ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

สวรส. เผยผลวิจัยระบบสุขภาพประเทศไทย พบยังมีความเหลื่อมล้ำสูง โดยเฉพาะผู้ถือสิทธิ์ 3 กองทุนสุขภาพ ส่งผลได้รับบริการทางการแพทย์แตกต่างกัน ระบุที่ผ่านมาแม้ประชาชนจะเข้าถึงการรักษามากขึ้น แต่ยังต้องพัฒนาระบบให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ตามนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

วานนี้(25 เม.ย.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) ประชุมวิชาการ การวิจัยระบบสุขภาพประจำปี 2556 ในหัวข้อ "จัดการความรู้สู่ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม" พร้อมทั้งเผยแพร่ผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการลดความเหลื่อมล้ำของระบบประกันสุขภาพไทย แก่ผู้บริหาร ผู้กำหนดนโยบาย และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้านสาธารณสุข เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายด้านสุขภาพของประเทศไทย

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถือเป็นนโยบายด้านระบบสุขภาพของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน โดยช่วยให้อัตราการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ของคนไทยเพิ่มมากขึ้น จากเดิมอัตราการเข้ารับบริการของคนไทยอยู่ที่ 1.5 ครั้ง/ปี เพิ่มเป็น 5.2 ครั้ง/ปี อีกทั้งยังทำให้ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ลดลงจากเดิม แต่อย่างไรก็ตามจากผลการศึกษาวิจัยของ สวรส.ยังคงพบปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินนโยบายดังกล่าว อยู่ 3 ประการ คือ 1.ความเหลื่อมล้ำระหว่างระบบประกันสุขภาพ เนื่องจากขาดกลไกกลางในการอภิบาลระบบ ส่งผลให้แต่ละกองทุนมีการออกแบบการบริการจัดการระบบการจ่ายค่าบริการ รวมถึงสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขการให้บริการต่างกัน ทำให้ประชาชนในแต่ละสิทธิได้รับบริการแตกต่างกัน ทั้งการได้รับยาหรือหัตถการที่มีราคาแพง

2.ความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ เนื่องจากปัญหาการกระจายทรัพยากร และความพร้อมของระบบบริการในพื้นที่ต่างๆ ที่ไม่เท่าเทียมกัน ทำให้เกิดความแตกต่างในการได้รับบริการ รวมถึงประสิทธิผลของการให้บริการ ที่แตกต่างกันระหว่างจังหวัดและเขตต่างๆ ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขจึงมีแนวคิดในการกระจายอำนาจการบริหารจัดการไปยังระดับเขตในลักษณะพวงบริการ โดยมีการจัดทำแผนพัฒนาและกระจายทรัพยากรทางการแพทย์ร่วมกันในระดับเขต และ 3.การขาดประสิทธิภาพของการจัดบริการและการใช้ทรัพยากร รวมถึงการบริหารจัดการระบบประกันสุขภาพ เช่น การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายระบบสวัสดิการการรักษาพยาบาลข้าราชการ อันเนื่องจากการใช้ยาต้นแบบหรือยานอกบัญชียาหลัก

"ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข กำลังอยู่ในระหว่างการปฏิรูป เพื่อสร้างระบบลดความเหลื่อมล้ำ โดยให้มีกลไกกลางระดับชาติในการกำหนดนโยบายสุขภาพ ระบบคลังและประกันสุขภาพ รวมถึงบูรณาการการบริหารจัดการระบบประกันสุขภาพของทั้ง 3 กองทุน ให้มีประสิทธิภาพและมาตรฐานเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน" นพ.ประดิษฐ กล่าว

ทั้งนี้สำหรับเรื่องการรักษาพยาบาลของประชาชนคนไทย กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ตามโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาฟรีที่พบว่ามีปัญหา เรื่องโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยอยู่นั้น นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า ปัญหาของเรื่องดังกล่าวอยู่ที่ความไม่แน่ใจของโรงพยาบาลเอกชน ว่าผู้ป่วยที่มารักษานั้นเป็นการป่วยฉุกเฉินหรือไม่ ขณะนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. จึงได้จัดทำระบบคัดกรองผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยหากว่าโรงพยาบาลไม่แน่ใจว่าผู้ป่วยที่มารับบริการเข้าข่ายเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือไม่ ก็สามารถโทรมาสอบถามทาง สปสช. ก่อนได้ ส่วนในเรื่องของความเข้าใจคำจำกัดความกรณีป่วยฉุกเฉิน ระหว่างแพทย์และประชาชนที่มักไม่ตรงกันนั้น จากนี้ไปก็จะมีการพูดคุยและปรับให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจตรงกัน

ด้านนพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย กล่าวว่า สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพไทย แม้ปัจจุบันทางกระทรวงสาธารณสุขจะได้มีการพัฒนา และยกระดับการให้บริการด้านการแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้แนวโน้มในการเข้าถึงการรักษาของประชาชนในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มการผ่าตัดหัวใจ ผ่าตัดมะเร็ง และผ่าตัดรักษาตาต้อกระจก ขณะเดียวกันจากผลการประเมินก่อนและหลังการมีนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก็พบว่าอัตราการป่วยด้วยโรคเรื้อรังมีแนวโน้มลดลง เช่น โรคความดันโลหิตสูง และ โรคเบาหวาน แต่อย่างไรก็ตามยังเห็นว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จะต้องทำการพัฒนาประสิทธิภาพของระบบเพิ่มมากขึ้น

ขณะเดียวกันการแก้ปัญหาความเหลือล้ำของระบบประกันสุขภาพไทย จะต้องมีการพัฒนาเชิงโครงสร้างและกลไกต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความเท่าเทียมกันของกองทุนประกันสุขภาพ 3 กองทุน เพราะยังพบพฤติกรรมของการเลือกให้บริการที่แตกต่างกัน เช่น สิทธิข้าราชการ มีแนวโน้มที่จะได้รับการรักษา และได้รับยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติหรือยาราคาแพง สูงกว่าในกลุ่มกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกลุ่มประกันสังคม

นอกจากนี้เรื่องของความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงบริการสุขภาพตามพื้นที่ ก็ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องมีการพูดถึงและปรับปรุงให้ดีขึ้น จากกรณีตัวอย่างการเข้าไปศึกษาการผ่าตัดหัวใจ แม้จะพบว่ามีการเข้าถึงบริการมากขึ้น แต่ยังคงมีความแตกต่างในการเข้าถึงการรักษาในระดับพื้นที่อยู่

"เมื่อประเทศไทยมีนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การเข้าถึงบริการด้านการแพทย์จึงควรกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการบริการได้อย่างเท่าเทียมกัน ขณะเดียวกันที่ผ่านมาแม้มีการทำงานตรวจคัดกรองเพิ่มมากขึ้น แต่ประเด็นสำคัญที่จะต้องมีการทบทวน ว่าสามารถตรวจคัดกรองได้อย่างมีประสิทธิผลหรือไม่" นพ.สัมฤทธิ์ กล่าว

ขณะที่ รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ภาพรวมสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในเชิงโครงสร้างของระบบบริการสุขภาพไทย มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น เพราะความต้องการในระบบสุขภาพปัจจุบัน ต้องเผชิญความต้องการของผู้รับบริการไม่ได้มาจากภายในประเทศเท่านั้น แต่มาจากต่างประเทศด้วย ขณะที่ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องบริการสุขภาพในประเทศไทย คิดว่าน่าจะเกิดจากความไม่สมมาตรของข้อมูล เพราะผู้ให้บริการกับผู้รับบริการไม่มีความรู้ข้อมูลข่าวสารที่เท่าเทียมกัน ทำให้ผู้บริโภคหรือผู้รับบริการอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ

"ความเสียเปรียบตรงนี้สะท้อนให้เห็นปัญหาของกองทุนในภาพรวม ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาการได้รับการบริการที่มากหรือน้อยเกินไป เช่น ถ้าอยู่ในระบบราชการเวลาเจ็บป่วย แพทย์บอกให้ตรวจอะไรเราก็ตรวจ หรือว่าจะจ่ายยาที่อยู่นอกบัญชียาหลักให้ก็ไม่เป็นไร เพราะเราไม่ได้เป็นคนจ่ายเองแต่รัฐเป็นคนจ่าย ตรงจุดนี้จึงเรียกว่าเป็นการได้รับบริการที่มากเกินไป แต่ในขณะเดียวกันคนที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพ ก็ไม่มีความชัดเจนว่าจะได้รับบริการที่น้อยไปหรือไม่ เนื่องจากผู้รับบริการไม่มีความรู้ในการรักษามากนัก" รศ.ดร.นวลน้อย กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 26 เมษายน 2556