ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

สำนักงานประกันสังคมแก้แนวปฏิบัติ ให้ผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้างได้รับเงินบำเหน็จครบตามสิทธิเสร็จแล้ว ส่งหนังสือแจ้งสำนักงานทั่วประเทศ เปิดให้ยื่นรับเงินส่วนที่เหลือได้ตั้งแต่เดือนพ.ค.นี้

นายอารักษ์ พรหมณี  รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหากรณีแรงงานที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่มีอายุ 55 ปีบริบูรณ์ซึ่งถูกเลิกจ้างได้รับเงินบำเหน็จชราภาพไม่ครบตามสิทธิ์ที่ควรได้รับ เนื่องจากนายจ้างค้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมนั้น ได้แก้ไขแนวปฏิบัติในการจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพของสปส.เรียบร้อยแล้ว

โดยแนวปฏิบัติใหม่กำหนดให้เมื่อผู้ประกันตนไปยื่นเรื่องขอรับเงินบำเหน็จชราภาพ เจ้าหน้าที่สปส.จะต้องจ่ายเงินให้ครบถ้วนตามสิทธิที่ผู้ประกันตนควรได้รับ ซึ่งเป็นไปตามที่พ.ร.บ.ประกันสังคมพ.ศ.2533 กำหนดไว้ ส่วนเงินดอกผลจากการนำเงินสมทบของผู้ประกันตนไปลงทุนนั้น ก็จะต้องได้รับเงินส่วนนี้เช่นกัน แต่จะต้องมีการคำนวณเงินก่อนและจะจ่ายให้แก่ผู้ประกันตนแต่ละรายภายหลังโดยจะต้องมารับเงินดังกล่าวด้วยตนเองที่สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่หรือให้โอนผ่านบัญชีธนาคารก็ได้ตามความสะดวก

รองเลขาธิการสปส. กล่าวว่า สปส.จะแจ้งแนวปฏิบัติดังกล่าวไปยังสำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ หลังจากนั้นตั้งแต่เดือนพ.ค.นี้ ขอให้ผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้างและมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพหรือได้รับเงินบำเหน็จชราภาพไปแล้ว แต่ได้รับเงินไม่ครบถ้วนตามสิทธิที่ควรได้รับ เนื่องจากนายจ้างค้างจ่ายเงินสมทบ ก็สามารถมายื่นเรื่องรับเงินได้ที่สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ ส่วนปัญหานายจ้างค้างจ่ายเงินสมทบกว่า 4 พันล้านบาทนั้น ขณะนี้สปส.สามารถทวงเงินสมทบจากนายจ้างมาได้กว่า 130 ล้านบาท จึงเหลือเงินที่นายจ้างค้างจ่ายเงินสมทบกว่า 3,650 ล้านบาท ทั้งนี้ ยอดเงินค้างจ่ายสมทบของนายจ้างแต่ละปีโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่กว่า 3-4 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่นายจ้างค้างจ่ายเงินสมทบเป็นเงินจำนวนมากนั้นส่วนหนึ่งเพราะสปส.คิดค่าปรับในอัตราที่สูง ทำให้นายจ้างไม่อยากชำระเงินสมทบที่ค้างส่ง

แต่ สปส.ได้แก้ไขกฎหมายประกันสังคมโดยกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าปรับไม่เกินเงินต้นที่ค้างชำระ เช่น ค้างชำระเป็นเงิน 2 แสนบาทก็คิดค่าปรับไม่เกิน 2 แสนบาทจากปัจจุบันคิดค่าปรับ 3-4 แสนบาท ขณะนี้ร่างแก้ไขกฎหมายอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญ ซึ่งเป็นวาระที่ 2 ของสภาผู้แทนราษฎร เชื่อว่าหากแก้กฎหมายเสร็จแล้ว ปัญหาการค้างจ่ายเงินสมทบของนายจ้างจะลดไปจากเดิม

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 18 เมษายน 2556