ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

การเจรจา "ม็อบหมอ" ล่ม "ประดิษฐ" ไม่ยอมคุย หลังแพทย์ชนบทยื่นข้อเรียกร้องให้ยกเลิกระเบียบ P4P รมว.สธ.ยันไม่ยกเลิกแน่ ย้อนแพทย์ชนบทมีความสามารถทำไมไม่มาตรวจสอบทุจริตด้วยกัน ด้าน"กรรณิการ์" ฉุน เลขาฯ รมว.จี้เอาเทปมายันไม่ได้ใส่ร้าย อภ. กระชากไมค์ออกจากมือ จี้ขอโทษสื่อ เหตุโยนบาปลงข่าวไม่ถูกต้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มผู้ชุมนุมเครือข่ายองค์กรวิชาชีพแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล พร้อมด้วยเครือข่ายภาคประชาชน และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม ประมาณ 500 คน มาชุมนุมหน้าที่อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.) พร้อมด้วยรถขยายเสียงปราศรัยโจมตีขับไล่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) โดยมีแกนนำคนสำคัญ อาทิ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท, นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช, น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, นายนิมิตร์ เทียนอุดม เลขาธิการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.เมืองนนทบุรีทั้งในและนอกเครื่องแบบประมาณ 150 คนมาดูแลความเรียบร้อย

นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.รพ.สิชล จ.นครศรี ธรรมราช อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า การรวมตัวของกลุ่มเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และวิชาชีพสาธารณสุขในพื้นที่ชนบทและกลุ่มองค์กรต่างๆ ในวันนี้ เนื่องจากทุกฝ่ายต้องการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน เพื่อต่อสู้และต่อต้านการทำลายระบบสุขภาพ ภายใต้การบริหารงานของ นพ.ประดิษฐ ซึ่งในส่วนของชมรมแพทย์ชนบทนั้น ในวันนี้ได้ก้าวข้ามประเด็น  P4P ไปแล้ว แต่จะหันมารวบรวมข้อมูลเพื่อเปิดโปงการทุจริตทั้งโดยตรงและทุจริตเชิงนโยบาย  โดยเฉพาะการรวบอำนาจเพื่อจัดสรรเงินจากส่วนกลางลงไปให้ซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ เช่น การซื้อเครื่องตรวจเบาหวานให้กับกลุ่ม อสม. โดยเป็นโครงการของกรมสนับสนุนบริการทางการแพทย์ งบประมาณตั้งราคาไว้เครื่องละ 1,800 บาท รวมวงเงินร้อยกว่าล้านบาท ทั้งที่ปกติทุกวันที่ตาม รพ.ต่างๆ ไม่จำเป็นต้องซื้อเครื่องดังกล่าว ซื้อเพียงแถบตรวจวัดเท่านั้น ในราคาแถบละ 7 บาท แถมเครื่องตรวจ ไม่มีความจำเป็นต้องซื้อ จึงถือเป็นเรื่องทุจริต อีกทั้ง อสม.ไม่สามารถเจาะเลือดผู้อื่นได้ แต่ สธ.ก็ยังคงดำเนินการดังกล่าว ซึ่งขณะนี้มี รพ.ใน จ.อ่างทองและอำนาจเจริญทำการสั่งซื้อเรียบร้อยแล้ว

เวลา 11.00 น. ทางกลุ่มผู้ชุมนุมได้พยายามพูดผ่านไมโครโฟนเพื่อเรียกให้ นพ.ประดิษฐ รมว.สธ. นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. ลงมาเจรจาที่ใต้ถุนอาคารสำนักงานปลัด สธ. กระทั่งนายกมล บันไดเพชร เลขานุการ รมว.สธ. ได้ลงไปชี้แจงกับกลุ่มผู้ชุมนุมว่า อภ.มีปัญหาหมักหมมหลายเรื่อง เพื่อให้เกิดความโปร่งใส จึงได้ยืนเรื่องให้ดีเอสไอเป็นผู้ตรวจสอบกรณีโรงงานวัคซีนและการสำรองวัตถุดิบพาราเซตามอล เพราะเห็นว่าเป็นคนนอก เป็นหน่วยงานกลาง อีกทั้งที่ผ่านมาได้มีการขอข้อมูลไปยัง อภ.แล้ว แต่ไม่ได้รับการชี้แจง หากมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเอง ผลที่ออกมาอาจไม่ได้รับความเชื่อถือ

"ทางสหภาพฯ รู้หรือไม่ว่าตอนนี้โรงงานยาเอดส์ยังสร้างไม่เสร็จเลย ทั้งที่ควรจะผลิตยาออกมาแล้ว การตรวจสอบก็เพื่อเร่งรัดให้มีการผลิตให้ได้ ดูว่าปัญหาอยู่ตรงไหน ส่วนกรณีที่มีข่าวออกไปว่ากรณีวัตถุดิบยาพาราเซตามอลเรื่องการปลอมปนนั้น ผมยืนยันว่าไม่เคยพูด สามารถเอาเทปมาดูได้" นายกมลกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นายกมลชี้แจงอยู่นั้น ได้มีเสียงโห่ร้องออกมาเป็นระยะ จนกระทั่ง น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ คว้าไมค์จากมือของนายกมลไป และกล่าวว่า ในฐานะที่เคยเป็นนักข่าวมาก่อน ไม่ควรโยนความผิดให้นักข่าว ดังนั้นควรขอโทษนักข่าว เพราะสื่อมวลชนลงชัดเจน อย่างไรก็ตาม ก่อนเหตุการณ์จะบานปลาย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มาพาตัวนาย กมลออกจากกลุ่มผู้ชุมนุม

ต่อมาเมื่อเวลา 13.00 น. นพ.ประดิษฐ รมว.สธ. พร้อมด้วย นายกมล, นพ.ณรงค์, นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัด สธ., นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานบอร์ด อภ. พร้อมด้วยผู้บริหาร สธ. นั่งโต๊ะแถลงกับผู้สื่อข่าวว่า ได้ส่งผู้แทนไปเชิญกลุ่มผู้ชุมนุมมาร่วมเจรจาในห้องประชุมชั้น 2 ซึ่งเป็นสถานที่ที่เหมาะสมมากกว่า แต่เนื่องจากทางกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องกลับมาว่าจะเข้าร่วมการเจรจาก็ต่อเมื่อตนยอมรับ และทำตามข้อเสนอ 2 ข้อคือ ยกเลิกมติ ครม.เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา เรื่องการใช้ระเบียบค่าตอบแทนฉบับ 8, 9 และให้กลับมาใช้ระเบียบการจ่ายเงินค่าตอบแทนฉบับที่ 4, 6 เช่นเดิม

ทั้งนี้ ถือเป็นข้อเรียกร้องที่ตนไม่สามารถจะทำตามได้ เนื่องจากต้องการคุยในเรื่องของรายละเอียดการปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว ไม่ใช่การคุยเรื่องหลักการ เพราะฉะนั้นวันนี้จึงไม่มีการเจรจาเกิดขึ้น ส่วนตนและผู้บริหารคงไม่สามารถพูดหรือทำอะไรได้มากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาแพทย์ชนบทมีชื่อเสียงเรื่องการตรวจสอบการทุจริตของ สธ. เพราะฉะนั้นถ้านำความสามารถเรื่องนี้มาช่วยแก้ปัญหากัน เอาข้อมูลที่มีมายืนยัน มาร่วมกันตรวจสอบทุจริตจะดีกว่า

นพ.ประดิษฐกล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องเครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ที่มีบางพื้นที่จัดซื้อไปแล้วนั้น ต้องถามปลัด สธ. ต้องมาดูรายละเอียดการจัดซื้อว่าเป็นอย่างไร ถ้าทุจริตก็ต้องเดินหน้าต่อ ผู้ที่ชุมนุมอยู่ขณะนี้จะร่วมตรวจสอบด้วยก็ได้ แต่เรื่องการซื้อขายไม่ได้แปลว่าเป็นการทุจริต

ด้าน นพ.ณรงค์กล่าวว่า ภายหลังประกาศใช้ระเบียบค่าตอบแทนฉบับดังกล่าวแล้ว ได้เปิดโอกาสให้แต่ละ รพ.ส่งหนังสือขอแก้ไขลักษณะพื้นที่ และจะมีการพิจารณาอีกครั้งในสัปดาห์หน้า ขณะเดียวกันก็จะเดินหน้าสร้างความเข้าใจในพื้นที่ต่างๆ ด้วยโดยในวันพรุ่งนี้จะไปชี้แจงที่ จ.อุบลราชธานี และอีกประมาณเดือนหน้าจะมีการชี้แจงทั่วประเทศโดยแบ่งออกเป็น 6 รุ่น

"เรื่องการเก็บคะแนนในประกาศได้ยืดหยุ่นให้แต่ละพื้นที่สามารถพูดคุยกันได้ และที่บอกว่าไม่มีการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคนั้น ผมยืนยันว่าในประกาศดังกล่าวได้พูดเรื่องการส่งเสริม ป้องกันโรค ออกพื้นที่ชุมชน เรื่องงานบริหาร เรื่องวิชาการ ส่วนเรื่องคะแนนที่จะปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการเขต ส่วนเงินออนท็อปที่มาจากเงินบำรุง 1% นั้น ถ้าจะเพิ่มเป็น 2% ถือว่าเป็นอำนาจของคณะกรรมการเขต แต่หากจะปรับเพิ่มมากกว่า 2% จะเป็นอำนาจของ สธ.ที่จะพิจารณา" นพ.ณรงค์กล่าว

นพ.ณรงค์กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องเครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดให้กับ อสม.ว่า ล่าสุดในจังหวัดที่มีการจัดซื้อไปแล้วนั้น ได้สั่งให้ผู้ตรวจราชการลงไปตรวจสอบว่ามีการจัดซื้อจริงหรือไม่ อย่างไร ก่อนหน้าที่จะมีการชะลอคำสั่งได้กำชับไปแล้ว ว่าการจะจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ขอให้เป็นไปตามระเบียบของ สธ.

ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าก่อสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคเอดส์ นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานบอร์ด อภ. กล่าวว่า เรื่องการจัดซื้ออุปกรณ์ภายในโรงงาน อภ.จะไม่เข้าไปยุ่ง เพราะถือเป็นหน้าที่ของบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง แต่หากทางผู้รับเหมาไม่สามารถส่งมอบงานได้ ก็เป็นสิ่งที่เขาต้องจ่ายค่าปรับ เป็นเรื่องของการผิดสัญญาก่อสร้างไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 25 เมษายน 2556