ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

นายกรัฐมนตรีหักหมอประดิษฐ สั่งติดเบรกตั้งคณะกรรมการพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ซึ่งเสนอที่ประชุมเชิงนโยบายการสร้างความเป็นเอกภาพและบูรณาการสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบประกันสุขภาพภาครัฐ วันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา ให้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองนโยบายด้านสาธารณสุข โดยให้เหตุผลว่าการตั้งคณะกรรมการชุดนี้จะซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการชุดอื่นๆที่มีกฎหมายและอำนาจเป็นของตัวเอง

เรื่องที่เสนอเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.) ก็มีรูปแบบการกลั่นกรองชัดเจนอยู่แล้ว การตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เพื่อครอบคณะกรรมการชุดอื่นๆจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ที่สุดแล้วที่ประชุมจึงมีมติไม่แต่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เสนอให้ตั้งเป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์พัฒนาคุณภาพชีวิตแทน มีอำนาจกลั่นกรองนโยบายด้านสังคมและคุณภาพชีวิตในภาพรวม โดยให้ดึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มาร่วมพิจารณาด้วย

ด้าน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในการประชุมเชิงนโยบาย เรื่องการสร้างความเป็นเอกภาพและบูรณาการสิทธิประโยชน์ภาคใต้ระบบประกันสุขภาพของรัฐ ซึ่งมี นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เสนอต่อที่ประชุมให้จัดตั้งคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองนโยบายด้านสาธารณสุข เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุข โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ เพื่อพิจารณาออกนโยบายและกลั่นกรองนโยบายด้านสาธารณสุขเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ออกเป็นนโยบายของรัฐบาล

"แต่ข้อเสนอดังกล่าว นายกรัฐมนตรีได้แสดงความเห็นในที่ประชุมว่า ไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองฯ เพราะเกรงว่าจะมีความซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี รวมทั้งอาจทำให้เกิดปัญหาทางด้านข้อกฎหมาย ทั้งนี้นายกฯได้เสนอทางออกว่า หากจะดำเนินการจริงให้ตั้งเป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์พัฒนาคุณภาพชีวิตแทน เพื่อให้ครอบคลุมมิติคุณภาพชีวิต ทั้งการดูแลเรื่องสุขภาพ การพัฒนาสังคม รวมทั้งด้านการศึกษา ซึ่งหลังจากนี้จะต้องมีการหารือกับกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อีกครั้ง ดังนั้น ข้อเสนอของเลขาธิการ สปสช.จึงตกไป สำหรับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯนั้น ในเบื้องต้นยังไม่มีกำหนดว่าจะนัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือในวันใด ต้องรอให้เกิดความชัดเจนอีกครั้ง" นพ.ประดิษฐกล่าว

ทั้งนี้ คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองนโยบายด้านสาธารณสุข คือคณะกรรมการชุดเดียวกับคณะกรรมการพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ(คสช.) ที่ก่อนหน้านี้ นพ.ประดิษฐ พยายามผลักดันให้เกิดขึ้น โดยกำหนดบทบาทเป็นเสมือนครม.สุขภาพ มีหน้าที่กลั่นกรองเรื่องต่างๆจากหน่วยงานรัฐและหน่วยงานอิสระด้านสุขภาพก่อนเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ใหญ่

สำหรับโครงสร้างของคณะกรรมการตามแนวคิดของ นพ.ประดิษฐ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี 7 กระทรวง ได้แก่ กลาโหม มหาดไทย คลัง แรงงาน ศึกษาธิการ การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นกรรมการ ส่วนรมว.สธ.เป็นกรรมการและเลขานุการ

นอกจากนี้ ให้ปลัด สธ.เป็นผู้ช่วยเลขานุการและให้ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และผู้บริหารองค์กรอิสระ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ตระกูล ส. เป็นคณะทำงาน

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า สาเหตุที่ นพ.ประดิษฐไม่ใช้ชื่อคสช.เพราะต้องการลดกระแสต่อต้านเนื่องจากที่ผ่านมาคสช. ถูกจับตามองว่าเป็นกลไกรวบอำนาจตระกูล ส. อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)สช. และ สปสช. เป็นต้น

ที่มา: เรียบเรียงจาก หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ และหนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 29 เมษายน 2556