ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

หมายเหตุ: ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง พูดคุยกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นฤมล สอาดโฉม ผ่านรายการ จับชีพจรประเทศไทย ทีเอ็นเอ็น24 และ สยามรัฐ เผยแพร่มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้

ดร.นฤมล สอาดโฉม :สัปดาห์นี้มีประเด็นเรื่องประกันสุขภาพของประเทศญี่ปุ่นเพื่อให้เราได้เรียนรู้เป็นกรณีศึกษา?

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ : ครับเนื่องจากผมได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการคลังให้กับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อช่วยดูแลเรื่องหลักประกันสุขภาพ 30 บาท คือต้องทำการศึกษาเรื่องดังกล่าวค่อนข้างมาก เพราะเป็นอนาคตของประเทศไทยซึ่งทางกลุ่มที่ดูแลด้านสาธารณสุขมีความกังวลพอสมควรหากไม่มีการปรับโครงสร้างอาจส่งผลทำให้เกิดปัญหาระยะยาวและเกิดปัญหากับกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณเข้าไปรองรับในอนาคตเมื่อมีสังคมผู้สูงอายุมากขึ้นจะเป็นอย่างไร ดังนั้นจึงได้นำกรณีศึกษาของญี่ปุ่นมาศึกษา เพราะสังคมผู้สูงอายุของญี่ปุ่นมาสูงกว่าไทย

เมืองไทยเรามีหลักประกันสุขภาพอยู่ 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ หลักประกันสุขภาพของราชการ ใช้งบประมาณรัฐเป็นส่วนใหญ่, คนทำงาน จะมีหลักประกันสังคม และเอกชน มีหลักประกันเป็นกองทุน ส่วน 30 บาทรักษาทุกโรคจะมีการตั้งงบประมาณขึ้นมาเพื่อจะดูแลคนในประเทศทั้งหมดจำนวน 49 ล้านคน

กรณีของหลักประกันสุขภาพของญี่ปุ่นมีหลักการสำคัญ 3 กลุ่ม อาจคล้ายคลึงกับเมืองไทย คือ กลุ่มแรกเป็นธุรกิจใหญ่กับราชการ นายจ้างกับลูกจ้างจ่ายเงินประกันร่วมกัน, กลุ่มที่สองเป็นเอสเอ็มอี ลูกจ้างกับนายจ้างร่วมกันจ่ายเงินประกัน และมีรัฐบาลเข้าไปช่วย 15-20% และกลุ่มสุดท้าย เป็นคนที่จ้างงานตัวเอง รัฐบาลจะนำเงินเข้าไปช่วย 50%โดยเป็นแบบนี้ไปได้สักพัก

เมื่อประมาณปี พ.ศ.2552 เกิดปัญหาว่าทั้ง 3 หลักประกันดังกล่าวทำให้ไม่มีงบประมาณไม่พอไปรักษาผู้สูงอายุรัฐบาลญี่ปุ่นจึงตั้งหลักประกันสุขภาพขึ้นอีก 1 หลักฯ โดยรองรับคนอายุ 75 ปีขึ้นไป โดยรัฐบาลยอมจ่ายให้ 50% ซึ่งอีก50% ที่เหลือมาจากกองทุนอื่นๆ ที่มีการจ่ายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวม 10% ที่มาจากกลุ่มผู้สูงอายุเองด้วย

จะเห็นว่าการมีสังคมผู้สูงอายุขึ้นมากระบวนการรักษาพยาบาลโดยหลักเดิมนั้นรับไม่ไหว

ดร.นฤมล สอาดโฉม :ถือเป็นการแก้ปัญหาหลังจากเกิดขึ้นแล้ว?

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ :ใช่ครับ แต่ญี่ปุ่นบอกว่าคนอายุ 65-75 ปีขึ้นไป มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเกินครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลของคนทั้งหมด จากกรณีนี้จะไปด้านผู้สูงอายุมากขึ้น ค่าใช้จ่ายผู้สูงอายุวันนี้คนละครึ่งแต่อนาคตจะสูงขึ้นบ้าง โดยเงินที่รัฐบาลนำมาอุ้มจะใช้วิธีการทำงบขาดดุลเป็นเงินภาษี เพราะรัฐไม่มีงบรองรับ ทำให้คนญี่ปุ่นมองว่า เหมือน "จระเข้อ้าปาก" คือการขาดดุลของรัฐบาลค่อยอ้ามากขึ้นและเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ทำให้รัฐต้องทำการแบ่งใช้งบประมาณ 24-25% ไปใช้เรื่องหลักประกันสังคมและการรักษาพยาบาล จะลดก็ไม่ได้เพราะถือเป็นหลักของมนุษยธรรม

กรณีของไทยมีเรื่องที่แปลกเกิดขึ้นเช่นกัน คือ คนในประเทศเพื่อนบ้านที่ผ่านด่านเข้ามาในเมืองไทย อ้างว่ามาซื้อของในวันนั้น แต่มาที่โรงพยาบาลไทยบอกว่าตนเองป่วย คำถามคือ โรงพยาบาลไทยจะปฏิเสธได้หรือไม่ ทำให้ต้องรับเข้ารักษา แม้จะไม่มีเงิน เพราะถือเป็นหลักมนุษยธรรม ซึ่งเงินที่รักษากลุ่มคนดังกล่าวนั้นมีมากประมาณ 300-500 ล้านบาท

บางเรื่องอาจกีดกันคนต่างด้าวได้เช่น กรณีของคนเพื่อนบ้านที่เข้ามาแล้วขึ้นรถไฟฟรีนั้น ไม่ได้เพราะเป็นคนต่างด้าวแต่เรื่องของการรักษาพยาบาลกีดกันไม่ได้เพราะเป็นเรื่องของมนุษยธรรม

ที่เล่าให้ฟังเพราะประเทศไทยเรายังห่างจากเขาประมาณ 15-20 ปี ซึ่งทางญี่ปุ่นได้เตือนเรามา 2 ข้อ ได้แก่1.เตือนว่าเราก็กำลังอ้าปากเหมือนกับญี่ปุ่นซึ่งเรารู้ตัวดี แต่ไม่สามารถผลักดันนโยบายการเปลี่ยนแปลงทำให้คนทั้งประเทศเข้าใจได้ว่าจะต้องรับปรับตัว ถึงวันนี้ทำจะลำบาก นอกจากนี้ค่ารักษาพยาบาลต้องทำให้มีประสิทธิภาพอย่างมาก ต้องคุมงบประมาณให้อยู่เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับคนทั่วไป

นอกจากนี้ต้องดูแลเรื่องเงินว่ารัฐบาลไทยมีเก็บเพียงพอใช้จ่ายกับเรื่องเป็นของระบบประกันสุขภาพ ซึ่งทางญี่ปุ่นให้ความสำคัญมาก โดยระบบประกันสังคมของญี่ปุ่นมีการเก็บเงินเข้าไป และเอาเงินไปลงทุนออกธนบัตรรัฐบาล ในกรณีของไทย ได้มีการประมาณการว่า ถ้ากองทุนประกันสังคมจะไปได้ต้องลงทุนให้ได้6% ต่อปี ซึ่งที่ผ่านมาโดยเฉลี่ยก็พอได้แต่ปัจจุบันเริ่มลดลง เพราะดอกเบี้ยต่ำได้เพียง 3% อาจมีผลทำให้ไม่พอจ่ายค่ารักษาพยาบาลแน่นอน

วันนี้ทำให้เราเริ่มคิดเรื่องของการปรับโครงสร้างของระบบสาธารณสุขไทยว่ามีความจำเป็น และต้องมีคนเข้ามาดูแลภาพรวมซึ่งไม่ใช่แค่กระทบเพียงค่ารักษาพยาบาลแต่เป็นผลกระทบต่องบประมาณรัฐบาลด้วย

ขณะที่ประโยชน์ของการศึกษาครั้งนี้คือ ทำให้เรารู้ตัวแล้ว แต่เราจะสามารถเปลี่ยนแปลงนโยบายและเปลี่ยนแปลงความคิดของคนไทยว่ามีความเสี่ยงรออยู่ จะหาทางปรับตัววันนี้ได้หรือไม่

อย่างที่ 2 ที่ทางญี่ปุ่นเตือนไว้คือในสังคมผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้นนั้นอยากให้เข้าใจด้วย แต่ต้องมีที่รักษาพยาบาลอยู่ที่ท้องที่ อย่าให้คนเหล่านี้เข้ามานอนบนเตียงในโรงพยาบาลมากจนเกินไปถ้าไม่จำเป็น

นั้นไม่ได้หมายความว่าจะไม่รักษาเพียงแต่ต้องขยายที่รักษาพยาบาลใกล้บ้านหรืออยู่ในยังชุมชนต่างๆ อำเภอมากขึ้นมีที่พักรักษาให้ และมีหมอประจำชุมชนนั้นๆ ด้วย โดยกรณีนี้ประเทศยุโรปและหลายๆ ประเทศเริ่มทำเป็นตัวอย่างแล้ว

หากเราไม่ทำในวันนี้จะเหมือนที่ญี่ปุ่นวันนี้ยังพอมีเวลา แต่อีก 10 ปีข้างหน้าเราต้องปรับตัวจริงๆ เพราะอาจเกิดปัญหาใหญ่ขึ้นได้ ซึ่งต้องอาศัยผู้ที่เกี่ยวข้องช่วยกันดูแล

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 29 เมษายน 2556