ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

พาณิชย์โชว์แผนเจรจาเอฟทีเอปี 56 ในกรอบใหม่ๆ ให้น้ำหนักอาร์เซ็ป-อียูมากสุดรองจากอาเซียน อ้างป้องผลประโยชน์การค้า-ลงทุนไหลเข้าอาเซียน พร้อมช่วยยกระดับเปิดเสรีระดับสูงครอบคลุมทุกมิติ กรุยทางก่อนร่วมเจรจาทีพีพีกับสหรัฐฯ และเตรียมเจรจาทบทวนปัญหาอุปสรรคในเอฟทีเอที่มีผลบังคับใช้แล้วทั้งญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย

นางพิรมล เจริญเผ่า อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ภายใต้นโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันในปีนี้ทางกรมมีแผนที่จะเปิดเจรจาเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอในกรอบใหม่ๆ อีกหลายกรอบ ประกอบด้วย ความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(RCEP) เอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป(อียู) เอฟทีเอไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป(EFTA) ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(TPP)และเอฟทีเอ ไทย-แคนาดา

"กรมได้จัดลำดับความสำคัญของกรอบเจรจาเขตการค้าเสรีอาเซียน หรืออาฟต้า ที่ 10 ชาติสมาชิกจะรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจหรือเออีซีในปี 2558เป็นลำดับแรก โดยจะต้องเร่งเจรจาและดำเนินการให้ได้ตามแผนงานที่วางไว้ เพราะถือว่าไทยจะต้องได้ประโยชน์จากการเข้าร่วมเออีซีมากทีสุด ส่วนกรอบเจรจาที่ให้ความสำคัญรองลงมาตามลำดับคือ RCEP ที่ประกอบด้วย 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนกับ 6 ประเทศคู่เจรจา(จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์) เอฟทีเอ ไทย-อียู ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)และรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบร่างกรอบการเจรจาเอฟทีเอแล้ว ล่าสุดจะเริ่มเจรจารอบแรกได้ในปลายเดือนพฤษภาคมนี้"

ทั้งนี้การทำเอฟทีเอไทย-อียูจะช่วยดึงดูดและป้องกันการย้ายฐานการลงทุนของอียูได้ เห็นได้จากตัวเลขการลงทุนของกลุ่มอียูที่เข้ามาลงทุนในอาเซียนซึ่งรวมทั้งไทยในปี 2554 มีมูลค่าสูงถึง 3.03 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ไทยส่งออกสินค้าไปอียูเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน การทำเอฟทีเอกับอียูจะทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตและแหล่งรองรับการลงทุนของอียู และช่วยส่งเสริมให้ไทยได้ประโยชน์จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมากขึ้น อีกทั้งยังจะช่วยแก้ปัญหาการถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรหรือจีเอสพีของสินค้าไทยในปี 2558 ให้กลับมาอยู่ในสถานะที่สามารถแข่งขันได้มากขึ้น แต่หากไทยไม่สามารถเจรจาความตกลงเอฟทีเอไทย-อียูได้ จากการศึกษาพบว่าสินค้าไทยที่ส่งไปอียูอาจถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดจากประเทศคู่แข่งถึง95% หรือจะมีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 8.48 หมื่นล้านบาทได้

นอกจากนี้ยังจะช่วยให้ไทยมีมาตรฐานในการเปิดเสรีสูงขึ้น เพราะจะมีกรอบที่กว้างและครอบคลุมประเด็นเศรษฐกิจและสังคมในหลายมิติ ส่วนผลกระทบจากการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจหลังจากที่การเจรจาเอฟทีเอกับอียูประสบความสำเร็จนั้นคาดว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยจากการผลิตที่มีคุณภาพต่ำไปสู่กระบวนการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูง ส่วนอุตสาหกรรมที่คาดว่าน่าจะได้รับผลกระทบ เช่น อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ยางพารา พลาสติก ผักและผลไม้

"แต่ทั้งนี้หากรัฐบาลมีกระบวนการเยียวยาผลกระทบและส่งเสริมให้อุตสาหกรรมไทยสามารถยกระดับคุณภาพการผลิตก็น่าจะทำให้การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจก่อให้เกิดผลประโยชน์ในภาพรวมได้"

ส่วนร่างกรอบเจรจาเอฟทีเอที่ยังค้างคาอยู่กรมจะเร่งเดินหน้าต่อ เช่น เอฟทีเอไทย-EFTA ที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จได้ภายในปีนี้ รวมทั้งจะมีการเจรจาทบทวนความตกลงเอฟทีเอที่ไทยทำไว้กับประเทศต่างๆเช่น เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น เอฟทีเอไทย-ออสเตรเลีย และเอฟทีเอ อาเซียน-จีน เป็นต้น

"การเจรจาTPP นั้นไทยต้องศึกษาผลกระทบอย่างรอบคอบ เพราะเป็นเอฟทีเอกรอบใหญ่ที่มีความเข้มงวดมากที่สุด หรือเรียกได้ว่าเป็นการเจรจาเอฟทีเอระดับสูง สำหรับข้อดีของการเจรจาTPP คือเป็นการยกระดับมาตรฐานในทุกๆด้านของการค้าให้อยู่ในระดับสากล หากไทยช้าอาจจะเสียโอกาสทางการค้าและการลงทุนได้"

สำหรับการเจรจาเอฟทีเอกับประเทศคู่ค้าถือว่าเป็นนโยบายต้นน้ำ ส่วนกลางน้ำ คือการเป็นผู้ช่วยในการเร่งแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศด้านมาตรฐานที่ไม่ใช่ภาษี (NTMs)ที่ประเทศคู่ค้านิยมนำมาตรการดังกล่าวมาใช้กับสินค้าและบริการของไทย ขณะที่ปลายน้ำ คือการเผยแพร่การใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรี โดยปัจจุบันกรมมีศูนย์บริการข้อมูลประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC Information Center)และสำนักงานพาณิชย์76จังหวัดเพื่อให้ข้อมูลข่าวสารความคืบหน้าเกี่ยวกับเออีซี เป็นต้น

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ 14 - 17 เมษายน พ.ศ. 2556