ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

หากท่านผู้อ่านได้ติดตามข่าวการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ ของรัฐบาลไทยกับต่างประเทศในช่วงนี้ ก็คงจะได้ยินข่าวการเริ่มกระบวนการเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป หรือ อียู ที่ได้มีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการระหว่างที่นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินทางเยือนยุโรปเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ขณะนี้ รัฐบาลได้แต่งตั้ง ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ประธานผู้แทนการค้าไทย เป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย มีกระทรวงพาณิชย์ กระ ทรวงการต่างประเทศ และส่วนราช การกับภาคเอกชนให้การสนับสนุน โดยหวังเร่งให้การเจรจาสำเร็จโดยเร็ว เพราะเมื่อดูจากประสบการณ์ของเพื่อนบ้านเราอย่างสิงคโปร์ ที่ยังใช้เวลาเจรจาเอฟทีเอกับอียูเกือบ2 ปี ขณะที่ประเทศอาเซียนอื่นๆ ก็เร่งแข่งขันเจรจากับอียูกันจริงจัง ทั้งมาเลเซียและเวียดนามได้เริ่มการเจรจาไปแล้ว ขณะที่ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียกำลังตามมาติดๆ

อินเดีย ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งในละแวกบ้านเราที่มีประสบการณ์การเจรจาเอฟทีเอกับอียูที่น่าสนใจ เพราะมีความใกล้เคียงกับประเทศไทยในหลายด้าน ทั้งในแง่การเป็นประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว และมีระบบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย ตลอดจนภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง จึงเป็นกรณีศึกษาสำหรับประเทศไทยได้เป็นอย่างดี โดยยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียใต้ ใช้เวลาเจรจากับอียูมาเกือบ 6 ปี จนบัดนี้ยังไม่สำเร็จลุล่วง

สิ่งที่ทำให้อินเดียและอียูยังต่อกันไม่ติด คือความไม่เต็มใจในการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนระหว่างกันเต็มที่ ทั้ง 2 ฝ่ายยังแทงกั๊กในประเด็นยิบย่อย ฝ่ายอินเดียต้องการให้ยุโรปเปิดเสรีตลาดบริการด้านไอที ให้นักไอทีอินเดียเข้าไปหางานในยุโรปได้ง่ายขึ้น และให้ปรับสถานะอินเดียเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยทางข้อมูล (data secure) เพื่อให้อินเดียสามารถทำธุรกิจ IT outsourcing ได้ตามกฎหมายยุโรป

ด้านอียูก็ใช่ย่อย เรียกร้องให้อินเดียลดภาษีนำเข้ารถยนต์ (ข้อเรียกร้องของบริษัทรถยนต์รายใหญ่ในเยอรมนี) และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดจนขอให้อินเดียเพิ่มสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติในสาขาประกันภัยในอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่มหึมา จาก26% เป็น 49% และตั้งข้อแม้ให้อียูสามารถจัดการกับยาที่ผลิตในอินเดียโดยละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้ สองประเด็นหลังเป็นประเด็นใหญ่ที่พัวพันการเมืองภายในอินเดีย มีหลายฝ่ายออกมาต่อต้าน ทั้งในและนอกสภา

ขณะนี้อียูเริ่มส่งสัญญาณว่าการเจรจาเอฟทีเอกับอินเดียกำลังเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะอียูเตรียมที่จะเข้าสู่การเจรจาเอฟทีทั้งกับสหรัฐฯและญี่ปุ่น เศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของโลก ซึ่งคงจะทำให้อียูต้องหันไปให้ความสำคัญกับ 2 ประเทศนี้มากกว่า หากอินเดียและอียูยังตกลงกันไม่ได้ตอนนี้

รัฐบาล UPA ของอินเดีย (นำโดยพรรคคองเกรส) ก็เห็นท่าไม่ดี หวั่นหากเลยปีนี้ไป อินเดียก็จะเข้าสู่ช่วงการเลือกตั้งทั่วไปที่มีกำหนดต้นปีหน้า (2557) รัฐบาลจะขยับแข้งขยับขาลำบากขึ้น เพราะประเด็นที่เจรจาในเอฟทีเอหลายประเด็น อาจถูกเอาไปใช้เล่นการ เมือง สร้างความเสียหายต่อคะแนนเสียงของพรรครัฐบาลได้ง่ายๆ เลยต้องเดินหน้าเต็มสูบพยายามเจรจาให้เสร็จภายในปีนี้

เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน นายมานโมฮัน ซิงห์ นายกรัฐมนตรีอินเดีย ถึงกับบินลัดฟ้าไปแดนอินทรีเหล็กเยอรมนี เพื่อล็อบบี้นางอันเกลา แมร์เคิล พี่เบิ้มแห่งสหภาพยุโรปให้ช่วยผลักดันอีกทางหนึ่ง ก่อนส่ง รมว.พาณิชย์ เจรจาอีกรอบกับคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งมีอำนาจเจรจาแทนประเทศสมาชิกอียูทั้ง 27 ประเทศ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

เมื่อลองพินิจพิเคราะห์การเจรจาเอฟทีเออินเดีย-อียู ก็คงจะพอทำให้เห็นภาพว่า อียูจะมาแนวไหนในการเจรจากับไทย เพราะอียูก็คงใช้มาตร ฐานไม่ต่างกันมาก ประเด็นเรื่องสิทธิบัตรยาสามัญ (generic drugs) ซึ่งเป็นประเด็นที่ฝ่ายอียูให้ความสำคัญยิ่ง ผู้เจรจาฝ่ายไทยคงต้องติดตามเรียนรู้วิธีการป้องกันผลประโยชน์ของอินเดียในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

ความละเอียดอ่อนของการเมืองไทยก็อาจมีนัยสำคัญมากกว่าของอินเดียด้วยซ้ำ ดังนั้น ความสำเร็จของเอฟทีเอไทย-อียู คงขึ้นอยู่กับความจริงจังและจริงใจของทุกฝ่ายที่จะเห็นเอฟทีเอนี้เป็นประโยชน์กับประเทศมากที่สุด เพราะการจะให้ทุกฝ่ายพอใจหมดคงเป็นไปได้ยากที่สำคัญคือความโปร่งใส การมีโอกาสรับรู้ที่มาที่ไปของประเด็นต่างๆ การไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง และการไม่นำการเมืองภายในมาบั่นทอนผลสำเร็จที่ไทยจะได้รับจากการเจรจา

ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 21 - 24 เม.ย. 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง