางรัชนีกร  มีบุตรสาว 1 คนคือ ด.ญ.พรู สินธวณรงค์

ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 14 - 17 เม.ย. 2556