ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เรื่องของสังคมผู้สูงอายุกำลังทวีความสำคัญเป็นลำดับในเรื่องการบริหารเศรษฐกิจไทย ถือเป็นความท้าทายเรื่องหนึ่ง ซึ่งข้อมูลจากเอกสารการนำเสนอเศรษฐกิจไทยกับความท้าทายในอนาคต เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2556 ระบุไว้ดังนี้

1.สภาพัฒน์คาดการณ์ว่าปริมาณประชากรไทยมีอายุ 60 ปีขึ้นไป ในปี 2568 จะมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 20% ของประชากรไทยเทียบกับปี 2543 ที่มีสัดส่วนเพียง 9.4%

2. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ปี 2555 ประเทศไทยมีประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป มีมากถึง 12.59% มากที่สุดในอาเซียนโดยความก้าวหน้าทางด้านวิทยาการทางการแพทย์ทำให้อัตราการเกิดลดน้อยลงประชากรอายุยืนยาวขึ้น

3. สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจาก 7 ล้านคนในปี 2550 มาเป็น 7.5 ล้านคนในปี 2553 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 14.5 ล้านคนหรือมีสัดส่วน 20% ในปี 2568

4. ประเมินว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าหรือในปี 2564 ประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุหรือสังคมสูงวัยระดับสุดยอด ความเสี่ยงในระดับตัวบุคคลวันนี้ คือ "มีอายุยืนยาวมากกว่าที่ตนเองคิดว่าจะจบและช่วงเวลาที่เกินมานั้นไม่มีเงินออมมาสนับสนุนการดำรงชีพต่อไปอย่างมีคุณภาพอย่างที่ควรจะเป็น" ภาษาชาวบ้าน คือ เงินที่เตรียมไว้มารองรับตอนแก่จนวันที่จะจากไปมันไม่มี หรือมีไม่พอที่จะดำรงชีวิต อย่าลืมว่าปัญหาสุขภาพ การเจ็บไข้ได้ป่วย การที่ต้องมีต้นทุนในการดูแลรักษาตนเองนั้นมันไม่น้อยเลย ครั้นจะหวังให้ลูกหลานเลี้ยงดูก็อาจจะยากมากขึ้น

ความเสี่ยงของภาครัฐ คือ งบประมาณในการดูแลผู้สูงอายุนับวันจะเพิ่มมากขึ้นทั้งปริมาณผู้สูงอายุ และค่าใช้จ่ายต่อหัว ไม่ต้องดูอะไรมากครับ เอาแคมเปญหรือการรณรงค์การหาเสียงเลือกตั้งก็เห็นแล้วว่าแทบทุกผู้สมัครต่างแย่งกันเพิ่มเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุกันทั้งสิ้น งบด้านสาธารณสุขต่อหัวก็ดี การรักษาฟรีก็ดีที่จะต้องเพิ่มมากขึ้นหรือไม่

การรณรงค์ให้ความรู้เรื่องการออม การลงทุนเพื่อรองรับช่วงเวลาที่ไม่ต้องทำงานแล้วหลังอายุครบ 60 ปี ยังอาจต้องทำอีกมาก เพราะผู้คนยังไม่ตระหนักมากพอ ยังมีการออมภาคบังคับ ภาคสมัครใจที่ยังไม่ถูกใส่ใจอย่างทั่วถึงและเพียงพอ หากว่านอกจากไม่เริ่มออม ไม่มีเงินออม แต่กลับเป็นหนี้ที่เกิดจากการใช้จ่ายไม่ระวังเข้าไปอีก ท่านๆ เหล่านั้นจะหาทางกลับกันอย่างไร เป็นหนี้หรือเป็นเอ็นพีแอล ตอนแก่ๆ มันสาหัสนะครับ ความกดดันความเครียดสะสมจะพาไปสู่ปัญหาสุขภาพ ท่านผู้อ่านว่าจริงหรือไม่

เราๆ ท่านๆ ที่กำลังแก่ตัวลงทุกวันน่าจะถือเอาวันปีใหม่ไทย 13 เมษายน 2556 เป็นวันดีที่เราจะมาเริ่มออมสำหรับยามชรา อย่าเอาแต่คิดแล้วไม่ทำ หรือรับคำแต่ไม่รับทำ เงินก็เฟ้อขึ้นทุกวันนะครับ ตัดสินใจเริ่มออมได้แล้วเวลาเราๆ ท่านๆ เหลือไม่มากอย่างที่คิดนะครับ

ที่มา : นสพ.คมชัดลึก ฉบับวันที่ 18 เม.ย. 2556 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง