ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ชมรมแพทย์ชนบท-เครือข่ายผู้ป่วยฯ ชุมนุมขับไล่'นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์'พ้นตำแหน่ง ลั่นพร้อมเจรจาหากยกเลิก'พีฟอร์พี' ด้านปลัด สธ.เร่งเดินสายทำความเข้าใจทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 24 เมษายน ตัวแทนชมรมแพทย์ชนบท ชมรมเภสัชกรชนบท เครือข่ายผู้ป่วยโรคเอดส์ โรคไต โรคหัวใจ โรคมะเร็งและเครือข่ายมิตรภาพบำบัด เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม ประมาณ 300 คน แต่งชุดดำชุมนุมที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ขับไล่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการ สธ. ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากไม่พอใจในหลายนโยบายที่อยู่ภายใต้การนำของ นพ.ประดิษฐ ทั้งนโยบายปรับเกณฑ์ค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ที่ผสมผสานระหว่างเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายกับประเมินตามภารกิจงาน หรือ พีฟอร์พี ความผิดปกติในการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องตรวจวัดปริมาณน้ำตาล การตรวจสอบองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ทั้งนี้ นายกมล บันไดเพชร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ สธ.ได้พยายามเชิญตัวแทนผู้ชุมนุมเข้าหารือ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมกลับยื่นข้อเสนอว่าจะเจรจาเมื่อ 1.มีการยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องการปรับเกณฑ์ค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย และ 2.ให้ สธ.นำประกาศหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทน ฉบับ 4 และ ฉบับ 6 กลับมาใช้เท่านั้น ในที่สุดจึงไม่มีการเจรจาแต่อย่างใด

นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช ให้สัมภาษณ์ว่า การชุมนุมในครั้งนี้ไม่ได้ทำเพื่อยื่นเงื่อนไขหรือข้อเสนอใดๆ ต่อผู้บริหาร สธ. แต่ต้องการแสดงให้เห็นว่าบุคลากรในโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ไม่เห็นด้วยกับหลายนโยบาย ของ สธ.

"ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายพีฟอร์พี หรือใน ปี 2557 ที่ สธ.จะให้ผู้ตรวจราชการทั้ง 12 เขต เป็นผู้จัดสรรงบประมาณแทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งแม้จะยืนยันว่ามีผู้เทนจาก สปสช.ร่วมพิจารณาเพื่อความรอบคอบ แต่ถ้าปล่อยให้มีการแทรกแซงแบบนี้ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. ก็ควรลาออก ส่วนกรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือด ถือเป็นความพยายามทุจริต ที่สำเร็จแล้ว เพราะ จ.อ่างทอง จ.อำนาจเจริญ จัดซื้อไปแล้ว ดังนั้น กลุ่มแพทย์ชนบทจะ ยื่นหนังสือให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบเรื่องนี้ รวมถึงเรื่องทุจริตอื่นๆ ด้วย" นพ.อารักษ์กล่าว

ด้าน นพ.ประดิษฐกล่าวว่า ได้พยายามอย่างถึงที่สุดแล้วที่จะเปิดให้ทุกฝ่ายมีการหารือร่วมกัน แต่ไม่เป็นผล และว่า ไม่สามารถรับข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุมได้ เพราะเป็นข้อเสนอที่ให้ล้มหลักการ ส่วนปัญหาการจัดซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลนั้น จะให้ปลัด สธ.ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. กล่าวถึงการจ่ายค่าตอบแทนแบบพีฟอร์พีว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม ทั้งนี้ ครม.มีความห่วงใยในเรื่องดังกล่าว จึงให้ผู้บริหาร สธ. เร่งทำความเข้าใจ โดยมอบหมายให้ผู้ตรวจราชการและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) เร่งทำความเข้าใจ และภายในเดือนพฤษภาคมนี้ จะมีการประชุมชี้แจงในรายละเอียดทั่วประเทศ

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 25 เมษายน 2556