ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

“สภาวะหมอหมดไฟ ทอดอาลัย” ...หมอไทยวันนี้

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย www.cueid.org บอกว่า สะท้อนว่า จากการสำรวจทั่วประเทศสหรัฐฯ ในปี 2555 พบว่า ในบรรดาคนทำงานทั้งหมด หมออเมริกัน 45.8% เผชิญกับสภาวะ “หมดไฟ” มาเป็นอันดับหนึ่ง

การสำรวจนี้ทำซ้ำในปี 2556 และได้ผลตัวเลขคล้ายคลึงกัน คือ 39.8% ของหมอจะมีอาการอย่างน้อย 1 อย่างของการที่หมดความกระตือรือร้นในงานที่ทำ ไม่ไว้ใจในมนุษย์มนาด้วยกัน มีความรู้สึกถูกเยาะเย้ยถากถางจนทำให้มีความเห็นแก่ตัว รวมทั้งรู้สึกว่าตัวเองด้อยคุณค่า

ร้อยละ 50 ของหมอหมดไฟจะตกในกลุ่มที่ทำงานเผชิญกับภาวะฉุกเฉินไม่ว่าที่เกิดจากโรคหรือที่มีการบาดเจ็บ (เวชศาสตร์ฉุกเฉิน) และกลุ่มเวชบำบัดวิกฤติ (critical care)

รองลงมาคือ เวชศาสตร์ครอบครัว (43%) สูติ-นรีเวช (42%) อายุรกรรมหรือหมอรักษาทางยา (42%) หมอผ่าตัด (42%) หมอดมยา (42%) ในขณะที่หมอเด็ก (35%) หมอโรคข้อที่ไม่ได้ผ่าตัดแต่ให้การรักษาด้วยยา (35%) จิตแพทย์ (33%) และหมอชันสูตรทางเนื้อเยื่อ (32%) ดูจะมีภาษีดีกว่า ในบรรดาหมออายุรกรรมนั้นไม่ได้จำกัดว่าจะเป็นหมอทางสมอง ไต มะเร็ง หัวใจ ปอด เบาหวาน

หรือแม้แต่หมอผิวหนังก็มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 35-40% ที่ไฟหมดคล้ายคลึงกัน...ภาวะหมดไฟไม่ได้ส่งผลกระทบแก่การดูแลผู้ป่วยเพียงอย่างเดียว แต่กระทบหมอโดยตรง ทำให้มีอัตราฆ่าตัวตายสูงกว่าคนทั่วๆไป

ทั้งนี้ หมอผู้หญิงจะกระทบมากกว่าผู้ชาย สัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 37 ต่อ 45

เมื่อวิเคราะห์ถึงความรุนแรงของสภาวะหมดไฟ ถึงแม้ว่าหมอชันสูตรเนื้อเยื่อ เรียกกันย่อๆว่า...หมอพาโถ มาจาก “pathologist” จะมีเพียง 3 ใน 10 รายที่ไฟหมด แต่มีความรุนแรงถึง 4 ใน 7 น้อยกว่าหมอสูติ-นรีเวช โดยขีด 1 หมายถึง ไม่มีผลต่อชีวิต และขีด 7 รุนแรงถึงขั้นอยากเลิกเป็นหมอ

ทั้งนี้ทั้งนั้น น่าสนใจว่า...สภาวะหมดไฟไม่เกี่ยวกับสุขภาพโดยรวม การออกกำลังกายน้อยไป น้ำหนักตัว หรือการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ รวมทั้งไม่เกี่ยวกับประเภทของการทำกิจกรรมในยามว่าง แต่มีส่วนเกี่ยวกับการปรับตัวในเวลาที่ใช้ในที่ทำงานและที่บ้าน

ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ บอกว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ไฟหมดคือ งานเยอะยังกับหนูถีบจักร ค่าตอบแทนไม่เคยเท่ากับแรงงานแรงใจที่ได้ใช้ไป

อีกยังถูกโหมกระหน่ำด้วยงานกระดาษควบคุมคุณภาพ กรอกเหตุผลในการใช้ยา ทั้งๆที่ถ้าหมอจะสั่งยามันก็ต้องมีเหตุผลอยู่แล้ว...เผชิญกับภาวะหดหู่โดยเฉพาะในหมอมะเร็งและหมอรักษาคนไข้เอดส์ และหมออยู่ในสภาพที่เผชิญกับสภาวะที่ควบคุมอะไรไม่ได้เลย โดยมีกฎระบบระเบียบซึ่งไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ต้องเจอกับคนไข้ลักษณะต่างๆกันออกไป

ในบทสรุปเพ่งเล็งไปถึงระบบโครงสร้างและระบบบริการทางสาธารณสุขที่ผิดเพี้ยนบิดเบี้ยว นี่คือสภาพในสหรัฐฯ เมื่อเปรียบกับหมอไทย เราน่าจะไฟหมดในจำนวนตัวเลขมากกว่าครึ่งด้วยซ้ำ...

 “....จากระบบสาธารณสุขประชานิยมของไทย จากนักการเมืองที่กระหน่ำโหมโฆษณาว่าเป็นโรคทุกอย่างรักษาได้ รักษาได้ผลไม่น่าพอใจ เป็นความผิด เมื่อเผชิญกับคนไข้อาการหนัก ฉุกเฉินหมอทุกคนก็ต้องรักษาเฉพาะหน้า แต่ถ้าโชคร้ายอาการไม่ดีขึ้นก็จะถูกกล่าวหาว่าไม่ใช่หมอเฉพาะทาง ทำไมไม่ส่งตัวต่อไปที่อื่น

ทั้งๆที่ ณ ขณะนั้นอยู่ในภาวะฉุกเฉินไม่มีทางเลือก ยังมีอีกมากมายที่ประชาชนส่วนมากมักไม่รู้ และนักการเมืองก็ไม่เคยเห็นสภาพสาธารณสุขจริงๆ เพราะใช้บริการวีไอพี หรือทราบ แต่เพื่อคะแนนเสียงโยนภาระให้หมอและบุคลากรสาธารณสุขรับเคราะห์ไป ต้องรอให้หมดไฟไปทั้งประเทศก่อนอย่างนั้นหรือ”

ตัดฉากมาที่ความรู้เกี่ยวกับเรื่อง “โรคหัวใจถามหาคนชอบกินเนื้อ อาหารเสริม” จากหมอที่ยังไม่หมดไฟ คุณหมอธีระวัฒน์ บอกว่า เป็นที่สงสัยกันมานานแล้วว่าทำไมคนชอบบริโภคเนื้อแดง สเต๊ก เนื้อบด เบอร์เกอร์แทนที่จะกินปลา ผัก กลับตายหรือต้องบอลลูนใส่ขดลวดถ่างเส้นเลือดหัวใจกันเต็มไปหมด

ทั้งๆที่ปริมาณไขมัน คอเลสเทอรอลและไขมันอิ่มตัวในเนื้อก็ไม่ได้สูงมากนัก...

รายงานในวารสารชั้นนำ เนเจอร์ (Nature Medicine) 7 เมษายน 2556 โดย Koeth และคณะจากคลีฟแลนด์คลินิก สหรัฐฯ ที่พบว่า การกินเนื้อซึ่งมีส่วนประกอบสำคัญ คือ แอล-คาร์นิทีน (L-carnitine) จะถูกเปลี่ยนโดยจุลินทรีย์ในลำไส้ให้กลายเป็น trimethylamine-N-oxide (TMAO) โดยที่ TMAO จะเป็นตัวเร่งให้เกิดเส้นเลือดตัน

ทั้งนี้ไม่เพียงแต่คาร์นิทีนอย่างเดียว การกินโคลีน (choline) และ phosphatidylcholine ก็จะถูกย่อยให้เกิด trimethylamine (TMA) และในที่สุดก็จะกลายเป็น TMAO ตามมา (Wang และคณะ วารสาร Nature 2554)

Catherine Collins” ...นักโภชนาวิทยาได้ให้ความเห็นในเว็บของข่าว BBC (สืบค้น 10 เมษายน 2556) ว่าการใช้อาหารเสริมที่มี แอล-คาร์นิทีน เป็นส่วนประกอบด้วย นัยว่าทำให้สัดส่วนกระชับ ลดน้ำหนัก ผิวสวย เพื่อที่จะเพิ่มการเผาผลาญเมทาบอลิซึม และยังมีเลซิติน โคลีน

และ betaine นัยว่าเพื่อป้องกันอัลไซเมอร์ หรือเพิ่มสติปัญญาจากอาหารเสริมดังกล่าว แต่อาจไม่มีหลักฐานชัดเจน ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน ยกเว้นแต่ว่าเป็นมังสวิรัติเท่านั้น

 “แอล–คาร์นิทีน” ...เป็นสารประกอบแอมโมเนียม ซึ่งเกิดจากการสังเคราะห์ของกรดอะมิโนไลซีน และเมไธโอนีน แอล-คาร์นิทีน มีบทบาทในการเคลื่อนกรดไขมัน จากการย่อยสลายไขมันภายในเซลล์เข้าสู่ตัวไมโท–คอนเดรียเพื่อสร้างเป็นพลังงาน ในส่วนการใช้ แอล-คาร์นิทีนเพื่อลดน้ำหนักยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชัดเจน

แต่มีรายงานว่าอาจช่วยผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกจากเส้นเลือดหัวใจตีบให้มีอาการน้อยลงบ้าง และอาจช่วยคนเป็นหมันโดยเพิ่มคุณภาพของสเปิร์ม

แอล-คาร์นิทีนมีมากในเนื้อวัว 95 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม...เนื้อบด 94 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม...เนื้อหมู 27.7 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม...เบคอน 23.3 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม...ในขณะที่ปลา ไก่ ไอศกรีม และนมจะมีปริมาณต่ำกว่ามากอยู่ที่ 3-5 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม ส่วนพืช ผัก ไข่ ผลไม้ น้ำส้ม จะมีขนาดต่ำกว่า 0.2 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม

ในการบริโภคอาหารประจำวันจะได้แอล-คาร์นิทีน ในขนาด 20-200 มก. แต่ในคนที่กินมังสวิรัติจะเหลือเพียง 1 มิลลิกรัมต่อวัน นอกจากที่คนชอบกินผักจะได้ แอล-คาร์นิทีนน้อยกว่าแล้ว ยังพบว่าจุลินทรีย์ในลำไส้ของคนชอบกินผักจะเป็นชนิดที่ไม่เปลี่ยนแอล-คาร์นิทีนเป็นสารพิษ...TMAO

ข้อมูลที่น่าสนใจ...จากการตรวจผู้ป่วย 2,595 คนที่ได้รับการประเมินสภาพทางหัวใจ พบว่า คนที่มีระดับแอล-คาร์นิทีนร่วมกับ TMAO สูง...จะมีความเสี่ยงสูงของการเกิดเส้นเลือดหัวใจตีบตัน อัมพฤกษ์ และเสียชีวิต

นอกจากนี้การทดลองในหนูโดยให้แอล-คาร์นิทีนไปนานๆจะทำให้จุลินทรีย์ในลำไส้เปลี่ยนชนิดไปจนทำให้เกิดการสร้าง TMA และ TMAO สูงขึ้น และเกิดเส้นเลือดตีบมากขึ้น

ทั้งหมดเหล่านี้เป็นข้อมูลวิชาการที่อ่านเข้าใจยาก แต่โดยสรุป คุณหมอธีระวัฒน์ ย้ำว่า เป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้คนไทยเกิดปัญญา เพราะฉะนั้นการกินอาหารครบหมู่คละกันไปโดยเน้นผัก ผลไม้ ถั่ว โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มด้วยอาหารเสริม ซึ่งแม้ว่าจะเลือกสารที่ว่าเป็นประโยชน์ต่อเซลล์ ร่างกาย และเนื้อเยื่อ แต่ถ้ามากเกินไปจะเกิดการปรับเปลี่ยนจุลินทรีย์ในลำไส้และกลับเปลี่ยนเป็นของเสียซึ่งมีพิษ และทำให้ที่ว่าดีกลายเป็นร้ายไปเสียอีก

 “ปริมาณแอล–คาร์นิทีนในอาหารเสริม 1 เม็ดอาจมีปริมาณมากกว่า 500 มิลลิกรัม สุดท้ายความเชื่อทางศาสนา...เคร่งครัดในการละการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต บริโภคมังสวิรัติแต่โบราณกาลเป็นสิ่งที่ถูกต้อง”

ที่มา: นสพ.ไทยรัฐ วันที่ 18 เมษายน 2556