ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

รมว.สาธารณสุขหอบหลักฐานองค์การอนามัยโลกให้ข้อมูลดีเอสไอ

เมื่อวันที่ 17 เมษายน ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เข้าให้การกับนายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ ผอ.ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ในฐานะผู้ร้อง ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีน จ.สระบุรี และการจัดซื้อวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอลขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) โดยมีนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ให้การต้อนรับ

นพ.ประดิษฐ แถลงหลังเข้าให้การนาน 3 ชั่วโมง ว่า สาเหตุที่เข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุข เข้าร้องทุกข์ต่อดีเอสไอ 2 ประเด็นสำคัญ คือการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดนก/ไข้หวัดใหญ่และการจัดซื้อวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอล เพราะกระทรวงสาธารณสุข พบข้อสงสัยและความเสียหายจากวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอล พบการปนเปื้อนจำนวน 19 ล็อต ที่มีการสุ่มตรวจ โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นมานานกว่า 1 ปี อีกทั้งยังพบว่ามีการสั่งซื้อวัตถุดิบจากแหล่งเดิมเพิ่มเติมอีก โดยที่โรงงานผลิตยาพาราเซตามอลยังคงปิดปรับปรุง

นพ.ประดิษฐกล่าวว่า สำหรับประเด็นการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีน พบข้อสงสัยถึงความจำเป็นในขนาดโครงการขนาดใหญ่ ทั้งที่ยังมีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องคำนึงถึง เช่น ความคุ้มทุนหรือไม่ในการสร้างโรงงาน อีกทั้งก่อนหน้านี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้ข้อแนะนำ 2 อย่าง คือถ้าประเทศไทยต้องการทำโรงงานผลิตเชื้อแบบไหนก็ให้เลือกตามความเหมาะสม ตามรูปแบบแพคเกจที่ต้องการ นอกจากนี้ ทางองค์การอนามัยโลกยังให้เงินสนับสนุนการทำวิจัยชนิดเชื้อเป็น เพื่อเตรียมพร้อมในการระบาด แต่การวิจัยดังกล่าวต้องใช้เวลาพอสมควร เวลาโดยประมาณ 7-8 ปี แบ่งเป็น 3 ระยะ หรือแม้กระทั่งการผลิตแบบเชื้อตายก็ต้องใช้เวลาในการศึกษาเช่นกัน ดังนั้นจึงเกิดข้อสงสัยว่าทำไมถึงเร่งรัดในการก่อสร้างโดยการอ้างเหตุเรื่องการการระบาดของไข้หวัดนก รวมถึงการรวบรัดในหลายขั้นตอน

นพ.ประดิษฐกล่าวว่า สำหรับผลการศึกษาขององค์การอนามัยโลก ที่ตอบกลับมายังกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าขณะนี้อยู่ในช่วงของการศึกษาวิจัยในระยะ 2 และคาดว่าจะจบการศึกษาภายในปีนี้ และศึกษาต่อในระยะที่ 3 โดยใช้เวลาอีก 3 ปี หากรวมเวลาแล้ว ช่วงที่งานวิจัยเสร็จสิ้นคือช่วงปี 2015-2016 ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องรัดขั้นตอน อย่างไรก็ตาม เอกสารดังกล่าวได้มอบให้กับพนักงานสอบสวนไว้ประกอบข้อมูลการสอบสวน สิ่งเหล่านี้เป็นข้อสงสัยต้องการให้ข้อมูลกับดีเอสไอในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ไม่ใช่การกล่าวหา

ด้านนายธาริตกล่าวว่า ความคืบหน้าในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของดีเอสไอ กรณีจัดซื้อวัตถุดิบผลิตยาพาราฯที่มีการปนเปื้อนอยู่ระหว่างการชี้แจงขององค์การเภสัชกรรมทหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และองค์การอาหารและยา (อย.) นอกจากนี้ ดีเอสไอยังพบพิรุธในการจัดซื้ออีก 3 ประเด็น จากการสอบปากคำพยาน คือทาง อภ.ไม่ได้ผลิตยาพาราฯมาตั้งแต่ปี 2546 เพราะหันไปผลิตยาตัวจากการสอบปากคำพยาน คือทาง อภ.ไม่ได้ผลิตยาพาราฯมาตั้งแต่ปี 2546 เพราะหันไปผลิตยาตัวใหม่ เช่น ยารักษาโรคเบาหวาน ส่วนการผลิตยาพาราเซตามอล ทาง อภ.เปลี่ยนไปใช้วิธีจ้างผลิต แต่ละบริษัทผู้ผลิตจะมีแหล่งซื้อวัตถุดิบเอง 2.การที่พบว่าวัตถุดิบปนเปื้อนแต่ยังคงจัดซื้อจากแหล่งเดิม และเป็นการปนเปื้อนของวัตถุดิบที่ไม่ได้มาตรฐานการผลิต และ  การสั่งซื้อโดยอ้างความจำเป็นต้องสต๊อกในช่วงน้ำท่วม ทั้งที่ไม่มีโรงงานผลิต อย่างไรก็ตาม ดีเอสไอต้องตรวจสอบอย่างละเอียดว่ามีเหตุผลหรือข้อเท็จจริงสอดคล้องกันหรือไม่

"นอกจากนี้ช่วงเวลาเดียวกันยังพบว่ามีการสต๊อกวัตถุดิบยาชนิดอื่นอีก ดีเอสไอจะต้องตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้งว่ามีตัวยาอะไรบ้าง เป็นไปตามแผนการผลิตหรือไม่ อย่างไร" นายธาริตกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะแยกสำนวนเพื่อสรุปเรื่องวัตถุดิบผลิตพาราฯหรือรอสรุปพร้อมกัน นายธาริต กล่าวว่า ขณะนี้ดีเอสไออยู่ระหว่างการตรวจสอบความเชื่อมโยง เพราะปมประเด็นใหม่ว่าบริษัทที่เกี่ยวข้องกับโรงงานผลิตวัคซีน อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อวัตถุดิบผลิตยาพาราฯ ในรูปแบบลักษณะการถือหุ้นไขว้กัน หรือเป็นเครือข่ายนอมินีเดียวกัน ทั้งนี้ ดีเอสไอจะเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง

ผู้สื่อถามว่า เบื้องต้นทั้งสองกรณีเข้าข่ายความผิดใด นายธาริตกล่าวว่า ขณะนี้พบว่าทั้งสองโครงการเกิดความผิดปกติเกิดขึ้น เบื้องต้นจากข้อมูลเอกสารพยานหลักฐาน ที่ดีเอสไอได้รับ รวมถึงการสอบปากคำพยานแวดล้อมพบว่ากระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายมาตรา 157 เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ระดับสูง ต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริต (ป.ป.ช.) คาดว่าภายในสัปดาห์จะสามารถสรุปสำนวนส่ง ป.ป.ชได้ ทั้งนี้ ดีเอสไออยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะคัดแยกดำเนินการเฉพาะความผิดชัดเจนเพื่อดำเนินการก่อน หรือรอตรวจสอบให้ครบถ้วนแล้วดำเนินการในคราวเดียวกัน ส่วนประเด็นความผิดกฎหมายการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐหรือไม่ อยู่ระหว่างการตรวจสอบ หากพบการกระทำก็สามารถเพิ่มเติมได้

นายธานินทร์กล่าวว่า ในวันที่ 18 เมษายนได้นัดสอบปากคำเจ้าหน้าที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในประเด็นการจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงแผนการผลิตยาพาราเซตามอล เพื่อปิดประเด็นในข้อสงสัยในการสอบสวน และวันที่ 18 เมษายนเช่นเดียวกันจะได้ข้อมูลจาก ทางสำนักงบประมาณ ในเรื่องงบประมาณการก่อสร้าง และผลการตรวจวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอล จากโรงงานเภสัชกรรมทหาร และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ทางด้าน นพ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม ปี 2549-2552 เป็นช่วงการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ไข้หวัดนก กล่าวถึงกรณีดีเอสไอตั้งข้อสงสัยในเรื่องการก่อสร้างโรงงานวัคซีนฯ ล่าช้าว่า เป็นการกล่าวหาทั้งที่ไม่เป็นความจริง เนื่องจากข้อเท็จจริงของการก่อสร้างโรงงานวัคซีนฯ แยกออกเป็น 2 สัญญา คือ 1.การทำสัญญาก่อสร้างในส่วนโรงงานใหญ่ และ 2.การก่อสร้างในส่วนโรงงานประกอบ 5 หลัง ส่วนนี้ไม่มีปัญหา เพราะมีบริษัทยื่นซองประมูลเรียบร้อย แต่ที่ดีเอสไอสงสัย คือ ส่วนโรงงานขนาดใหญ่ที่มีบริษัทรายเดียวในการยื่นซอง ข้อเท็จจริงคือ โรงงานขนาดใหญ่มีความซับซ้อนในเรื่องของเทคโนโลยีมาก การยื่นซองก็จะต้องเลือกบริษัทที่ชำนาญ โดยช่วงแรกมีผู้มารับซองจำนวนหนึ่ง แต่กลับมีผู้ยื่นซองเพียงรายเดียว ตามหลักต้องยกเลิก แต่กรณีนี้มีความพิเศษ แตกต่างจากทั่วไป

