ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ผู้แทนภาคประชาชนด้านเกษตรกร ในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้บอร์ด สปสช.หลายคน รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วยเริ่มไม่พอใจ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. ที่ใช้อำนาจออกมติบอร์ด สปสช. เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้นำเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลฉุกเฉินให้กับผู้ป่วยที่เป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และผู้ประกันตน ทั้งๆ ที่ไม่มีระเบียบรองรับการจ่ายเงินคืน สปสช. ทำให้ 1 ปี นับจากมีนโยบายดังกล่าว สปสช.ต้องสูญเสียงบประมาณไปกว่า 300 ล้านบาท และยังไม่สามารถเรียกเงินคืนได้ เข้าข่ายผิดมาตรา 38 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ในเร็วๆ นี้ เครือข่ายภาคประชาชนจะร่วมกับเครือข่ายผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนยื่นฟ้องศาลอาญา ศาลปกครอง และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา กล่าวว่า การใช้เงินผิดวัตถุประสงค์จะทำให้โรงพยาบาลในชนบทได้งบประมาณน้อยลง และทำให้ผู้ป่วยเดือดร้อน ในฐานะที่โรงพยาบาลได้รับผลกระทบโดยตรง เครือข่ายผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะร่วมกับเครือข่ายผู้ป่วยและภาคประชาชน มอบหมายให้ทนายความยื่นเรื่องฟ้องเอาผิดทางอาญา ทางปกครอง และทางวินัย กับนายกฯและรัฐมนตรีว่าการ สธ.

ขณะที่ นพ.ประดิษฐกล่าวถึงกรณีชมรมแพทย์ชนบทระบุว่า สธ.ล็อกสเปกการจัดซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ว่า ขอให้แพทย์ชนบทแสดงหลักฐานให้ชัดเจน

วันเดียวกัน นายไพฑูรย์ บุญอารักษ์ ประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งประเทศไทย พร้อมประธานชมรม อสม.77 จังหวัดทั่วประเทศ เข้าพบ นพ.ประดิษฐ ร้องเรียนว่าถูก นพ.อารักษ์ วงษ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช กล่าวละเมิดวิชาชีพกรณีระบุว่า อสม.ไม่มีความรู้และไม่มีความเชี่ยวชาญในการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด อาจทำให้การแปลผลผิดพลาดได้

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 2 พฤษภาคม 2556