ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

มาตรการผลักดันให้ "สังคมไทยไร้แร่ใยหิน" ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2555 เห็นชอบแนวทางของ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 เสนอให้ ยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหิน

เนื่องจากมีผลการศึกษาของไทยและต่างประเทศชัดเจนว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค ชุมชน และผู้ใช้แรงงาน

แร่ใยหินเป็นส่วนประกอบของวัสดุก่อสร้างหลายอย่าง อาทิ กระเบื้องทนไฟ, กระเบื้องมุงหลังคา, ท่อซีเมนต์, เบรก, คลัตช์, ฉนวนกันความร้อน, กระเบื้องยางปูพื้น, ภาชนะพลาสติก, กระดาษลูกฟูก ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันผู้ผลิตไทยรายใหญ่ เช่น กลุ่มเอสซีจี ฯลฯ ล้วนมีนวัตกรรมล้ำหน้าที่ใช้สารทดแทนแร่ใยหิน ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคได้หมดแล้ว เหลือเพียงกลุ่มบริษัทเดียวที่ยังคงผลิตกระเบื้องหลังคาที่ยังมีแร่ใยหิน

ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 5 ของผู้นำเข้าแร่ใยหินของโลก โดยตัวเลขการนำเข้าแร่ใยหินช่วงปี 2553-2554 สูงถึง ปีละ 8 หมื่นตัน และหากย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น ปรากฏว่ามีการนำเข้าถึงกว่า 1 แสนตัน

ปัญหาก็คือ แม้มติ ครม.จะรักษาประโยชน์ผู้บริโภคอย่างไร แต่ยังมีความพยายามขัดขวางด้วยวิธีต่างๆ นานา เพื่อให้ยืดระยะเวลาการแบนออกไปอีกอย่างน้อย 5 ปี กดดันผ่านหน่วยงานรัฐทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมเปิดสงครามข้อมูลข่าวสารเต็มรูปแบบ กลายเป็นเกมผลประโยชน์ทางอุตสาหกรรม ที่ใช้ผู้บริโภคเป็นเดิมพัน

ปัจจุบันมีเพียง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เท่านั้น ที่ทำหน้าที่ในการดูแลผลประโยชน์ของผู้บริโภค ด้วยการออกประกาศให้สินค้าที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินเป็น "สินค้าที่ควบคุมฉลาก" จำนวน 2 ฉบับ โดยเฉพาะประกาศ สคบ.ฉบับที่ 2 เมื่อปี 2553 กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหิน ต้องระบุในฉลากว่า "ระวังอันตรายสินค้านี้มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบการได้รับสารนี้เข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เกิดมะเร็งและโรคปอด"

ประกาศ สคบ.ดังกล่าว ได้ถูกผู้ประกอบการ 3 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท กระเบื้องโอฬาร จำกัด บริษัท โอฬารกระเบื้องซีเมนต์ จำกัด และ บริษัท กฤษณ์ไฟเบอร์ซีเมนต์ จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตที่ยังคงมีการใช้แร่ใยหิน ยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขแดง ที่ 1299/2555 เพื่อขอให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ก.ค.2555 ให้ "ยกฟ้อง" เนื่องจาก 1. การออกประกาศดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ไม่เป็นการกระทำที่ซ้ำหรือขัดกับ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 เนื่องจากได้มีการหารือประเด็นข้อกฎหมายกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว 2. การออกประกาศมีการรับฟังข้อมูลทางวิชาการ ตลอดจนข้อเท็จจริงจากนักวิชาการ องค์การอนามัยโลก (WHO) และจากรายงานทางการแพทย์ที่พบผู้ป่วยเสียชีวิตจากการเป็นมะเร็งเยื่อหุ้มปอดนั้น เมื่อดูประวัติย้อนหลังพบว่าเคยทำงานในโรงงานผลิตกระเบื้องมาเป็นระยะเวลานาน และมีหลักฐานว่าผู้ป่วยได้รับสารก่อมะเร็ง 3. ข้อความและคำเตือนนั้น เพื่อมุ่งคุ้มครองผู้บริโภคที่ใช้สินค้าหรือมีความเกี่ยวข้องกับตัวสินค้า ไม่ได้มีเจตนาที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสินค้า จึงถือว่าทำให้ผู้ประกอบการสูญเสียโอกาสในการแข่งขัน

