ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 11 เม.ย. 2556 ที่ผ่านมา อดีตกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) หลายท่านนำโดย นพ.วิชัย โชควิวัฒน นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา นพ.ไพจิตร์ วราชิต นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ได้นัดหารือกันที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรณี โรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนกขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) โดยมี นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผอ.อภ. ภก.สมชาย ศรีชัยนาค รอง ผอ.อภ.ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย ทั้งนี้ นพ.วิชัย อดีตประธานบอร์ด อภ.หลายสมัย ได้ให้เกียรติชี้แจงข้อเท็จจริงในประเด็นที่ถูกตั้งคำถามจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)

นพ.วิชัย กล่าวว่า บอร์ด อภ.ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้และพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว เป็นห่วงข่าวที่ออกมาสับสนมาก เราก็เลยมาพูดคุยเพื่อที่จะตรวจสอบว่าข้อมูลจริง ๆ เป็นอย่างไร เพราะบอร์ด อภ.แต่ละคนยังจำได้ แต่หลักฐานต่าง ๆ ไม่ได้อยู่ในมือแล้ว ทุกคนก็ต้องมาอัพเดท เราเป็นห่วงว่าสิ่งที่เราเกี่ยวข้องในขณะนั้น อยากรู้ว่าเป็นอย่างไร และด้วยความเป็นห่วง อภ.เพราะย่ำแย่ ไม่เป็นอันทำงานต้องไปชี้แจงที่โน่นที่นี่ตลอดเวลา แทนที่จะมีเวลาไปพัฒนางาน กลับโดนข่มขู่ โดนปล่อยข่าว เสีย ๆ หาย ๆ เราก็อยากรับฟัง อย่างน้อยก็ให้กำลังใจและให้ข้อคิด ให้แนวคิด เผื่อมีอะไรสนับสนุนได้บ้าง

โดยสรุปพบว่าประเด็นที่เป็นข่าวทั้งหมดไม่มีประเด็นเลย ยกตัวอย่าง เช่น ทำไมต้องจ้างบริษัทออกแบบ 4 บริษัท ก็เพราะขณะนั้นเวลาเร่งรัดมาก ทาง อภ.ได้เชิญบริษัทออกแบบมาแจ้งว่าจะมีการเปิดให้ช่วยออกแบบ แต่ไม่มีบริษัทไหนที่บอกว่าจะออกแบบคนเดียวได้ เพราะเวลาจำกัดมาก ในที่สุดก็ได้ 4 บริษัทที่ออกแบบ และอยู่ในวงเงินเพียง 9 ล้านบาทจากเดิมที่ตั้งไว้กว่า 20 ล้านบาท ตรงนั้นเป็นเรื่องดีเทล ดีไซน์ (การออกแบบรายละเอียด) ที่มีเวลาจำกัดเพราะตอนทำคอนเซ็ปชวล ดีไซน์ (แนวคิดเบื้องต้นในการออกแบบ) และเบสิก ดีไซน์ (การออกแบบเริ่มต้น) ใช้เวลาไปเยอะเนื่องจากเรื่องนี้เทคโนโลยีซับซ้อน ไม่มีใครมีความรู้จริง เราเชิญผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายที่เกี่ยวกับวัคซีนมา มีคนหนึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานกับบริษัทวัคซีนมาตลอดชีวิต 20-30 ปี เขามาออกแบบตรงนี้ก็ใช้เวลา กว่าจะให้ อย.ให้ความเห็นชอบ อย.ก็ต้องเรียนรู้เพราะไม่มีความรู้เรื่องโรงงานวัคซีน เวลาก็ล่วงเลยไปมาก ทำให้เวลาในการออกแบบรายละเอียดเหลือสั้นลง ดังนั้นเรื่องการออกแบบ 4 บริษัทที่เป็นประเด็นข่าว สรุปคือไม่มีอะไร

