ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ดีเอสไอมุ่งสอบปมทุจริตองค์การเภสัชฯ จัดซื้อวัตถุดิบผลิตยาพาราฯ เอื้อบริษัทเดียว เหตุไม่มีไลน์การผลิต แต่นำเข้ากว่า 148 ตัน เผยเตรียมเรียกสอบเพิ่ม 17-19 เม.ย.

นายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ ผอ.ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทุจริต กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยถึงกรณีการตรวจสอบยาพาราฯ 148 ตัน ขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ตามที่เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยื่นเรื่องให้กับดีเอสไอตรวจสอบ ว่าในประเด็นเรื่องการปนเปื้อนนั้นดีเอสไอคงไม่เข้าไปตรวจสอบ เพราะมีสำนักงานอาหารและยา (อย.) เป็นผู้ดูแลอยู่แล้ว อย.ควรลงไปตรวจสอบวัตถุดิบ ตรวจสอบโรงงานผลิตที่เภสัชกรรมทหารว่าเครื่องมือได้มาตรฐานหรือไม่ เจ้าหน้าแต่งกายหรือปฏิบัติตัวถูกหลักอนามัยหรือไม่ ตรงนี้ไม่ใช่อำนาจของดีเอสไอ

ดังนั้นดีเอสไอจะตรวจสอบในเรื่องการนำเข้าวัตถุดิบถูกต้องตามระเบียบขั้นตอนหรือไม่ หรือว่าเป็นการทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง เข้าหลักเกณฑ์ พ.ร.บ.การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือการฮั้วได้ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ทั้งนี้ จากเอกสารการจัดซื้อจัดจ้างที่ อภ.ส่งให้จำนวนหนึ่งระบุว่า มีการซื้อล็อตแรกจำนวน 48 ตัน ล็อตที่ 2 จำนวน 100 ตัน และจากการตรวจสอบพบว่าซื้อมาจากบริษัทเดียวกันผ่านช่องทางพิเศษ ส่งวัตถุดิบกันในระยะสั้นเพียงไม่กี่วัน เหมือนมีการเตรียมยาไว้ในประเทศอยู่แล้ว จึงเกิดคำถามว่าจะระบายสต็อกหรือไม่ เพราะหากเป็นของใหม่ที่ต้องสั่งจากประเทศจีนโดยตรงเพื่อนำเข้าอาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือน

"อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องตั้งคำถามคือ ซื้อมาทำไม และทาง อภ.ก็ต้องตอบผมให้ได้ด้วย เพราะว่า 48 ตันแรกซื้อมาสำรองในขณะที่คุณมีแผนหรือไม่ โรงงานก็ยังไม่เสร็จ คุณยืนยันว่าผลิตได้จริง แต่ตอนนี้เครื่องปั๊มตัวนั้นใช้ผลิตยารักษาโรคหัวใจอยู่ ในชื่อของ อภ. และเรายังทราบว่าปัจจุบัน อภ.ไม่ได้ผลิตยาพาราฯ เอง แต่ไปจ้างบริษัทเอกชนที่นั่นที่นี่เป็นผู้ผลิตบ้าง ดังนั้น 48 ตันเอามาทำไม นอกจากนี้ ในช่วงน้ำท่วม อภ.ได้อ้างว่าซื้อวัตถุดิบจากบริษัทเดิมอีกจำนวน 100 ตัน ทั้งๆ ที่ล็อตแรก 48 ตันยังไม่ได้ใช้ คำถามคือเอื้อประโยชน์ให้บริษัทนี้ใช่หรือไม่ เพราะฉะนั้น อภ.ต้องแจ้งเหตุผลให้ชัด" นายธานินทร์กล่าว และว่า นอกจากนี้จะดูอายุของวัตถุดิบที่นำเข้าด้วยว่าผลิตเมื่อไหร่ หมดอายุเมื่อไหร่ แล้วโรงงานจะเสร็จเมื่อไหร่ มีไลน์การผลิตหรือไม่ ถ้าไม่มีเลยคือนำเข้ามาทำไม

ผอ.ศูนย์ป้องกันฯ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ทาง อภ.ให้เหตุผลว่าการนำเข้าวัตถุดิบจำนวนดังกล่าวเข้ามาเพื่อเป็นการสำรองในกรณีที่เกิดปัญหา เช่น น้ำท่วม แต่เป็นเหตุผลที่ขัดแย้งกับโรงงานผลิตที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ แม้จะบอกว่าหากเกิดปัญหาจริงๆ สามารถใช้เครื่องจักรที่ผลิตยารักษาโรคหัวใจได้ ก็ถือเป็นคำตอบที่ไม่เอื้อกันเลย

นายธานินทร์กล่าวต่ออีกว่า ทั้งนี้ ในวันที่ 17-19 เม.ย. จะมีการเรียกเจ้าหน้าที่จัดซื้อจัดจ้าง คณะกรรมการตรวจรับยาที่เกี่ยวข้องประ มาณ 4-5 คนมาให้ข้อมูลเพื่อเพิ่มเติม พร้อมกับขอเอกสารที่เกี่ยวกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เอกสารด้านงบประมาณที่นำมาใช้เป็นงบของ อภ.เอง หรือว่างบปกติ สัญญาการซื้อขาย การส่งของ เอกสารคำสั่งซื้อ

"เพราะฉะนั้นใครจะผิดใครจะถูกดูได้จากกระบวนการในเอกสาร รวมถึงอาจจะต้องขอเอกสารจากภายนอกมาสนับสนุนด้วย หลังจากนั้นในวันที่ 22 เม.ย. ด้วย จะไปตรวจสอบโกดังเก็บวัตถุดิบจำนวน 100 ตันด้วย อย่างไรก็ตาม การสอบสวนอาจจะพบเพียงการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเท่านั้น ไม่ใช่การฮั้วก็ได้" นายธานินทร์กล่าว

ต่อข้อถามว่าความผิดจะถึงบอร์ด อภ.หรือไม่ นายธานินทร์กล่าวว่า ต้องดูเอกสารก่อน แต่เท่าที่ตรวจสอบพบว่าความผิดไม่ถึงบอร์ด เพราะบอร์ดจะพิจารณาอนุมัติในกรณีที่วงเงินถึง 100 ล้านบาทเท่านั้น ดังนั้นกรณีนี้ความผิดน่าจะถึงแค่ระดับผู้อำนวยการ และในหนังสือสั่งการก็มีชื่อผู้อนุมัติอยู่แล้ว

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 17 เมษายน 2556