ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

“ดาบอาญาสิทธิ์...ฟันเหล้า-บุหรี่” สกู๊ปหน้า 1 ไทยรัฐฉบับวันที่ 30 มีนาคม 2555...บทสัมภาษณ์นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ เกี่ยวกับกรณีกระทรวงสาธารณสุข จะออกประกาศเพิ่มขนาดภาพคำเตือนซองบุหรี่จาก 55% เป็น 85%

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ชี้แจงประเด็นที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้ 1. มาตรการควบคุมยาสูบ เช่น การขึ้นภาษี...มาตรการควบคุมที่มีนัยสำคัญทำให้บุหรี่นอกที่หนีภาษีและบุหรี่ยาเส้น มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น

ศ.นพ.ประกิต บอกว่า การขึ้นภาษี และมาตรการควบคุม เช่น มาตรการภาพคำเตือนบนซองบุหรี่จะทำให้คนสูบบุหรี่ลดลง แต่การที่บุหรี่นอกหนีภาษีเพิ่มขึ้น และมีคนสูบยาเส้นเพิ่มขึ้น การแก้ปัญหาต้องทำโดยรัฐบาล หมายถึงว่า...ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและปราบปรามบุหรี่หนีภาษี

 “การขึ้นภาษีบุหรี่ยาเส้น เนื่องจากขณะนี้ยาเส้นเสียภาษีในอัตราที่ต่ำมาก ซึ่งตามหลักการควบคุมยาสูบ ต้องจัดโครงสร้างภาษียาสูบ ให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทต่างๆ มีภาระภาษีที่ใกล้เคียงกัน”

ซึ่งหากมีการดำเนินการข้างต้น รัฐบาลก็จะได้รับประโยชน์จากรายได้ภาษีที่จะเก็บได้เพิ่มขึ้นมากมาย ในขณะที่คนสูบบุหรี่จะสูบน้อยลง และรัฐบาลจะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคคนที่ป่วยจากการสูบบุหรี่

2. การเพิ่มขนาดคำเตือนบนซองบุหรี่ได้ผลจริงหรือ คำถามนี้คุณต่อศักดิ์ได้ตอบเองแล้วว่า... “การเพิ่มขนาดภาพคำเตือน ทำให้บุหรี่นอกหนีภาษีขายดี เพราะมีโลโก้ มีแบรนด์ชัดเจน โก้เก๋ สำหรับพกพา”

การขยายภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ วัตถุประสงค์ก็เพื่อลดความดึงดูดของโลโก้ ความโก้เก๋ของแบรนด์ คนก็จะสูบบุหรี่น้อยลง โดยเฉพาะเยาวชนจะถูกดึงเข้ามาเป็นนักสูบหน้าใหม่น้อยลง

 “การแก้ปัญหาไม่ใช่ปล่อยให้ภาพคำเตือนเล็ก บุหรี่ยังมีโลโก้ที่เด่น มีแบรนด์ชัดเจน ดูโก้เก๋ ทำให้เยาวชนถูกดึงดูดให้เข้ามาเสพติดบุหรี่อยู่ตลอดเวลา แต่ต้องลดความดึงดูดด้วยภาพคำเตือนที่ใหญ่เท่าที่จะทำได้”

ส่วนการแก้ปัญหาบุหรี่เถื่อน หนีภาษี ต้องแก้ด้วยมาตรการควบคุม... ปราบปรามผู้กระทำผิดตามแนวปฏิบัติภายใต้พิธีสารการควบคุมบุหรี่ผิดกฎหมายของอนุสัญญาควบคุมยาสูบ ที่มีประสิทธิภาพชัดเจนอยู่แล้ว

3. การเพิ่มขนาดภาพคำเตือนเป็นการเพิ่มต้นทุนมีผลต่อราคาบุหรี่ในอนาคต

ศ.นพ.ประกิต อธิบายว่า สินค้าบุหรี่เป็นสินค้าที่มีต้นทุนต่ำมากๆ ราคาที่แจ้งเพื่อคำนวณภาษี ไม่ว่าจะเป็นราคาหน้าโรงงานยาสูบ หรือราคาซีไอเอฟนำเข้า ซองละ 2 ถึงสูงสูด 7 บาทเท่านั้น

 “หากการเพิ่มขนาดภาพคำเตือนจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นบ้าง ก็น้อยมากๆ”

ความจริงก็คือโรงงานยาสูบมีกำไรปีละกว่า 5 พันล้านบาท และบริษัทบุหรี่ต่างประเทศมีกำไรมากกว่านี้ด้วยซ้ำไป บริษัทบุหรี่ต้องการให้บุหรี่ราคาถูกๆไว้ เพื่อคนจะได้สูบบุหรี่มากๆ หวังเพียงขายสินค้าให้ได้มากๆ เพื่อมีกำไรมากๆ เท่านั้น ไม่ได้คำนึงถึงผู้บริโภคและสังคมโดยรวมแม้แต่น้อย

4. มาตรการโหมรณรงค์ลดละเลิกที่วาดหวังว่าจะได้ผล อาจจะทำไปเสียเปล่า

ข้อนี้...มาตรการต่างๆ ที่ดำเนินการโดยกระทรวงสาธารณสุขล้วนเป็นมาตรการที่นานาประเทศดำเนินการตามข้อแนะนำของอนุสัญญาควบคุมยาสูบ ปัจจุบันมี 176 ประเทศสมาชิก...พิสูจน์แล้วว่าได้ผล ประเทศสมาชิกต่างๆ จึงพยายามที่จะผลักดันมาตรการต่างๆ ตามแต่จังหวะ...ความเป็นไปได้ทางการเมือง

และที่ยังไม่สามารถผลักดันมาตรการหลายๆมาตรการได้ ก็เพราะบริษัทบุหรี่วิ่งเต้นขัดขวาง

 “อย่างเช่นที่คุณต่อศักดิ์ระบุว่า การเพิ่มขนาดภาพคำเตือนทำให้ผู้สูบบุหรี่หันไปสูบบุหรี่หนีภาษี ที่มีโลโก้และแบรนด์ ประเทศออสเตรเลียออกกฎหมายห้ามบริษัทบุหรี่พิมพ์โลโก้หรือสัญลักษณ์บนซองบุหรี่ ที่เรียกว่าซองบุหรี่แบบเรียบ พอกระทรวงสาธารณสุขไทยเตรียมยกร่างกฎหมายแบบเดียวกับของออสเตรเลีย บริษัทบุหรี่ทั้งไทยและเทศก็ออกมาคัดค้านกันเต็มที่ โดยการยุยงให้ชาวไร่ยาสูบเป็นฝ่ายที่ออกมาคัดค้าน”

อีกตัวอย่างคือกระทรวงสาธารณสุข เสนอที่จะห้ามเติมสารเมนทอลในการผลิตบุหรี่ เพราะสารเมนทอลที่ทำให้สูบบุหรี่แล้วเย็นชุ่มคอ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เยาวชนที่ลองสูบบุหรี่ สูบแล้วไม่ระคายคอ จนเกิดการเสพติดขึ้น ทั้งโรงงานยาสูบไทย...เทศก็ออกมาคัดค้านกันอย่างสุดฤทธิ์ จนไม่สามารถออกกฎหมายนี้มาได้

มาตรการควบคุมยาสูบในอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลกมีหลายมาตรการ ตั้งแต่ห้ามโฆษณาส่งเสริมการขาย การขึ้นภาษี การพิมพ์คำเตือนบนซองบุหรี่ การคุ้มครองจากการได้รับควันบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบ

การควบคุมบุหรี่หนีภาษีหรือบุหรี่ผิดกฎหมาย การป้องกันการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบโดยบริษัทบุหรี่ การที่จะทำให้คนสูบบุหรี่น้อยลง ต้องใช้มาตรการทุกมาตรการร่วมกันจึงจะได้ผล