การดิ้นรน-ต่อรองจากกลุ่มที่เสียผลประโยชน์ก็คือ กรณีประเทศ รัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกแร่ใยหินรายใหญ่มายังผู้ผลิตกระเบื้องในประเทศไทย ทำหนังสือเตือนถึงรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า หากประเทศไทยยกเลิกใช้แร่ใยหิน จะกระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อ "ลาก" มตินี้ออกไปให้ไกลที่สุด

ที่น่าจับตามองคือในวันที่ 27-29 เม.ย.นี้ ผู้แทนคณะรัฐบาลไทย นำโดย กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี พร้อมผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ จะเดินทางไปยังประเทศรัสเซีย เพื่อเปิดโต๊ะเจรจาส่งเสริมค้าระหว่างประเทศ ซึ่งหลายฝ่ายกำลังตั้งข้อสังเกตว่า จะมีความพยายามล็อบบี้จากฝ่ายรัสเซียเพื่อยัดไส้วาระ บีบบังคับให้ไทยนำเข้าแร่ใยหินต่อไป

ล่าสุด สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจาการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย พร้อมเครือข่ายสังคมไทยไร้แร่ใยหิน (T-BAN) ต้องออกโรงรวมพลังชุมนุมคัดค้านหน้ากรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อยื่นหนังสือต่อ นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพจากแร่ใยหิน เมื่อวันที่ 17 เม.ย.2556 เนื่องจากมีข่าวแว่วออกมาว่าคณะกรรมการฯ ชุดนี้ เตรียมจะไฟเขียวให้ใช้แร่ใยหินได้ต่อไป โดยอ้างว่าเพราะหลักฐานการเสียชีวิตของคนไทยไม่เพียงพอที่จะสั่งแบน ท่ามกลางข้อกังขาของสังคม???

ศ.ดร.นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล ฝ่ายวิชาการ สมาพันธ์อาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน อธิบายว่า สาเหตุหลักที่มติ ครม.ยังไม่บรรลุ เนื่องด้วยหน่วยงานรัฐเอง ยังขาดการเดินหน้าตามมติครม.ดังกล่าว โดยเฉพาะกระทรวงอุตสาหกรรม

"อำนาจการประกาศแร่ใยหินให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 อยู่ที่กระทรวงอุตสาหกรรม จากนั้นกระทรวงพาณิชย์ต้องประกาศห้ามนำเข้า แต่ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมกลับซื้อเวลา ด้วยการให้นักวิชาการของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชทำการศึกษา" นพ.พรชัย ระบุ

ผศ.พญ.พิชญา พรรคทองสุข คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ไม่เข้าใจว่าเหตุใดจะต้องปล่อยให้มีคนไทยตายจากแร่ใยหินก่อน จึงจะตัดสินใจยกเลิกนำเข้าและผลิตสินค้าที่มีส่วนประกอบแร่ใยหิน เพราะในทางวิชาการแล้ว ประเทศกำลังพัฒนาจะนำข้อมูลที่ผ่านการศึกษาอย่างเป็นสากลของประเทศพัฒนาแล้วมาอ้างอิง เพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย ตรงกันข้ามหากต้องการศึกษาข้อมูลเอง รัฐบาลต้องมีความชัดเจนและสนับสนุนทั้งเทคโนโลยี งบประมาณ และองค์ความรู้ ซึ่งต้องใช้เวลานานมาก

อีกทั้ง ภายในปี 2558 จะเปิดประชาคมอาเซียน ประเทศไทยอาจเสียประโยชน์ด้านการค้า เนื่องจากในหลายประเทศเลิกใช้แร่ใยหินแล้ว ประเทศเหล่านั้นจะไม่มีความมั่นใจว่ากระเบื้องจากประเทศไทยปลอดแร่ใยหิน เพราะยังคงมีบริษัทขนาดใหญ่ที่ใช้เร่ใยหินอยู่ แม้จะมีมติ ครม. ให้ยกเลิกแล้วก็ตาม

สุดท้ายต้องจับตาว่า ผลประโยชน์ด้านสุขภาพของคนไทยจะตกอยู่ในสถานการณ์ใด เมื่อหน่วยงานภาครัฐดูจะมุ่งมั่นปกป้องผลประโยชน์ธุรกิจหมื่นล้าน มากกว่าปกป้องสุขภาพของผู้บริโภคอย่างจริงใจ???

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 21 เมษายน 2556