ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

“แพทย์”...“เภสัช”…“ทันตแพทย์”...เป็น 3 วิชาชีพ หลักที่สำคัญ ที่ต้องอาศัยคนเก่งมาเรียน

นายแพทย์เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท บอกว่า คนเก่งคือคนที่มีโอกาสทางการศึกษาสูง ส่วนใหญ่เป็นคนมีฐานะมาจากในเมือง กรุงเทพฯ ปริมณฑล เสร็จแล้วสถาบันการศึกษาจะเป็นผู้คัดเลือกคน รัฐบาลจ่ายงบประมาณผลิตจนกว่าจะเรียนจบ

เรียนจบแล้วบังคับไปทำงานใช้ทุนในพื้นที่ขาดแคลนที่ไม่ค่อยมีใครอยากอยู่ โรงพยาบาลอำเภอ เมื่อเทียบกับทางเลือกที่มีอยู่...โรงพยาบาลจังหวัดก็ได้เงินเท่ากัน จะไปไหน ใครก็ต้องอยากไปในที่ที่ดีกว่า

 “ทำให้ต้องใช้วิธีการบังคับ มีสัญญาใช้ทุน 3 ปี หรือถ้าไม่ไปจ่าย 4 แสนบาท เป็นค่าใช้ทุนที่มีมาตั้งแต่ปี 2514...30 กว่าปีผ่านมาแล้วตั้งแต่ทองคำราคาบาทละ 400 บาท กระทั่งปัจจุบัน...ค่าเงินเปลี่ยนไปมากเทียบกับหมอถ้าไปอยู่ตามคลินิกโรคผิวหนัง สวย ใส เด้ง แค่ทำงานธรรมดาๆ ก็ทำรายได้ 2 แสนบาทต่อเดือนแล้ว”

ปัญหาที่เจอกันมา คือ สมองไหล การลาออกของหมอไปอยู่ในเมืองที่สุขสบายดีกว่า

รายงานสาธารณสุขไทยสะท้อนให้เห็นชัดเจน หมอโรงพยาบาลชุมชนแพทย์ต่อภาระงานมีมากกว่า หากเปรียบเทียบปริมาณงานผู้ป่วยนอก อย่างที่ย้ำอยู่เสมอว่าตัวเลขเหล่านี้มาจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งสะท้อนว่า...หมอชนบทดูแลสุขภาพประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ

น่าสนใจว่า แพทย์ชนบททั้งหมดโดยรวมมีบุคลากรแค่ร้อยละ 30 สถิติปี 2551 มีแพทย์ประจำโรงพยาบาลชุมชน 2,767 คน แต่ทำหน้าที่ดูแลประชากรถึง 74 เปอร์เซ็นต์ หรือราวๆเกือบ 40 ล้านคนทั่วประเทศ

แล้วคนกลุ่มที่ดูแลก็เป็นคนจนผู้ป่วยนอก แต่ละเดือนมีภาระงานบริการผู้ป่วยเฉลี่ย 47-48 คน ต่อแพทย์ 1 คน ขณะที่โรงพยาบาลจังหวัดดูแลแค่ 25-26 คนต่อแพทย์ 1 คน

 “แล้วมาบอกว่า หมอชนบททำงานน้อยกว่า สวนทางกับข้อมูลศึกษาวิจัยที่ออกมาจากกระทรวงสาธารณสุขค่อนข้างชัดเจน”

นายแพทย์เกรียงศักดิ์ บอกว่า หันไปดูข้อมูลผู้ป่วยใน นอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล เราดูแลคน 50 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ เพราะเรามีเตียงน้อยกว่า ขณะที่คนจนสิทธิบัตรทองเราดูแล 54 เปอร์เซ็นต์ พูดง่ายๆว่าโรงพยาบาลชุมชนเกิดขึ้นมาเพื่อดูแลคนยากคนจน

 “ถ้าไม่มีหมอ ไม่มีใครอยากมาทำงานที่โรงพยาบาลชุมชน แล้วคนยากคนจนจะเดือดร้อนไหม”

ยกตัวอย่างสิ่งที่แพทย์ชนบทปฏิบัติจริงใกล้ตัว โรงพยาบาลชุมแพ จังหวัดขอนแก่น...ดูแลคนไข้ไตวายมากกว่าโรงพยาบาลระดับจังหวัด ฟอกไตได้มากกว่า 6 เท่าตัว ทั้งๆที่โรงพยาบาลชุมแพ ไม่ใช้เงินรัฐเลย และยังทำได้ในราคา 1,500 บาทต่อครั้ง

วิธีการทำงานสู่ความสำเร็จ...ไม่ได้หยุดอยู่แค่ทำงานไปวันๆ เพื่อหวังแค่จดแต้มสร้างผลงานส่งหน่วยงานต้นสังกัด แต่บริหารจัดการด้วยการไปจ้างบริษัทเอกชนมาตั้งอุปกรณ์ทั้งระบบ โดยที่ไม่ต้องลงทุนซักบาท

นายแพทย์เกรียงศักดิ์ บอกตรงๆว่า ราคาต้นทุนจริงๆ เราทำได้ไม่ถึงครั้งละ 1,000 บาท ผ่านมาถึงวันนี้เปิดมาได้ 14 เตียง ทำให้คนไข้ 50 กว่าคนมาจากที่ต่างๆ ไม่ต้องเดินทางไกลไปโรงพยาบาลจังหวัดเสียค่ารถไปกลับอาทิตย์ละ 2 รอบ...เสียเงินครั้งละ 3,000 บาท

 “มาที่ชุมแพไม่ต้องจ่ายเพิ่ม บรรยากาศดีกว่า ทำให้คนไข้ไม่ต้องตาย วันนี้มีคนไข้ขึ้นทะเบียนไว้กว่า 100 คน แต่หมอยังดูแลไม่ไหว เพราะมีแค่คนเดียว ต้องการบริการอย่างมีคุณภาพ”

รายละเอียดการรักษาอื่นๆ การดูแลทำคลอด ทั้งที่มีเสียงบอกว่าเราไม่ทำคลอด แต่เราก็ยังทำ... 56 คนต่อแพทย์ 1 คนต่อปี รักษาต้อกระจกก็พยายามทำด้วยการเปิดความร่วมมือ...ผ่าตัดไส้ติ่งไม่ทำเพราะถูกสั่งให้ไม่ทำ นับตั้งแต่กรณีคดีร่อนพิบูลย์ บีบโรงพยาบาลห้ามผ่า ถ้าไม่มีหมอดมยา หากเกิดอะไรขึ้นแพทยสภาจะไม่ช่วยเหลือ

“จะเห็นว่าเรากลัว…แต่ก็พยายามทำ แม้ว่าจะทำได้น้อยรักษาคนไข้ได้น้อยก็ตามที”

วันนี้...บรรยากาศระบบบริการสุขภาพสาธารณสุขไทยดูเหมือนว่าจะถูกปกคลุมด้วยระบบทุนนิยมข้ามชาติไปกันหมด ทั้งๆที่การบริหารจัดการช่วยได้ ทำให้การบริการสุขภาพบริการได้อย่างมีคุณภาพ เกิดประสิทธิภาพและประหยัดงบประมาณรัฐที่ต้องจ่ายได้

 “เรียกว่าไม่มีงบ ไม่มีทุน แต่ถ้าบริหารจัดการดีๆ ก็ช่วยสร้างระบบบริการสุขภาพที่ดีให้กับประชาชน คนยากคนจนได้...ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับว่าจะทำหรือเปล่า”

อีกกรณีที่น่าสนใจและเป็นเรื่องสำคัญต่อชีวิตคน การปรับระบบผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉิน เส้นเลือดสมองอุดตัน ถ้าเริ่มอุดตันเมื่อไหร่แล้วรักษาไม่ทันใน 3 ชั่วโมง จะเป็นอัมพาตและเสียชีวิต

วันนี้การแพทย์เจริญขึ้นมาก หากพบว่าถ้าภายใน 3 ชั่วโมงฉีดยาละลายลิ่มเลือดได้...คนไข้คนนี้จะหาย 2 วันกลับบ้านได้ แล้วถ้าไม่ได้จริงๆ อย่างน้อยๆก็ควรมีมาตรฐานการรักษาที่ดี เปิดประตูเข้ามาถึงห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาล จนถึงเข็มฉีดยาละลายลิ่มเลือด ต้องผ่านการวินิจฉัยก่อน

ถ้าทำได้ภายใน 56 นาที ถือว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐานโลก

โรงพยาบาลชุมแพ ทำเวลาเฉลี่ยได้ 55 นาที ช่วงหลังๆทำได้ 30 กว่านาทีเท่านั้น เป็นความเร็วติดอันดับสองในประเทศไทย ภายในระยะเวลา 6 เดือนช่วยคนไข้ได้ 23 คน จาก 24 คน ทำให้ไม่ต้องเป็นอัมพฤกษ์

 “ในอดีตที่ผ่านมา...เราสูญเสียโดยไม่จำเป็น เพราะเวลาในการเดินทาง เข้าถึงระบบการวินิจฉัย กระบวนการรักษาผู้ป่วย”

เส้นทางชีวิตแพทย์ชนบท หมอบางคนได้เลือกและตั้งใจจริงเอาไว้แล้วด้วยหัวใจโดยที่ไม่ได้หวังเงินทอง หรือเรียนหมอมาเพื่อหวังความร่ำรวย สำหรับ “P4P” หรือ Pay-for-Performance ที่จะนำมาปรับใช้แทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายระบบเดิม นายแพทย์เกรียงศักดิ์ บอกว่า พีโฟว์พี...ด้านบวกมีหลายด้าน หากใช้ในแง่เป็นเงินเสริม

 “หมอชนบทที่อยู่อย่างจำกัดจำเขี่ย...สมมติว่าเดิมมีอาวุธปืนอยู่แล้ว รัฐก็ควรติดเครื่องช็อตไฟฟ้าให้ สำหรับด้านลบมีเยอะแยะ...ภาระในการเก็บข้อมูล เย็บกี่แผล เช็ดตัวอย่างไร เย็บแล้ว...วันนี้ตัดไหม หากขูดหินปูนกี่ซี่ก็ว่ากันไป ถ้าเก็บแต้มก็ลงบันทึกไป 32 ซี่...จริงไม่จริง ไม่มีใครรู้”

 “P4P” จะทำให้บุคลากรเลือกปฏิบัติในอะไรที่มีน้ำหนัก มีคะแนนหรือได้เงิน ต่างประเทศวิจัยออกมาแล้วว่า งานไม่มีคะแนนจะถูกละเลย เช่น งานส่งเสริมสุขภาพ แนะนำ ผลระยะยาวจะทำให้ทัศนคติบุคลากรรัฐที่เป็นมืออาชีพเปลี่ยนไปคำนึงถึงผลประโยชน์มากขึ้น

ปัญหามีว่า...งานบริการสุขภาพจะใช้ปริมาณงานมาวัดอย่างเดียวไม่ได้ หากบอกว่าหมอขี้เกียจรักษาได้น้อย แต่ถ้าหมอคนนี้เป็นหมอที่ชอบคุย ซักคนไข้ละเอียด ตรวจละเอียด ไม่ได้เบี้ยวงาน ทำงานเท่าปกติ ก็เหมาะกับคนไข้ที่พูดยากๆ หรือมีปัญหากับโรงพยาบาล...ต้องอาศัยหมอที่แนะนำ ตรวจเยอะๆ

ถ้าจะวัดผลงาน เก็บแต้มชี้ความขยัน แน่นอนว่าหมอขยันควรจะได้เงินมากกว่า แต่นั่นเป็นการคิดแบบเครื่องจักร ในโรงงาน... “ไม่แน่ใจว่าแม่ทัพแบบไหน...บั่นทอนกำลังใจพลทหารที่รบในแนวหน้า แทนที่จะให้กำลังใจ กลับตัดเสบียงบำรุงกำลังอีกด้วยซ้ำ” นายแพทย์เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ฝากทิ้งท้าย

ที่มา: นสพ.ไทยรัฐ วันที่ 20 เมษายน 2556