ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เมื่อวันที่ 18 เมษายน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ยังไม่ได้หารือกับ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ถึงการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง สปสช.กับ สธ. เพื่อพิจารณาการกระจายงบประมาณไปยังโรงพยาบาลทุกระดับทั่วประเทศ แต่เชื่อว่าวิธีการนี้ไม่ใช่การรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ เนื่องจากคณะทำงานชุดนี้เน้นในรายละเอียดของการกระจายเงินอย่างเหมาะสมของแต่ละพื้นที่

"เดิมการจ่ายเงินให้โรงพยาบาลต่างๆ นั้น สปสช.จะดูแล 2 ส่วน คือ 1.หน่วยบริการในสังกัด สธ.ร้อยละ 75 ส่วนอีกร้อยละ 25 เป็นโรงพยาบาลสังกัดโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลเอกชน โดยวิธีการจัดสรรเงินจะเป็นไปตามกติกาการพิจารณาของบอร์ด สปสช. ซึ่งในรายละเอียดมีทีมทำงานร่วมระหว่าง สปสช. กับ สธ.ในการพิจารณาตัวเลขเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมอยู่แล้ว ดังนั้น คณะทำงานชุดใหม่จึงไม่น่าแตกต่างกันมากนัก เพียงแต่จะทำในภาพใหญ่และมีรายละเอียดมากขึ้น" นพ.วินัยกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า วิธีใหม่ขัด พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่ระบุว่าให้ สปสช.จ่ายเงินกับโรงพยาบาลโดยตรงหรือไม่ เนื่องจากรูปแบบใหม่ต้องผ่าน 12 เขตบริการสุขภาพ นพ.วินัยกล่าวว่า ไม่ขัด เพราะการดึงเขตบริการสุขภาพเข้าร่วม เป็นเพียงการเสนอความคิดเห็นผ่านคณะทำงานชุดใหม่ น่าจะทำให้รู้รายละเอียดมากขึ้นว่าโรงพยาบาลระดับใดมีปัญหาทางการเงินอย่างไร

ด้าน พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.) กล่าวว่า เห็นด้วย เพราะที่ผ่านมา สปสช.บริหารจัดการงบ ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น ตั้งงบบริการโรคเฉพาะไว้มากถึง 30 กลุ่มบริการ ทำให้เกิดปัญหา เช่น โรงพยาบาลที่มีบริการโรคเฉพาะตามที่ สปสช. กำหนด ก็จะได้รับเงินมาก แต่หากไม่มีก็จะไม่ได้รับงบส่วนนี้ ทำให้เงินคงค้างอยู่ในสปสช. ทั้งๆ ที่โรงพยาบาลอีกหลายแห่งประสบปัญหาทางการเงิน

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 19 เมษายน 2556