ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล สนับสนุนปรับจ่ายค่าตอบแทนพีฟอร์พี ชี้การพิจารณาจากภาระงาน ความหนักเบา ความจำเป็น เป็นขวัญกำลังใจให้กับบุคลากร จี้หันหน้าคุยกันเพื่อลดขัดแย้ง

เมื่อวันที่ 18 เม.ย.56 ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปรับการจ่ายค่าตอบแทนจากเดิมเหมาจ่ายเป็นอิงวิธีคิดแบบผลการปฏิบัติงาน หรือพีฟอร์พีที่สร้างความไม่พอใจให้กับแพทย์พยาบาลบางกลุ่มว่า การจ่ายค่าตอบแทนแบบพีฟอร์พีโดยภาพรวม มีการนำมาใช้ทั่วไปในทุกองค์กร ซึ่งศิริราชเองก็มีการจ่ายแบบพีฟอร์พี โดยอาจารย์แพทย์เราก็มีการกำหนดภาระงานล่วงหน้าว่าแต่ละท่านมีภาระงานอย่างไรบ้าง ทั้งการเรียนการสอน การบริการ การวิจัย รวมทั้งกำหนดตัวชี้วัดที่ต้องทำให้ได้ในแต่ละพันธกิจ คณะก็จะมีการให้ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นจากเงินเดือนที่ได้รับปกติ โดยจ่ายแบบพีฟอร์พี ซึ่งการจ่ายค่าตอบแทนเพิ่มนั้นเป็นเพราะฐานเงินเดือนข้าราชการทั่วไปมีช่องว่างต่ำกว่าเอกชนมาก การที่จะดึงบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ให้กับอยู่องค์กรเป็นเรื่องลำบาก

อย่างไรก็ตาม ศิริราชไม่ได้ผลักดันคนทำงานด้วยเงิน แต่เราเน้นเรื่องใจที่ทำประโยชน์เพื่อสังคมเป็นหลัก บุคลากรศิริราชทุกคนจึงอยู่เพราะความมีใจรักศิริราช ซึ่งทำประโยชน์ให้กับสังคมประเทศชาติ เพียงแต่บุคลากรเหล่านี้ก็ต้องอยู่ได้ด้วย ดังนั้นบุคลากรทุกระดับเรามีค่าตอบแทนเพิ่มให้จากเงินเดือนปกติ โดยใช้เงินรายได้ศิริราชเอง โดยการจัดสรรจะพิจารณาตามภาระงานความยากง่ายในแต่ละระดับ เช่น พยาบาลที่ประจำห้องไอซียูที่ต้องดูแลคนไข้ตลอดเวลา ก็จะได้ค่าตอบแทนสูงกว่าพยาบาลทั่วไป รองลงมาก็เป็นพยาบาลห้องผ่าตัด หรือพยาบาลที่ประจำตามหอผู้ป่วย ก็จะแบ่งเป็นเกรดตามการดูแลผู้ป่วยที่อาการหนักมากน้อย ซึ่งเป็นการจ่ายค่าตอบแทนแบบพีฟอร์พีทั้งสิ้นที่ศิริราชทำอยู่แล้ว เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับบุคลากร โดยพิจารณาจากภาระงาน ความหนักเบา ความจำเป็น

ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าวด้วยว่า ในส่วนของ สธ.ที่มีปัญหามีความเห็นไม่ตรงกันนั้น ตนคิดว่าการจ่ายค่าตอบแทนให้กับแพทย์พยาบาลเป็นสิ่งจำเป็นและมีความสำคัญที่จะต้องให้ แต่การให้จะปรับรูปแบบอย่างไรขึ้นอยู่กับผู้บริหารว่าจะเห็นอย่างไร ซึ่งผู้บริหารชุดปัจจุบันมองว่าการกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ไม่มีการปรับมานาน ทั้งที่มีสภาพแวดล้อมต่างๆ ปรับเปลี่ยนไปมากจากเดิม รพ.ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดารมาก แต่ปัจจุบันก็อาจจะกันดารน้อยลง ก็น่าจะปรับค่าตอบแทนให้สอดคล้อง แต่ไม่ได้ตัดออกทั้งหมด ขณะที่คนที่เคยได้รับและทำงานหนักก็อาจจะรู้สึกไม่พอใจ ตนคิดว่าเรื่องนี้ควรจะมีการพูดกันด้วยเหตุผลและข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาของทั้งสองฝ่าย คงไม่สามารถตัดสินได้ว่าขาวหรือดำ ถูกหรือผิด แต่อยู่ที่บริบทว่าจะเอาปัจจัยไหนเป็นหลักในการพิจารณา ซึ่งน่าจะยืดหยุ่นต่อรองกันได้หรือพบกันครึ่งทาง โดยมองถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนเป็นหลัก เชื่อว่าทุกฝ่ายก็มีเจตนาดีที่จะทำให้การสาธารณสุขมีความยั่งยืน

ที่มา: http://www.thairath.co.th