ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เมื่อวันที่ 26 เม.ย. นพ.ณัฐพร วงษ์ศุทธิภากร รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะที่รับผิดชอบเรื่องส้วม กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตหลายแห่ง ระบุว่า มีพระราชกฤษฎีกายกเลิกส้วมซึม ภายใน 120 วัน ให้หันใช้ชักโครกแทน ว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง เป็นการจับแพะชนแกะ ไม่รู้นำมาผูกโยงกันได้อย่างไร ตนก็ยังงงอยู่ เพราะเป็นการโยงพระราชกฤษฎีกากับมติ ครม.เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2556 ที่เห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทยระยะที่ 3  (พ.ศ.2556-2559) ซึ่งการนำเสนอเรื่องนี้ต่อ ครม.ก็เพื่อส่งเสริมให้ส้วมสาธารณะ 12 ประเภท คือ แหล่งท่องเที่ยว ร้านจำหน่ายอาหาร ตลาดสด สถานีขนส่งทางบกและทางอากาศ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง สถานศึกษา โรงพยาบาล สถานที่ราชการ สวนสาธารณะ ศาสนสถาน ส้วมสาธารณะริมทาง และ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ดิสเคานต์สโตร์ หันมาใช้ส้วมนั่งราบ และชักโครก เท่านั้น

รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวอีกว่า ในส่วนที่มีการออกกฎหมายบังคับแล้วคือ ในส่วนของปั๊มน้ำมัน และสถานที่จำหน่ายอาหาร คือ ร้านอาหารใหญ่ ๆ มีการบังคับว่าจะต้องมีส้วมนั่งราบ 1 ห้อง ไม่ใช่ว่า ห้องน้ำทุกห้องต้องเปลี่ยนมาเป็นแบบนั่งราบ หรือชักโครกหมด แต่ขอให้มีอย่างน้อย 1 ห้อง ส่วนชาวบ้านนั้นอยากรณรงค์ให้หันมาใช้ส้วมนั่งราบหรือชักโครกมากกว่าเพราะส่วนใหญ่มีผู้สูงอายุอยู่ หากทุกบ้านเปลี่ยนมาเป็นนั่งราบได้ก็จะช่วยป้องกันปัญหาข้อเข่าเสื่อม รวมถึงคนท้อง คนอ้วน เรื่องพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก โถส้วมนั่งราบต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2556 เป็นคนละส่วนกับแผนแม่บทที่จะรณรงค์ให้สถานที่ 12 ประเภทหันมาใช้ส้วมแบบนั่งราบ หรือชักโครก เมื่อถามว่า ขณะนี้คนไทยทั่วประเทศมีส้วมนั่งราบ หรือชักโครกใช้มากน้อยเพียงใด นพ.ณัฐพร กล่าวว่า ไม่ถึง20% เพราะส่วนใหญ่เป็นส้วมซึมหรือนั่งยอง เพราะบ้านนอกหรือบ้านจัดสรรรุ่นเก่าล้วนใช้ส้วมแบบนั่งยอง แต่ถ้าบ้านรุ่นใหม่เป็นชักโครกหมดแล้ว

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์