ต่อมาที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมมีบริษัทเดียวเสนอราคา เรื่องนี้บอร์ด อภ.จำได้หมด เพราะวงเงินอยู่ในอำนาจบอร์ด อภ.เรื่องจึงต้องเข้าบอร์ด อภ. ถึงแม้จะเป็นบริษัทเดียวก็ไม่สมควรยกเลิกเพราะว่าการทำอีอ๊อกชั่นต้องใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ในขณะที่อีกสัญญาหนึ่งได้ผู้รับจ้างแล้ว ถ้ารอไปอีก 3-6 เดือนจะมีปัญหา ทำให้ล่าช้าไป เราไม่รู้ว่าโรคจะระบาดเมื่อไหร่ ก็ต้องรีบดำเนินการ เป็นเหตุผลพอเพียงในการพิจารณา ตอนที่เปิดให้เสนอราคาก็มีหลายบริษัทมาซื้อซอง แต่ในที่สุดมีผู้มายื่นเพียงรายเดียว ทั้งนี้บริษัทตอบมาเป็นลายลักษณ์อักษรตรงกันหมดส่วนใหญ่เป็นปัญหาเชิงเทคนิคซึ่งจะกระทบกับการก่อสร้าง เขาคิดว่าไม่พร้อมที่จะรับสภาพอันนี้ได้ ส่วนบริษัทที่เสนอราคามาก็อยู่ในราคากลาง แต่จำนวนเงินเกินวงเงินที่สำนักงบประมาณจัดสรรให้ประมาณ 16 ล้านบาท บอร์ด อภ.มอบหมายให้ผมกับ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ไปต่อรองจนอยู่ในวงเงิน ถามว่าบริษัทเดียวทำได้หรือไม่ มติ ครม.เขียนชัดเจนว่าทำได้ ไม่มีปัญหา

ปัญหาใหญ่ที่สุด คือ ทำไมล่าช้า มีเหตุผลสำคัญ 4 ข้อ คือ 1. เรื่องฐานราก มีเหตุความจำเป็น เราจะดันทุรังสร้างทั้ง ๆ ที่ปรึกษาคุมงานก่อสร้าง คือ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ บอกว่ามีความเสี่ยงหรือ ดังนั้นจึงมีการปรับฐานรากยกพื้นสูงขึ้น 2. น้ำท่วมมีการขอขยายเวลา 180 วันแต่ก็ให้ไม่ถึง 3. ที่ใช้เวลายาวนานมาก คือ รีวิว ดีไซน์ หรือการทบทวนแบบจำเป็นต้องทำ เพราะความรู้มันเพิ่มขึ้น ทุกวันนี้เหตุการณ์โลกเปลี่ยนเร็วมาก เราติดตามทุกอย่างเพื่อจะให้โรงงานออกมาทันสมัยและดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตอนออกดีเทล ดีไซน์ ไม่สามารถที่จะออกรายละเอียดทุกอย่างได้ เนื่องจากจะต้องไปประกอบกับเครื่องจักร เครื่องมือ อะไรอีกหลายอย่าง เราก็ไม่รู้ เพราะเครื่องจักร เครื่องมือ ประมูลเป็นช่วง ๆ ตามงบประมาณที่ได้มา ไม่มีใครไปควบคุมได้ เป็นสิ่งที่อยู่นอกการคำนวณ 4. บริษัทร่วมทุนของเกาหลีที่เชี่ยวชาญการสร้างโรงงานวัคซีนซึ่งมาร่วมงานกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระนครเหนือถอนตัว ทำให้ตอนหลัง อภ.ต้องหาที่ปรึกษารายใหม่ คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มันก็ใช้เวลา ทั้งหลายทั้งปวงเป็นเหตุผลความจำเป็น เป็นเหตุสุดวิสัยสำหรับประเทศไทยที่ความรู้เรามีแค่นี้

