ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

หมอประดิษฐไล่บี้ "อภ." อีกแล้ว คราวนี้เป็นยาโอเซลทามิเวียร์ สั่ง "อภ.-อย.-กรมควบคุมโรค" ตรวจสอบวัตถุดิบยา หลังพบค้างสต็อกมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท หมดอายุอีก 3 ปีข้างหน้า ถามทำไมสั่งมาแล้วไม่ผลิต ลั่นให้ประชาชนคิดเอาเองว่าเหมาะสมหรือไม่

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ได้สั่งการให้องค์การเภสัชกรรมไปตรวจสอบรายชื่อยาที่มีมูลค่าสูงเกินกว่า 1 แสนบาท ที่เก็บไว้แล้วใกล้หมดอายุ หรือมีอายุการใช้งานต่ำกว่า 1 ปี มารายงานให้ทราบในวันอังคารที่ 30 เม.ย. ยกตัวอย่างยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ที่ตอนนี้ก็ใกล้จะหมดอายุแล้ว เนื่องจากมีการสั่งเข้ามาตั้งแต่ปี 2552 มูลค่า 500 ล้านบาท มีการนำไปใช้แล้วจำนวนหนึ่ง แต่ยังเหลือเก็บอีกจำนวน 300 ล้านบาท ดังนั้น อภ. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมควบคุมโรค จะต้องไปหารือร่วมกันตามหลักวิชาการและตามหลักจริยธรรม ว่าหากมีการนำไปผลิตเป็นยาจริงๆ จะเหมาะสมหรือไม่ สังคมสามารถยอมรับได้หรือไม่ จากนั้นให้ทั้ง 3 หน่วยงานร่วมกันแถลง ไม่ใช่ให้ตนแถลง ตนคงไม่สามารถพูดเรื่องนี้ได้

"หากตรวจสอบคุณภาพแล้วผ่านก็สามารถผลิตได้ แต่สาธารณชนจะยอมรับหรือไม่ เพราะการที่นำวัตถุดิบที่ใกล้หมดอายุไปผลิตเป็นยา แล้วบอกว่าสามารถใช้ได้อีก 3 ปี ตรงนี้คิดแบบสาธารณชนก็ไม่สามารถอธิบายได้ทางวิทยาศาสตร์ เพราะคำว่าหมดอายุหมายถึงรับ รองให้ใช้ในระยะเวลาเท่านี้ ถ้าใช้หลังจากนี้ก็ไม่รับรองคุณภาพ" นพ.ประดิษฐกล่าว

นพ.ประดิษฐกล่าวว่า ส่วนตัวก็มีคำถามเช่นกันว่านำวัตถุดิบเข้ามาเยอะแล้วทำไมจึงยังไม่ผลิต ทำไมต้องรอให้ใกล้หมดอายุก่อน ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะที่ผ่านมายังไม่เกิดการระบาด จึงยังไม่มีการผลิต เนื่องจากยาตัวนี้ไม่ใช่ยาที่มีเกลื่อนในท้องตลาด หากไม่มีการระบาดใหญ่ แพทย์ก็ไม่กล้าสั่งจ่ายยาพร่ำเพรื่ออยู่แล้ว เพราะผลข้างเคียงจากการใช้ยาดังกล่าวรุนแรงมากถึงขั้นเสียชีวิต และมีอัตราการเกิดผลข้างเคียงมากกว่าการรอดชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ หรือเป็นเพราะที่ผ่านมานำเข้ามาเยอะเกินไป ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ก็ให้ถือเป็นบทเรียน เสียเงินไปแล้วก็ต้องฉลาดขึ้นว่าไม่ควรรีบร้อนสั่งเข้ามามาก ต้องประเมินสถานการณ์แล้วสั่ง หรือสั่งจองเอาไว้ 500,000-1,000,000 โดส หากไม่ได้ใช้ เสียเงินไปแค่นั้นก็ยังดี

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 30 เมษายน 2556