ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

“P4P ไม่มีทางที่จะทำให้แพทย์ลาออกมากขึ้น มีแต่จะทำให้แพทย์และบุคลากรสาธารณสุขทุกสาขาวิชาชีพมีขวัญและกำลังใจมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่ต้องรับผิดชอบภาระงานที่ยากและปริมาณมาก”

 ยืนยันหนักแน่นจาก นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ที่ไม่สามารถรับหลักการตามข้อเสนอของกลุ่มหมอชนบทที่ออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเรื่อง การทบทวนหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนภาครัฐกระทรวงสาธารณสุข ที่เรียกว่า P4P

อ้างเหตุผลรุนแรงขนาดที่ว่า ระบบดังกล่าวจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นความล่มสลายของระบบบริการสุขภาพคนจนในประเทศไทย

ทำลายระบบบริการสุขภาพรัฐ ทำลายระบบดั้งเดิมที่เข้มแข็ง สายสัมพันธ์ทางใจ กับแรงศรัทธาที่หมอมีต่อระบบบริการสุขภาพรัฐให้พังลง

P4P เลวร้ายและรุนแรงขนาดนั้นจริงหรือ...

ขณะนี้การลาออกของแพทย์ไม่แตกต่างจากปกติ สาเหตุส่วนใหญ่ของการลาออก คือ ไปศึกษาต่อ

นอกจากนี้ยังมีผลการวิจัยจาก สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ยืนยันชัดเจนว่า การจ่ายค่าตอบแทนแบบเหมาจ่ายไม่ได้มีผลต่อการลาออกของแพทย์ เพราะแพทย์ส่วนใหญ่ไม่ได้มองเรื่องเงินเป็นหลัก แต่มีจุดมุ่งหมายในชีวิต เช่น ไปเรียนต่อในระดับที่เชี่ยวชาญขึ้น

เป็นคำตอบหนักแน่นจาก รมว.สาธารณสุข ที่แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนถึงการเดินหน้าสานต่อระบบ P4P เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเป็นธรรมในระบบบริการสาธารณสุขอย่างยั่งยืน

 “ระบบการจ่ายค่าตอบแทนนี้จะเพิ่มประสิทธิภาพการบริการประชาชน ไม่ใช่ทำให้เกิดการแก่งแย่งผลงาน หรือการทำงานเพื่อล่าแต้ม รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณค่าตอบแทนอย่างเต็มที่และครม.ก็มีมติชัดเจนว่าถ้าเงินไม่พอให้ขอเพิ่มเติมจาก ครม.ได้อีก

ความวิตกกังวลต่างๆที่เกิดขึ้นขณะนี้ คล้ายกับช่วงการเริ่มต้นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค มีหลายฝ่ายวิตกกังวลและบอกว่าไม่ดี จนกระทั่งขณะนี้ประชาชนได้รับสิ่งที่ดีขึ้น และกลายเป็นความภาคภูมิใจร่วมกันของทุกฝ่าย รวมทั้งแพทย์ชนบทด้วย” รมว.สาธารณสุขย้ำ

สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการขณะนี้ เราทำทั้งระบบในการคิดค่าตอบแทนแบบใหม่ ได้ตั้งคณะทำงานซึ่งมาจากผู้แทนทุกวิชาชีพ จากโรงพยาบาลทุกระดับ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการคลัง โดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อกำหนดพื้นที่และกำหนดภาระงานของแต่ละวิชาชีพ โดยคำนึงสภาพความเจริญของพื้นที่ในปัจจุบัน สถานะทางการเงินของโรงพยาบาลทุกระดับ

เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในระบบสาธารณสุข ลดความเหลื่อมล้ำในสาขาวิชาชีพต่างๆ

หากมองย้อนกลับไปในอดีตจะเห็นว่า ชนวนร้าวเรื่องเงินๆทองๆของบุคลากรในชุดเสื้อกาวน์ครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อมีการลงนามในคำสั่งขึ้นค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายให้กับแพทย์ รพ.ชุมชน ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มแพทย์ชนบท สมัย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็น รมต.

 “ตัวเลขเบี้ยเลี้ยงที่เพิ่มขึ้น มากถึงขนาดที่หมอ รพ.ชุมชนบางแห่งมีรายได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 150,000 บาท ขณะที่แพทย์ใน รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไปหลายแห่งต้องทำงานหนัก เพราะรับส่งต่อคนไข้มาจากรพ.ชุมชน แต่ไม่มีเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเหมือนหมอใน รพ.ชุมชน งานหนักกว่า เสี่ยงกว่า แต่ทุกคนก็ก้มหน้าก้มตาทำงาน ไม่เคยออกมาประท้วงหรือเรียกร้องในเรื่องเงินๆทองๆเลย”

นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ รพ.พระนั่งเกล้าบอก พร้อมกับฉายภาพให้เห็นชัดเจนขึ้นไปอีกว่า

 “การขึ้นเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเมื่อปี 51 ทำให้หมอที่อยู่ในโรงพยาบาลชุมชน 3 ปีแรก ได้เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย 10,000 บาท พอปีที่ 4-10 ได้เพิ่มขึ้นอีก รพ.ขนาดเล็กได้ 30,000 บาท ขนาดกลางได้ 25,000 บาท และขนาดใหญ่ได้ 20,000 บาท” นพ.ฐาปนวงศ์บอก

“ยังไม่พอนะครับ ทำงานถึงปีที่ 11 -20 ได้เงินเพิ่มอีก รพ.ขนาดเล็กได้เพิ่มอีก 40,000 บาท ขนาดกลางได้ 30,000 และขนาดใหญ่ได้ 25,000 บาท ส่วนแพทย์ที่อยู่ในโรงพยาบาลชุมชน 21 ปีขึ้นไป ขนาดเล็กได้ 50,000 ขนาดกลางได้ 40,000 และขนาดใหญ่ได้ 30,000”

ยังไม่รวมค่าตอบแทนในส่วนที่เป็น รพ.ในพื้นที่ทุรกันดาร ซึ่งตรงนี้รับได้ เพราะถือว่าทำงานในที่ที่มีความยากลำบาก

 “โดยส่วนตัวแล้วไม่เชื่อว่า P4P จะทำให้สมองไหล โดยเฉพาะรพ.ชุมชน เพราะจริงๆ ภาคเอกชนจริงๆไม่ได้ต้องการแพทย์ทั่วไป แต่เน้นแพทย์เฉพาะทาง ถ้าจะสมองไหล รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป น่าจะสมองไหลมากกว่า เพราะมีแพทย์เฉพาะทางมากกว่า” จักษุแพทย์ รพ.พระนั่งเกล้าตั้งข้อสังเกต

ขณะที่ พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์-โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.)เล่าว่า

เรื่องเงินเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย มามีปัญหามากๆตอนปี 2555 กระทรวงการคลังไม่ให้เงินอีก ทำให้โรงพยาบาลจังหวัด 90% ไม่มีการจ่ายเบี้ยเลี้ยง แต่ก็รอว่าอาจจะของบได้อีก ก็ปรากฏว่าไม่มีงบประมาณ พอปีงบประมาณ 2556 กระทรวงการคลังจะให้งบ 3,000 ล้านบาท แต่มีเงื่อนไขพ่วงคือ ต้องทำ P4P ซึ่งในส่วนของโรงพยาบาลจังหวัดเรารับได้ เพราะมีการปรับเปลี่ยนการทำงานมาพอสมควรในกลุ่มโรงพยาบาลจังหวัด

สำคัญคือ เราทำงานหนักเป็นปกติอยู่แล้ว...

การนำระบบ P4P มาใช้ ไม่ได้มีการยกเลิกระบบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ยังคงทำควบคู่ไปกับการจ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเหมือนเดิมในกลุ่มที่มีอายุงานไม่เกิน 3 ปี หมายความว่า แพทย์กลุ่มนี้จะได้ทั้งเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายและค่าตอบแทนจากระบบ P4P

ส่วนข้อสังเกตที่ออกมาเรียกร้องกัน และบอกว่า แพทย์จะเร่งตรวจผู้ป่วยเพื่อทำคะแนน พญ.ประชุมพรบอกว่า คนที่คิดแบบนี้กำลังดูถูกวิชาชีพแพทย์ของตนเอง การตรวจคนไข้ไม่สามารถเร่งได้ เนื่องจากถูกควบคุมด้วยมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณ

 “เป็นไปไม่ได้ที่ความประณีตในการรักษาลดลง เช่น หมอผ่าตัดจะมีนิสัยการทำงานแบบหนึ่ง เวลาผ่าตัดก็จะยังคงเป็นอย่างนั้น ไม่มีการรีบผ่าตัด ถามว่าหมอโรงพยาบาลเอกชนรับค่าตอบแทนตามเนื้องานเหมือนกัน ทำไมเขาไม่รีบๆทำ แล้วเวลาคนไข้นั่งรอตรวจหน้าห้องอยู่เต็มหมด หมอก็ต้องเฉลี่ยเวลาให้ทุกคน เพราะทุกคนก็อยากรักษา อยากกลับบ้าน เราก็เร่งตามปกติอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีเงินหรือไม่มีเงิน มีแต้มหรือไม่มีแต้ม”

เป็นคำอธิบายอีกด้านของแพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ที่หมอรุ่นน้องๆต้องรับฟังอยู่เหมือนกัน

ที่มา: นสพ.ไทยรัฐ วันที่ 29 เมษายน 2556