ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

'แพทย์ชนบท'จ่อบุกบ้านนายกฯ กดดันปลด'รัฐมนตรีว่าการ สธ.' ด้าน'นพ.ประดิษฐ'วอนเจรจา ยันหาก'พีฟอร์พี' ทำระบบพัง-หมอล่าแต้ม สั่งยกเลิกทันที

เมื่อวันที่ 25 เมษายน นพ.อารักษ์ วงศ์ วรชาติ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยว่า หลังจากที่เครือข่าย องค์กร และกลุ่มคนไม่เอา นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เคลื่อนไหวตามข้อเรียกร้อง 5 ข้อ เมื่อวันที่ 24 เมษายน โดยเฉพาะให้นายกรัฐมนตรีปลดหรือย้าย นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ สธ.นั้น ในระหว่างที่รอผลข้อเรียกร้องดังกล่าว เครือข่ายจะร่วมกันเคลื่อนไหวอย่างเป็นเอกภาพ ด้วย 3 มาตรการ ดังนี้ 1.โรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ จะติดป้ายประกาศเป็นเขตปลอดและไม่ต้อนรับ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ และจะขยายถึงหน่วยงาน องค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ ในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และชุมชน 2.ชมรมแพทย์ชนบทจะเปิดโปงการทุจริตทั้งโดยตรงและเชิงนโยบายทำลายระบบสาธารณสุขของรัฐ เอื้อประโยชน์เอกชนอย่างต่อเนื่อง 3.เครือข่ายจะนัดเคลื่อนไหวใหญ่อีกครั้งในเดือนพฤษภาคม เพื่อขอคำตอบสุดท้ายที่บ้านพัก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หากข้อเรียกร้องไม่มีความคืบหน้า

ด้าน นพ.ประดิษฐให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ สธ.ได้ออกระเบียบค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุขแบบใหม่ เป็นแบบผสมผสานระหว่างเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามพื้นที่ กับการประเมินตามภาระงาน หรือพีฟอร์พี ว่า นโยบายนี้ไม่ได้คิดที่จะลดเงินของบุคลาการทางแพทย์ แต่ต้องการจัดทำกลไกของ สธ.ให้เป็นระบบมากขึ้น ส่วนเรื่องที่กลุ่มแพทย์ชนบทกังวลว่าจะเกิดความยุ่งยากนั้น เชื่อว่าไม่ยุ่งยาก เนื่องจากมีระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาจัดการ ดังนั้น จึงอยากขอความร่วมมือจากกลุ่มแพทย์ชนบทช่วยกันทำให้ สธ.เดินหน้าต่อไป

"ผมได้ทำหนังสือเชิญไปยังกลุ่มแพทย์ชนบทเพื่อมาหารือร่วมกันตลอด เพราะการใช้เกณฑ์จ่ายแบบพีฟอร์พียังคงต้องทำต่อไป ในความเห็นผม การทำพีฟอร์พีก็คล้ายกับการเริ่มต้นโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ก็มีการคัดค้าน ยืนยันว่าการจ่ายแบบพีฟอร์พีเป็นเรื่องที่สามารถแก้ไขได้ตลอด หากทำไปแล้วพบว่าทำให้เสียระบบ เกิดกรณีแพทย์ล่าแต้ม ผมก็พร้อมที่จะแก้ไขและหากทำไม่ได้ก็พร้อมที่จะยกเลิก เพราะทุกเรื่องมันสามารถแก้ไขและพัฒนาให้ดีขึ้นได้" นพ.ประดิษฐกล่าว และว่า ส่วนที่กลุ่มแพทย์ชนบทพาดพิงว่า สธ.มีการทุจริตกรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดเพื่อแจกอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั่วประเทศนั้น ได้มอบหมายให้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว และว่า การสั่งระงับจัดซื้ออุปกรณ์ดังกล่าว ยังไม่ถือว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น เพียงแต่ สธ.ต้องการให้ทบทวนในรายละเอียดเพื่อความถูกต้องและชัดเจนอีกครั้ง โดยเฉพาะในประเด็นสัญญา ราคา และความเหมาะสมในการจัดซื้อ ล่าสุด ได้รับการชี้แจงจากอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ว่าการซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลให้ อสม.เพื่อตรวจให้ชาวบ้าน สามารถทำได้ไม่จำเป็นต้องอาศัยแพทย์หรือพยาบาล

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 26 เมษายน 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง