ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

กระแสข่าวการคัดค้านการจ่ายเงินตามภาระงานของกระทรวงสาธารณสุขจากแพทย์ ทันตแพทย์ และสหวิชาชีพในโรงพยาบาลชุมชนนั้นอาจไม่ง่ายที่จะทำความเข้าใจว่า ทำไมกระทรวงจ่ายเงินตามภาระงาน ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย ซึ่งฟังดูก็เป็นหลักการที่ดี แต่ไฉนพวกหมอจึงมีการคัดค้านอย่างกว้างขวางเช่นนี้

การจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงานหรือ P4P โดยแนวคิดเป็นมาตรการการจัดการที่จูงใจให้คนเร่งทำงาน ขยันขึ้น เร่งความเร็วมากขึ้น โดยใช้เงินหรือรายได้เพิ่มเป็นตัวกระตุ้น มาตรการนี้ใช้ได้ดีกับโรงงานที่เน้นการใช้แรงงานเช่นโรงงานปลากระป๋อง ยิ่งขอดเกล็ดสับหัวปลาได้มากเท่าไหร่ก็ได้เบี้ยขยันมากขึ้นเท่านั้น แต่เมื่อนำมาใช้กับงานทางการแพทย์ การคัดค้านจึงดังขึ้นจากทุกสารทิศ

ความวุ่นวายมาสู่กระทรวงสาธารณสุขเกิดจากการที่รัฐมนตรีประดิษฐสินธวณรงค์ แพทย์ที่จบมาแทบไม่เคยได้ทำหน้าที่แพทย์ แต่ผันตนเองเป็นนักธุรกิจ ได้สนใจและผลักดันแนวคิด P4P มาใช้กับกระทรวงสาธารณสุขในทุกระดับ เป็นการแจกเสื้อโหล P4P ที่คุณภาพต่ำ แต่บังคับให้ใส่แทนเสื้อตัวเก่า "เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย" โดยกำหนดกติกาให้เก็บแต้มแบบนับครั้งการให้บริการ ทำให้ทุกคนต้องกลายเป็นหมอล่าแต้ม งานด้านการแพทย์หรือวิชาชีพสุขภาพเป็นเหมือนงานศิลป์ ไม่มีคนไข้คนใดที่เหมือนกันทุกประการปั๊มการรักษากันไม่ได้ จึงเกิดการประท้วงอารยะขัดขืนอย่างกว้างขวาง

เหตุผลสำคัญที่หมอชนบทค้านตรงๆก็เพราะ P4P แบบหมอประดิษฐนั้น เป็น P4P แบบนับครั้งที่ให้บริการ แพทย์คนหนึ่งคุยกับคนไข้นานเพื่อหวังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไข้ เมื่อนับแต้มจะได้คะแนนเท่ากับการตรวจแบบปกติซึ่งค่อนข้างเร็ว ทันตแพทย์ทำงานละเอียดอุดฟันอย่างประณีตเพื่อให้ติดแน่นกระจายน้ำหนักจากการกัดได้ดีแต่ก็ได้แต้มเท่ากับหมอที่อุดฟันอย่างรวดเร็ว หรือการเยี่ยมบ้านซึ่งมีทั้งที่ใช้เวลามากหรือเยี่ยมแบบฉาบฉวยจนยากที่จะคิดแต้มอย่างเป็นธรรม งานของแพทย์และวิชาชีพสุขภาพเป็นงานคุณภาพ การดูแลผู้ป่วยเป็นงานที่ละเอียดอ่อนมีรายละเอียดมากมาย การใช้การนับแต้มมากำกับจึงผิดฝาผิดตัว ต่อไปหากวัฒนธรรมทำแต้มฝังแน่นเข้าไปในวิชาชีพ แพทย์อาจตรวจเร็วขึ้นแต่คุณภาพลดลง ประชาชนจะมีสุขภาพดีจากการล่าแต้มของหมอได้อย่างไรแม้โดยหลักการ P4P เป็นมาตรการเชิงบวก มาตรการจูงใจให้ขยัน แต่ด้วยวิธีวัดแบบนับแต้มตามครั้งการให้บริการจะกลายเป็นมาตรการทำลายน้ำใจและทำลายสามัคคีธรรมการทำงานเป็นทีมแห่งวิชาชีพ ที่นอกจากไม่บรรลุเป้าประสงค์แล้วยังส่งผลลบอย่างมหันต์ แย่งกันทำแต้มไม่เท่ากับการแย่งกันดูแลประชาชน

ถ้าต้องการจัดการกับแพทย์ที่อู้งาน ไม่ขยัน เอาเปรียบราชการ มาสายกลับก่อน เน้นทำคลินิก ซึ่งมีอยู่จริง ก็ควรเอามาตรการอื่นมาจัดการ ไม่ควรต้องทำให้แพทย์และทุกวิชาชีพในโรงพยาบาลที่ทำงานดีใส่ใจในการดูแลผู้ป่วยต้องมาเดือดร้อนด้วยการเก็บแต้มเช่นนี้

เหรียญมีสองด้านเสมอ P4P เป็นระบบแม้จะมีข้อดีบ้าง ซึ่งอาจเหมาะกับบริบทโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีคนทำงานมาก แต่สำหรับโรงพยาบาลชุมชนจะส่งผลเสียมหาศาล และที่สำคัญคือส่งผลลบในระดับวัฒนธรรมการทำงาน  ทำลายวัฒนธรรมการทำงานร่วมกัน ความเป็นพี่เป็นน้อง ความเป็นทีม ทำงานยุ่งทั้งวันกับปริมาณคนไข้ที่มากยังต้องมาจดแต้ม เดิมทำงานโดยไม่ได้สนใจว่างานชิ้นไหนแต้มมากแต้มน้อยก็อาจต้องสนใจ

เชื่อได้ว่าเมื่อเวลา ผ่านไปสักสามสี่ปี การทำงานในชนบทที่ต้องมีอุดมการณ์และจิตวิญญาณของวิชาชีพเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจะถดถอยวัฒนธรรมการเก็บแต้มล่าคะแนนเพื่อแลกเงินจะมาแทนที่ เมื่อถึงเวลานั้นก็สายเกินไปเสียแล้วที่จะยกเลิกนโยบายนี้

เมื่อรัฐมนตรีไม่สนใจรับฟังเสียงสะท้อนจากแพทย์ ทันตแพทย์ในชนบท ที่อารยะขัดขืนไม่เอา P4P กันจะทั่วประเทศอยู่แล้ว ความอัดอั้นนั้นจึงระบายออกมาเป็นการไล่รัฐมนตรีประดิษฐในปัจจุบัน

ผู้เขียน : นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา

ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 16 เมษายน 2556