ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ภาคปชช.บุกวงสัมมนาธุรกิจ "อียูเอฟทีเอ" ปลุกสำนึก อย่าสนแต่ผลประโยชน์ ทำร้ายสังคม แสดงจุดยืนไม่เอาน้ำเมาเข้าเจรจา FTA ไทย-อียู เหตุส่งผลกระทบร้ายแรงก่อปัญหาสุขภาพกว่ายาเสพติด อาวุธสงคราม 30 เท่า

วันที่ 29 เม.ย. ที่โรงแรมสวิสโซเทล เลอคองคอร์ด เวทีสัมมนา “ประโยชน์และโอกาสของไทยจากการเจรจาการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป” โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคีเครือข่ายสุขภาพ เครือข่ายงดเหล้า เข้าร่วมเสนอความเห็นน.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า แทบจะหาคุณค่าและความหมายจากการจัดสัมมนาโดยภาคธุรกิจในวันนี้ไม่ได้เลย เนื่องจากผู้จัดคือ3สมาคมธุรกิจในนามสภาธุรกิจร่วมไทย-ยุโรป ตั้งธงมาโดยตลอดว่าไม่ว่าต้นทุนจะสูงสักเพียงใด หรือแม้แต่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ผลประโยชน์ที่แท้จริงของการมีเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป จะมีมากน้อยแค่ไหน ก็ต้องเจรจาทำความตกลงเสียให้ได้ เพราะผลประโยชน์ทางธุรกิจของผู้ส่งออก ไปยังตลาดยุโรป เป็นผลประโยชน์ของอภิมหาทุน ซึ่งมีอิทธิพลครอบงำองค์กรที่อ้างว่า เป็นตัวแทนของภาคธุรกิจในประเทศไทย

“ความเสียหายที่จะเกิดโดยรวมของสังคมไทยจะเป็นอย่างไร ก็ไม่สำคัญเท่าการได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ในการส่งสินค้าเข้ายุโรปต่อไป กลุ่มอภิมหาทุนเหล่านี้ กำลังมอมเมาคนไทยให้เข้าใจว่า ความเดือดร้อนและปัญหาอันเกิดจากเอฟทีเอ เป็นสิ่งที่คนไทยจำต้องกล้ำกลืน หากทนไม่ไหว สุดท้ายก็ให้รัฐนำเงินภาษีคนคนไทยทั้งชาติมาเยียวยา” นางสาวกรรณิการ์ กล่าว

ด้าน ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา จะเห็นว่า การเจรจาการค้ามีมิติทางธุรกิจด้านเดียว โดยไม่มองว่า สินค้าไม่ธรรมดาอย่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นสินค้าที่ทำลายสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ แม้ธนาคารโลก ยังแนะนำว่า ยิ่งควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยิ่งทำให้เศรษฐกิจดี หรือกล่าวได้ว่า ไม่มีสินค้าใดอีกแล้ว ที่สามารถฆ่าคนได้มากเหมือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คนไทยต้องเสียชีวิตจากน้ำเมาปีละกว่า26,000คนมากกว่าความสูญเสียจากอาวุธสงคราม และยาเสพติด รวมกันถึง30เท่า มูลค่าความสูญเสียปีละกว่า200,000ล้าน ขณะเดียวกันสังคมไทย ต้องเต็มไปด้วย อาชญากรรม ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งคดีทำร้ายร่างกาย คดีทางเพศ โดยมีคดีที่ก่อเหตุหลังดื่มสุราเฉลี่ยวันละ69คดี

“เครือข่ายไม่อยากให้บนโต๊ะเจรจาการค้าเสรี มองเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เหมือนสินค้าอื่นๆ เพราะมีข้อมูลทางวิชาการที่ยืนยันชัดเจนแล้วว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าที่ควรจะส่งเสริมให้บริโภคกันมากๆผ่านการค้าเสรี ที่มุ่งทำให้สินค้าราคาถูก บริการดี เหมือนสินค้าที่เป็นประโยชน์กับมนุษย์ เช่นเดียวกับที่ในโลกนี้ ไม่เคยคิดจะนำ อาวุธ ยาเสพติดมาค้าเสรีนั่นเอง แต่น้ำเมาฆ่าคนมากกว่ายาเสพติด และอาวุธทำไมจะนำมาค้าเสรีและหากรัฐบาลจริงใจปกป้องสังคม ต้องมีความชัดเจนคือถอนรายการสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกจากการเจรจาการค้าเสรี

โดยเครือข่ายฯจะเดินหน้าแสดงจุดยืนต่อเรื่องนี้ต่อไปและพร้อมจับตาการเคลื่อนไหวของกลุ่มอุตสาหกรรมสุราข้ามชาติ เพื่อหยุดยั้งต่อต้านการแสวงหาผลประโยชน์จากการเจรจาครั้งนี้อย่างไรก็ตามเราไม่ได้มีเจตนาต่อต้านการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูแต่ต้องการต่อต้านสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและขัดต่อศีลธรรม ที่จะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์กับประเทศไทย และสมาชิกในอาเซียนต่อไป" ภก.สงกรานต์กล่าว

ภาคประชาสังคมยังมองว่า ความพยายามกดดันให้เร่งเจรจาเพื่อทันต่อสิทธิจีเอสพีต้นปี2558 ทั้งที่ไทยนั้นเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจดีเกินกว่าจะได้สิทธิเช่นนี้แล้ว จะยิ่งเป็นการทำลายอำนาจการต่อรองของผู้เจรจาฝ่ายไทยทั้งนี้ข้อห่วงใยของภาคประชาสังคมต่อการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป ประกอบไปด้วย

1.เรื่องสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไม่ว่าเหล้า-บุหรี่ ไม่เคยถูกพูดถึงในกรอบเจรจา ราวกับว่าไม่ใช่ปัญหา ทั้งที่การรับฟังความคิดเห็นกี่ครั้ง ประเด็นนี้เป็นประเด็นใหญ่เสมอ ดังนั้นต้องไม่เจรจาในสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเหล่านี้

2.เรื่องสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพไม่ได้เป็นเฉพาะเรื่องลดภาษีเท่านั้น แต่เกี่ยวพันโดยตรงกับเรื่องการคุ้มครองการลงทุน ดังเช่นที่ อุรุกวัยและออสเตรเลียกำลังเผชิญการฟ้องร้องเพื่อล้มนโยบายการควบคุมยาสูบจากอุตสาหกรรมบุหรี่ ดังนั้น การเจรจาจะต้องไม่ยอมให้นำข้อพิพาทด้านการลงทุนสาธารณะ การออกนโยบายหรือมาตรการเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ด้านสาธารณสุข สาธารณูปโภคพื้นฐาน และความมั่นคงเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ

และ 3.การเข้าถึงยา, ความมั่นคงด้านยาของประเทศไทย และทรัพยากรชีวภาพของไทยจะได้รับผลประทบจากข้อเรียกร้องด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ในองค์การการค้าโลก (ทริปส์พลัส) ซึ่งประชาชนคนยากจนและเกษตรกรจะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ดังนั้นการเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปต้องไม่ยอมรับทริปส์พลัส

 

ที่มา: http://www.thairath.co.th