นพ.วิชัยกล่าวว่า กรณีบริษัทยื่นซองเสนอราคารายเดียวนั้น ไม่ใช่แค่ที่ อภ.เท่านั้น หน่วยงานราชการต่างๆ มีหมด ขณะนั้นมีการพิจารณาเรื่องนี้ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ ครม.ก็มีมติออกมาเมื่อเดือนกันยายน 2552 ว่าหากมีบริษัทยื่นซองเพียงรายเดียว ตามหลักต้องยกเลิก แต่หากคณะกรรมการในหน่วยงานนั้นๆ พิจารณาว่าสมควรต้องรับ เพื่อประโยชน์แก่ราชการ แม้มีรายเดียวก็สามารถรับได้ ในส่วนของ อภ.นั้นได้พิจารณาแล้วว่าสมควรรับ เนื่องจากสาเหตุ 3 ประการ คือ 1.การประมูลอิเล็กทรอนิกส์จำเป็นต้องใช้เวลานานร่วม 3 เดือน โครงการก่อสร้างโรงงานวัคซีนฯ ได้รับอนุมัติงบตั้งแต่ปี 2550 ขณะนั้นอยู่ในปี 2552 ล่าช้ามาพอสมควร จึงเห็นว่าหากไม่รับการเสนอซองครั้งนี้จะสมควร จึงเห็นว่าหากไม่รับการเสนอซองครั้งนี้จะยิ่งล่าช้า 2.ขณะนั้นเกิดการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 หากการผลิตยิ่งล่าช้า ในอนาคตหากมีสายพันธุ์อื่นๆ มาอีก ก็ไม่สามารถพึ่งตนเองในแง่ป้องกันได้เสียที 3.ได้มีการสอบถามบริษัทอื่นๆ ไม่ยื่นซองเพราะเหตุใด ได้รับคำตอบว่าการก่อสร้างโรงงานต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง แต่งบในส่วนโรงงานใหญ่กลับกำหนดประมาณ 300 ล้านบาท

นพ.วิชัยกล่าวว่า บริษัทเหล่านี้รับไม่ได้ ประกอบกับในสัญญาระบุชัดว่าต้องมีการทบทวนระหว่างก่อสร้างด้วย ก็รับไม่ได้อีกเช่นกัน ที่สำคัญในส่วนการก่อสร้างโรงงานประกอบอีก 5 หลัง มีบริษัทยื่นซองหมดแล้ว หากส่วนโรงงานใหญ่ยังไม่ได้บริษัทเสียที ก็จะล่าช้าไปทั้งหมด ด้วยเหตุนี้จึงพิจารณาว่าสมควรต้องรับแม้มีบริษัทยื่นเพียงรายเดียว เป็นไปตามมติ ครม. ไม่ได้ผิดระเบียบ จึงมองว่าเรื่องนี้มีคำตอบมีหลักฐานหมด แต่ไม่เข้าใจว่า เพราะเหตุใดเจ้ากระทรวงจึงต้องส่งเรื่องให้ดีเอสไอ แทนที่จะสอบถาม เพราะมีหลักฐานอยู่แล้ว และเดินหน้าสร้างโรงงานให้แล้วเสร็จจะดีกว่า" นพ.วิชัยกล่าว

นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า กรณีข้อสงสัยของดีเอสไอทั้งในเรื่องการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไข้หวัดนก และกรณีวัตถุดิบยาพาราเซตามอลนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมข้อมูลข้อเท็จจริงในการชี้แจง พร้อมจะตอบข้อสงสัยต่างๆ

ขณะที่ นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผลการตรวจสอบวัตถุดิบยาพาราฯ ปนเปื้อนของ อภ.ได้เกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่เหมาะสมจะเปิดเผยรายละเอียดข้อมูล เพราะควรให้เจ้าของเรื่องคือ บอร์ด อภ.เป็นผู้แถลงเกี่ยวกับเรื่องนี้เอง อีกทั้งขณะนี้ผลตรวจยังไม่แล้วเสร็จ หากผลตรวจออกเมื่อใดจะส่งเรื่องให้ นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานบอร์ด อภ.ทันที  มีกำหนดระยะเวลาในการตรวจสอบ 1 เดือน

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 18 เมษายน 2556