ดังนั้นรัฐบาลประเทศต่างๆจึงต้องทยอยผลักดันมาตรการต่างๆออกมาบังคับใช้ อย่างบ้านเราห้ามโฆษณา ห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะ ตั้งแต่ปี 2535 ขึ้นภาษียาสูบปี 2536 พิมพ์คำเตือนเป็นรูปภาพปี 2548

ส่วนการแก้ปัญหาบุหรี่หนีภาษี และปัญหาบุหรี่ยาเส้นเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องหาทางแก้ไขตามแนวทางที่กำหนดในอนุสัญญาควบคุมยาสูบต่อไป

 “จึงไม่ใช่ว่าเรายังมีปัญหาบุหรี่ยาเส้น บุหรี่หนีภาษี...ประเทศไทยจึงยังไม่ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการเตือนพิษภัยยาสูบ ด้วยการเพิ่มขนาดภาพคำเตือนบนซองบุหรี่”

5. บุหรี่ต่างประเทศหนีภาษีและบุหรี่ยาเส้น ไม่มีกำหนดส่วนผสม มีผลทำลายสุขภาพ มากกว่าบุหรี่ที่ผลิตจากโรงงานยาสูบ ศ.นพ.ประกิต บอกอีกว่า องค์การอนามัยโลกประกาศอย่างชัดเจนว่าสินค้ายาสูบทุกประเภท เป็นอันตรายร้ายแรงต่อผู้สูบไม่แตกต่างกัน

 “ในสหรัฐฯที่มีแต่บุหรี่ก้นกรองมา 50 ปี มีบุหรี่ยาเส้นมวนเองน้อยมาก ทุกวันนี้มีคนอเมริกันตายจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ปีละสี่แสนกว่าคน ที่เรียกว่าบุหรี่คุณภาพสูงจากอเมริกา คุณภาพในการทำให้คนตายนั่นถูกต้องที่สุด”

สรุปสุดท้ายมีว่า...สิ่งที่โรงงานยาสูบควรทำ คือ เรียกร้องและปันส่วนกำไรให้แก่รัฐบาล เพื่อยกเครื่องการควบคุมบุหรี่เถื่อนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น...เรียกร้องให้รัฐบาลขึ้นภาษีบุหรี่ยาเส้น

สนับสนุนประกาศเพิ่มขนาดภาพคำเตือน เพราะโรงงานยาสูบเป็นฝ่ายที่จะได้ประโยชน์จากภาพคำเตือนที่มีขนาดใหญ่ เพราะรูปลักษณ์ซองของบุหรี่โรงงานยาสูบสู้ซองบุหรี่ต่างประเทศไม่ได้อยู่แล้ว ภาพคำเตือนขนาดใหญ่จึงลดความดึงดูดของบุหรี่ต่างประเทศมากกว่าบุหรี่ของโรงงานยาสูบ

“คิดให้รอบคอบเวลาจะร่วมกับบริษัทบุหรี่ข้ามชาติทำอะไร เพราะบริษัทบุหรี่ข้ามชาตินั่นแหละ คือศัตรูตัวจริงของโรงงานยาสูบ ไม่ใช่กระทรวงสาธารณสุข”

ในหลายประเทศ เขาควบคุมการสูบบุหรี่ในประชากรของเขาจนอัตราการสูบบุหรี่ลดลงต่ำกว่า 15% รัฐบาลของเขาพูดกันถึง “เอนด์เกมส์” คือจะลดการสูบบุหรี่ของคนของเขาให้ต่ำกว่า 5% ภายใน 15-20 ปีข้างหน้านี้ เพราะเขาต้องการคุ้มครองคนของเขาจากภัยบุหรี่ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลทุกประเทศ

 “ในขณะที่ชายไทยยังสูบบุหรี่สูงถึง 42.5 เปอร์เซ็นต์ แต่โรงงานยาสูบ รวมถึงบริษัทบุหรี่ข้ามชาติยังต้องการเข่นฆ่าคนไทยให้ได้มากๆ และนานๆ เพียงเพื่อรักษาผลกำไรไว้เท่านั้น”

ที่มา: นสพ.ไทยรัฐ วันที่ 17 เมษายน 2556