ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

พระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ได้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2556 ที่ผ่านมา ขณะที่คนไทยมักจะเห็นว่ากฎหมายให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐจะใช้สำหรับอภิโครงการการก่อสร้างขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วการให้ร่วมลงทุนในกิจการของรัฐหรือ Public Private Partnership  หรือ PPP   ในต่างประเทศนั้นได้นำมาใช้กับระบบสาธารณสุขของประเทศในหลายประเทศซึ่งเริ่มตั้งแต่การพัฒนาด้านอาคารเช่นสร้างโรงพยาบาลใหม่ การบริการสนับสนุนรวมทั้งระบบสารสนเทศและการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นต้น  ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดภาระด้านค่าใช้จ่ายเพื่อนำเงินงบประมาณของ รัฐไปใช้ในด้านอื่นเช่นค่าตอบแทนบุคลากร แก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์

หากลองดูตัวอย่างการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการสาธารณสุขของรัฐในต่างประเทศแล้ว บางทีอาจเป็นแนวทางหนึ่งในการลดค่าใช้จ่าย ที่มิใช่เงินเดือนและสวัสดิการแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ของไทยและจะทำให้รัฐมีเงินเพียงพอเพื่อเป็นเงินเดือนและสวัสดิการแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งอาจจะแก้ปัญหาความขัดแย้งในขณะนี้ได้ส่วนหนึ่ง

โรงพยาบาลสตรี (Royal Women Hospital) ในเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1856   ในปี 2003 โรงพยาบาลเริ่มประสบปัญหา อย่างรุนแรงในด้านอาคารและห้องตรวจผู้ป่วยเนื่องจาก จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น  เนื่องจาก โรงพยาบาลแห่งนี้เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางสตรีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศออสเตรเลีย  รัฐบาลของมลรัฐวิคตอเรียและกระทรวงบริการมนุษย์ของรัฐจึงได้มีแผนสร้างอาคารโรงพยาบาล 9 ชั้น 160 เตียง เตียงทารก 60 เตียง ห้องคลอด 17 ห้อง ห้องผ่าตัด 6 ห้อง แต่ด้วยเงินทุนอันจำกัดจึงได้ประกาศให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในการขยายโรงพยาบาลสตรีที่เมืองเมลเบิร์นแห่งนี้

รัฐบาลของมลรัฐวิคตอเรียและกระทรวงบริการมนุษย์ของรัฐได้ร่วมมือกับเอกชนคือบริษัท Bilfinger Berger Group บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการก่อสร้างเข้าร่วมลงทุนในครั้งนี้  โดยรูบแบบการร่วมลงทุนเป็นแบบ Designed, Built, Finance and Operating Contracts โดยรัฐวิคตอเรียได้ให้สิทธิสัมปทานการบริการแก่ Bilfinger Berger Group เป็นระยะเวลา 25 ปีระหว่างปี 2008-2033

แต่เนื่องจาก Bilfinger Berger Group ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญด้านการให้บริการทางการแพทย์ จึงมีการให้สัญญาต่อไปยังบริษัท United KFPW  เพื่อจัดการด้านสาธารณูปโภคและบริการสนับสนุน เช่น ดูแลสถานที่  การให้คำแนะนำและรับเรื่องร้องทุกข์ การรักษาความปลอดภัย การทำความสะอาดและการจอดรถ โดยภาครัฐเป็นผู้ให้บริการการรักษา ที่น่าสนใจคือตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการไม่ใช่มีก็ต่อเมื่อมีการก่อสร้างเสร็จแล้วและให้บริการเท่านั้น แต่ตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการเรื่องหนึ่งคือการออกแบบอาคารที่กำหนดให้มีการปรึกษา ผู้หญิง ผู้เข้ามาใช้บริการและคณะกรรมการ กลุ่มชุมชน

ความสำเร็จของโครงการมิใช่เพียงแต่ไม่ต้องใช้เงินค่าก่อสร้างสูงถึง 250 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย จากงบประมาณของรัฐเท่านั้น แต่อยู่ที่ความพึงพอใจในการให้บริการที่ผู้ป่วยและญาติได้รับซึ่งแตกต่างจากโรงพยาบาลของรัฐทั่วไปในออสเตรเลีย

รัฐคุชราช (Gujarat) ในประเทศอินเดียมีปัญหาเรื่องการเสียชีวิตของมารดาและการอนามัยสำหรับเด็กในพื้นที่ห่างไกลชุมชนเมือง  ปี 2006 รัฐบาลรัฐคุชราชจึงตกลงกับเครือข่าย สูตินารีแพทย์เอกชนทั่วไปในให้บริการในพื้นที่ห่างไกลเพื่อให้บริการอนามัยด้านการทำคลอดแก่มารดาในพื้นที่ห่างไกลที่มีอัตราตายของมารดาและทารกสูงโดยเริ่มจาก 5 อำเภอซึ่งประชากรเป็นจำนวนถึง 43% ที่อยู่ใต้เส้นความยากจน

