ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

อภ.เคราะห์ซ้ำกรรมซัด โฆษก สปสช.แฉสั่งยาโรคหัวใจ จำนวนกว่า 10 ล้านบาท มาขายให้ สปสช. แต่เป็นยามาจากบริษัทที่ไม่ได้ทำซีแอลยา ทำให้ติดขัดข้อกฎหมาย จนต้องปล่อยค้างสต็อกไว้นานจนใกล้หมดอายุ และเพิ่งมีมติขายให้โครงการบัตรทอง หนึ่งในบอร์ด อภ.ระบุ เห็นควรทบทวนสืบหาข้อเท็จจริง

เมื่อวันที่ 21 เม.ย. ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงการจัดซื้อยาโรคหัวใจซึ่งเป็นยาที่มีการทำซีแอล ว่า ยาตัวนี้จะช่วยยับยั้งการแข็งตัวของเลือด ใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ เช่น ผู้ป่วยที่ต้องใส่โครงลวดค้ำยันหลอดเลือด (สเต็นท์) ต้องกินยาเพื่อป้องกันไม่ให้เลือดแข็งตัว ซึ่งจากเดิมยาดังกล่าวมีราคาเม็ดละ 70 บาท ในอดีตจึงต้องมีการทำซีแอลยา ตามกติกาต้องซื้อจากบริษัทที่ทำซีแอลไว้ ซึ่งเป็นบริษัทในประเทศอินเดีย โดยมีองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้ซื้อยาให้กับ สปสช. และ สปสช.ซื้อจาก อภ.อีกต่อหนึ่ง ทำอย่างนี้เรื่อยมา แต่ทำสัญญากันปีต่อปี ในปี 2555 สั่งไปประมาณ 140,000 กล่อง 1 กล่องจะมี 100 เม็ด วงเงินประมาณ 15 ล้านบาท และปีนี้ยอดสั่งซื้อประมาณ 12-13 ล้านบาท

ทพ.อรรถพรกล่าวต่อว่า เมื่อมีการสั่งยาเข้ามา ได้ส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบคุณภาพก่อน บังเอิญว่ามีอยู่ 1 ล็อตที่ อภ.สั่งมาคุณภาพไม่ได้ก็ตีคืน บริษัทจึงส่งของมาให้ไม่ทัน พอไม่ทันยาจะขาดตลาด ดังนั้น เพื่อความมั่นใจ อภ.จึงไปต่อรองยาโรคหัวใจจากบริษัทแห่งหนึ่งในประเทศไทย ซึ่งเป็นของเลียนแบบเหมือนกันและได้คุณภาพ นำเข้าจากประเทศแคนาดา แต่ไม่ใช่บริษัทที่ทำซีแอลไว้ ฝ่ายกฎหมายของ อภ.ก็เลยเตือนว่า หากขายไปน่าจะผิดกฎหมายเพราะไม่ได้ทำซีแอลกับบริษัทนี้ แม้จะมีเหตุผลกลัวว่ายาไม่พอใช้ก็ตาม ดังนั้น ยาล็อตนี้จึงกองอยู่ที่ อภ.

 “ทาง สปสช.อยากซื้อแต่ อภ.ไม่กล้าขายให้ ยาก็ค้างไว้เป็นอย่างนี้เรื่อยมา จนเหลือประมาณ 6-7 เดือนยาจะหมดอายุ ที่ไปที่มาเรื่องเป็นอย่างนี้ ไม่มีใครทุจริต เพียงแต่มันเกิดความผิดพลาดทางด้านเทคนิคขึ้นมา ส่วนข้อสรุปจะเป็นอย่างไรคงต้องถาม อภ.ว่า สุดท้ายมีการตัดสินใจเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งมูลค่าไม่น่าจะเยอะ” ทพ.อรรถพรกล่าว

ด้าน นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะกรรมการ อภ. กล่าวว่า เรื่องยาโรคหัวใจเคยนำเข้าหารือในคณะกรรมการซีเอสอาร์ อภ. ว่าจะบริจาคดีหรือไม่ แต่ตนไม่เห็นด้วย เพราะเป็นยาที่ซื้อมาประมาณ 10 ล้านบาท จู่ๆ จะมาบริจาค จึงขอให้นำเข้าคณะกรรมการบริหาร อภ. ที่มี นพ.สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ เป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวก็ไม่เห็นด้วย แต่ไม่รู้ว่าจู่ๆ นำเข้าบอร์ด อภ.ได้อย่างไร และบอร์ด อภ.มีมติขายให้กับ สปสช.ได้ เนื่องจากไม่ได้มีประเด็นข้อกฎหมายแล้ว

 “ความจริงยาดังกล่าวมีทั้งชนิดที่มีสิทธิบัตร และไม่มีสิทธิบัตร โดยชนิดที่ อภ.ซื้อจากบริษัทแห่งหนึ่งในประเทศไทยนั้น อาจเข้าใจว่าเป็นยาที่ติดสิทธิบัตร เรื่องนี้บอร์ด อภ.หลายคนก็เสนอว่าควรตั้งกรรมการทบทวนดูว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ทำไมซื้อมาเป็นปี ซื้อมาแล้วไม่ขาย” เลขาธิการ อย.กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 22 เมษายน 2556