ส่วนประเด็นเรื่องการผลิตวัคซีนเชื้อเป็นหรือเชื้อตาย ตอนที่เราตัดสินใจสร้าง มีการคุยกับคุณทักษิณตั้งแต่ปี 2547 ตอนที่มีการระบาดของไข้หวัดนกไปทั่วโลก ตอนนั้นเราเสนอว่าจำเป็นต้องมีโรงงานวัคซีน ที่ปรึกษาของคุณทักษิณบอกว่าไม่ควรสร้าง ซื้อดีกว่า เราก็ชี้แจงว่า ไม่มีทางจะซื้อได้เพราะกำลังผลิตทั่วโลกตอนนั้นประมาณ 500 ล้านโดส ในขณะที่ความต้องการของประชากรโลกประมาณ 6,000 ล้านคน และอาจต้องฉีดถึง 2 เข็ม ประเทศที่จะได้ใช้วัคซีนคือประเทศผู้ผลิตเท่านั้น ซึ่งคุณทักษิณเห็นด้วย เพราะฉะนั้นวัตถุประสงค์ชัดเจน ถ้าเป็นวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลเรารอซื้อได้ แต่ถ้ามีการระบาดไม่สามารถซื้อจากใคร ดังนั้นโรงงานวัคซีนต้องพร้อมเผชิญปัญหาการระบาดใหญ่

เราไม่รู้ว่าเทคโนโลยีจากรัสเซียใช้ได้จริงหรือไม่ ก็ขอให้องค์การอนามัยโลกเข้าไปดู พบว่าเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ได้ดีทีเดียว ปลอดภัย กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ มีการศึกษาอย่างกว้างขวางมาหลายสิบปี เราถึงสนใจเทคโนโลยีอันนี้เพราะสามารถผลิตได้มากกว่าเชื้อตายประมาณ 30-100 เท่า เวลาระบาดเทคโนโลยีเชื้อเป็นมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

การผลิตวัคซีนเชื้อตายมันก็ต้องเริ่มต้นด้วยเชื้อเป็น พอตอนท้ายจึงทำให้เชื้อมันเชื่องและตาย เพื่อจะได้ไม่มีพิษมีภัย ดังนั้นเรื่องเชื้อเป็นเชื้อตายมันเป็นเรื่องที่มีมาแต่แรกแล้ว วัตถุประสงค์เขียนชัดเจนว่าผลิตวัคซีนเพื่อรองรับการระบาด ก่อนขออนุมัติจาก ครม.ต้องผ่านสภาพัฒน์ ไม่ได้ผ่านเฉพาะบอร์ด อภ. เท่านั้น เรื่องเชื้อเป็นเชื้อตายจึงมีมาแต่แรก

ประเด็นห้องชีวภาพจากระดับ 2 เป็น 2 บวก ตอนเริ่มต้นดีไซน์แรก ๆ เรามีผู้เชี่ยวชาญระดับโลก 3 คน ตอนนั้นเขาก็บอก 2 เราก็ทำ 2 ทีนี้พอมีการระบาดของหวัด 2009 ป่วยวันนี้เป็นไข้ วันพรุ่งนี้ปอดหายไปทั้งปอด มันรุนแรงมาก เพราะฉะนั้นเมื่อเอาเชื้อมาทำวัคซีนเราต้องเตรียมไว้ก่อนเลยว่ามันอาจจะรุนแรงถึงตาย เพราะฉะนั้นคนที่ทำงานโรงงานเราต้องประกันความปลอดภัยให้เขา และคนที่อยู่รอบโรงงานต้องมั่นใจว่ามาตรการความปลอดภัยสูงเพียงพอ เพราะฉะนั้นพอ หวัด 2009 ระบาด องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าลักษณะอย่างนี้ควรจะใช้ 2 บวก เมื่อโรงงานอยู่ระหว่างก่อสร้างสามารถปรับเป็นระดับ 2 บวกได้เราต้องทำ ไม่ทำไม่ได้ ถ้าไม่ทำผิด เพราะฉะนั้นที่ไปโทษว่าเปลี่ยนจากเชื้อตายมาเป็นเชื้อเป็น เปลี่ยนระดับห้องชีวภาพจาก 2 เป็น 2 บวก คงเป็นความไม่เข้าใจถึงเหตุผลความจำเป็น

มั่นใจว่าชี้แจงดีเอสไอได้?

ไม่มีปัญหา เพราะไม่มีเรื่องการทุจริต สมัยผมกล้ายืนยันได้ สมัยก่อนเตรียมทำโรงงานไพลอต แพลนท์ (โรงงานต้นแบบ) วงเงิน 9,000 ล้านบาท แล้วไม่มีเทคโนโลยี สร้างมาแล้วจะเหมือนเสาตอม่อโฮปเวลล์ ต่อมามีความพยายามเปลี่ยนอธิบดีไป 2 คนในที่สุดโครงการนี้ถูกยุบเลิกไป เพราะตอนที่คิดสร้างโรงงานวัคซีนมีผู้บริหารตระเวนไปทั่วโลกเพื่อที่จะไปหาเทคโนโลยี ไม่มีบริษัทไหนขายให้ แต่พอคิดว่าจะทำหลัง 19 ก.ย. 2549 นพ.มงคล ณ สงขลา เป็น รมว.สาธารณสุข มอบให้ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ คิดเรื่องนี้เป็นไพออริตี้แรก เราคิด 2 อย่างคือ 1.จะทำอย่างไรให้ได้เทคโนโลยีมา  2.ทำอย่างไรจะได้โรงงาน แล้วใครรับผิดชอบสร้างโรงงาน เราดูแล้วประเทศไทยทั้งประเทศมีผู้เกี่ยวข้องอยู่ 4 หน่วย คือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สภากาชาดไทย และ อภ. ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์บอกทำไม่ได้เพราะค้าขายไม่เป็น ไบโอเทคก็บอกทำแต่วิจัยไม่ถนัดค้าขาย จึงเหลือ อภ.กับสภากาชาดไทย เราก็เกรงใจสภากาชาดไทย เพราะผลิตวัคซีนหลายตัวและมีศักยภาพ แต่ท้ายที่สุดผู้ใหญ่ของสภากาชาดขอบายไม่เอา จึงเหลือ อภ. ถ้า อภ.ทำวัคซีนไข้หวัดใหญ่ต้องแข่งกับประเทศอื่นทั่วโลก ไม่มีทางสู้เขาได้ ถ้าทำโรงงานมีโอกาสขาดทุนและดึงให้ อภ.ซึ่งมีกำไรมาโดยตลอดขาดทุน ผมเป็นประธานบอร์ด ถ้า อภ.ไม่ทำก็ไม่มีคนทำแล้ว ดังนั้นก็ปรึกษาผู้บริหารในที่สุดก็เดินหน้า เรารู้ว่าทำแล้วมี 2 อย่างคือหนึ่งสำเร็จ สองไม่สำเร็จ ไม่ใช่ว่าทำทุกอย่างจะสำเร็จ เพราะการทำโรงงานวัคซีนไม่ใช่ง่าย ๆ และพื้นฐานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเราอ่อนแอมาก แต่เราต้องพยายาม ได้ให้กำลังใจ ผอ.อภ.อย่างไรบ้าง?

ก็บอกหมอวิทิตว่าเรายืนตัวตรง ไม่ต้องกลัวเงาคด ยืนตัวตรงถ้าเงาคดแสดงว่าพื้นมันคด ไม่ต้องไปกลัว ผมเชื่อในความสุจริตของหมอวิทิต เชื่อในความรู้ ความสามารถ เชื่อในความทุ่มเททุกอย่างของแก คนอย่างนี้หาได้ยากในประเทศไทย เขาประสบความสำเร็จมากในการสร้าง อภ.ขึ้นมาจากยอดขาย 5,000 กว่าล้านเป็น 1.2 หมื่นล้านบาท ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติมากมาย คนอย่างนี้ต้องคารวะ ต้องชื่นชม ไม่ใช่มาเหยียบย่ำ ทำลาย

"การผลิตวัคซีนเชื้อตายมันก็ต้องเริ่มต้นด้วยเชื้อเป็น  พอตอนท้ายจึงทำให้เชื้อมันเชื่องและตาย เพื่อจะได้ไม่มีพิษมีภัย  ดังนั้นเรื่องเชื้อเป็นเชื้อตายมันเป็นเรื่องที่มีมาแต่แรกแล้ว"

--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 14 เม.ย. 2556 (กรอบบ่าย)--