รัฐคุชราชได้มีข้อตกลงกับเครือข่ายแพทย์เอกชนในรูปของService  Contracting Out  คือการกำหนดตกลงกับเครือข่ายแพทย์เอกชนในการให้การทำคลอดแก่สตรีและการกำหนดค่าตอบแทนแก่แพทย์ตามจำนวนกรณีของคนไข้ (ไม่ใช่ตามจำนวนคนไข้หรือจำนวนครั้งที่คนไข้มาพบ) โดยเริ่มโครงการโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของรัฐระบุชนิดของบริการและแพทย์ที่เข้าเครือข่ายให้บริการเพื่อประเมินเงื่อนไขการให้บริการรวมทั้งตั้งกลไกดูแลเส้นทางการเงินเพื่อมิให้จ่ายเงินแก่ผู้ให้บริการล่าช้า ไม่มีการกำหนดแนวทางตายตัวให้แพทย์เอกชนที่เข้าร่วมโครงการต้องทำตามเนื่องจากกรณีของการคลอดแตกต่างกัน ส่วนต้นทุนการให้บริการจะมีการตกลงกันกับองค์กรวิชาชีพ โดยในส่วนการรักษาพยาบาลขึ้นพื้นฐานจะใช้เงินจากงบประมาณของรัฐ ทั้งนี้ ในปีแรกคือ ปี 2006 มีสูตินารีแพทย์เข้าร่วมโครงการในจำนวน 61% ของจำนวนสูตินารีแพทย์ทั้งรัฐ และเพิ่มเป็น 85% ในปี 2010

โครงการประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงโดยมีผู้ใช้บริการการทำคลอดเพิ่มขึ้นถึง 59% เฉลี่ยคนไข้ 238 คนต่อแพทย์ 1 คนในปีแรกไม่มีมารดาเสียชีวิต ทารกเสียชีวิตเพียงคน 13 จากเฉลี่ยปีละประมาณ 120 คนเมื่อยังไม่มีโครงการนี้ขณะนี้รัฐคุชราชได้ขยายโครงการนี้จาก  5 อำเภอ ไปทั้งรัฐ อีกตัวอย่างหนึ่งคือประเทศแอฟริกาใต้ซึ่งมีขนาดทางเศรษฐกิจเท่ากับประเทศไทย รัฐบาลของรัฐได้เปิดให้คลินิกเอกชนเข้าร่วมโครงการพีพีพีในรูปแบบ Service Contracting Out ในเขตชานเมืองโดยหุ้นส่วนภาคเอกชนคือคลินิกเอกชนทั่วไปโดยภารกิจการให้บริการคือการรักษาพยาบาลและการจ่ายยาโดยแพทย์เพื่อเสริมการทำงานของคลินิกภาครัฐในเขตชานเมืองและมีข้อตกลงจ่ายค่าบริการให้คลินิกเอกชนที่ร่วมโครงการแบบ  fee-for-service ตามเงื่อนไขร่วมกับใบสั่งยาต่อใบ

ทั้งนี้หน่วยงานรัฐมีการควบคุมโดยการประเมินผลโดยสำรวจทั้งผู้รับบริการ ผู้ให้บริการและการสนทนากลุ่มกับชุมชน  ทั้งนี้พบว่าต้นทุนต่อครั้งบริการของคลินิกเอกชนที่ร่วมโครงการใกล้เคียงกับคลินิกของรัฐแต่รัฐสามารถประหยัดเงินงบประมาณการว่าจ้างบุคลากรทางการแพทย์ให้มาทำงานกับภาครัฐได้

การนำ PPP มาใช้กับระบบสาธารณสุขไม่ได้มีเพียงสามประเทศข้างต้น ยังมีประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา กัวเตมาลา  เยอรมัน  สิงคโปร์ ปากีสถาน เป็นต้น ที่นำกลไกการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐหรือ PPP มาใช้กับกิจการสาธารณสุขของรัฐ

แต่น่าเสียดายที่พระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 มาตรา 23 ได้กำหนดให้โครงการของรัฐที่มีมูลค่าตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไปเท่านั้นจึงจะอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ คนไทยเราจึงยังคงต้องเชื่อกันต่อไปว่า PPP ต้องนำมาใช้กับอภิมหาโครงการ และระบบสาธารณสุขของไทยนั้นคงจะอีกนานกว่าจะนำกลไก PPP ที่เป็นประโยชน์นี้มาใช้

ผู้เขียน : จุลพงศ์ อยู่เกษ ผู้ช่วยประธานที่ปรึกษา ด้านนโยบายนายกรัฐมนตรี และขึ้นทะเบียนเป็น ทนายความ รัฐวิคตอเรีย

ประเทศออสเตรเลีย

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 17 เมษายน 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง