ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

สหภาพ อภ.ร้อง กมธ.วุฒิสอบ'ประดิษฐ' ลัดขั้นตอนชง'ดีเอสไอ' เช็กบิลฮั้วประมูลวัตถุดิบยาพาราฯ ทำ อภ.เสียชื่อ

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) แถลงข่าวกรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งสำนวนคดีสั่งซื้อวัตถุดิบยาพาราเซตามอล ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อตรวจสอบ นพ.วิทิต และ นพ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานคณะกรรมการ อภ. เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) และความผิด มาตรา 157 กฎหมายอาญา ว่า รู้สึกผิดหวังเพราะข้อเท็จจริงดีเอสไอได้นัดให้เข้าชี้แจงในวันที่ 7 พฤษภาคม แต่กลับส่งสำนวนไปยัง ป.ป.ช. อย่างเร่งด่วน ถือว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม

นพ.วิทิตกล่าวว่า ถึงแม้ดีเอสไอจะระบุว่าได้ให้ข้อมูลเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ข้อเท็จจริงเมื่อดีเอสไอนัดเข้าชี้แจงอีกครั้ง ก็ควรรอ ไม่ใช่กระทำเช่นนี้ เพราะที่ผ่านมา เมื่อดีเอสไอนัดชี้แจงเมื่อใดก็ให้ความร่วมมือ ตั้งแต่มีการประกาศเรื่องนี้เป็นข่าวครึกโครมเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา และวันที่ 29 มีนาคม ได้เชิญเข้าให้ข้อมูล ก็ให้ความร่วมมือมาตลอด จึงรู้สึกผิดหวังกับการกระทำแบบนี้ ที่ไม่มีความเป็นธรรม ไม่มีโอกาสแสดงความบริสุทธิ์เลยและเป็นห่วงว่า สิ่งที่เกิดขึ้นได้สร้างความเสียหายกับ อภ.มหาศาล แต่จะร่วมกับ นพ.วิชัย ต่อสู้ตามสิทธิต่อไป และยืนยันว่าไม่ลาออก เพราะจะต้องปกป้องสิทธิ ของตนเองและองค์กร ตราบเท่าที่ยังบริหาร อภ.อยู่

"ผมเป็นลูกจ้าง เข้ามาในสัญญาจ้าง หมดสัญญาผมก็ไป แต่องค์การต้องอยู่ต่อไป นาทีนี้พนักงานทุกคนรู้สึกผิดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะการที่คิดจะทำอะไรกับใคร กับผู้บริหารก็ทำ แต่ไม่ควรทำให้องค์กรเสียหาย" นพ.วิทิตกล่าว และว่า ในการประชุมคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) เมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา ได้สอบถามเรื่องค่าใช้จ่ายในการสู้คดีว่า จะดำเนินการอย่างไร เนื่องจากจะเป็น เรื่องยาว ที่สำคัญการถูกพาดพิงว่าขัดกับ พ.ร.บ. ฮั้วประมูลฯ นั้น ถือเป็นกฎหมายอาญา มีโทษสูงสุดจำคุก 20 ปี จึงจำเป็นต้องสอบถามเรื่องค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีด้วย โดยบอร์ด อภ. มีมติว่า ไม่มีระเบียบและไม่เคยจ่ายเกี่ยวกับ เรื่องนี้ แต่แนะนำให้ดำเนินการในรูปกองทุนและการบริจาค ดังนั้น เบื้องต้นจะมีการตั้งกองทุนกลางในการช่วยเหลือเรื่องนี้ ซึ่งปัจจุบันก็มีประชาชนที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเพราะอยากเห็นความเป็นธรรม

นพ.วิทิตกล่าวอีกว่า ในวันประชุมบอร์ด อภ. ประธานบอร์ด อภ.ได้บริจาคเงินเบี้ยประชุม 10,000 บาทเศษๆ ให้กับตนในการต่อสู้คดี และมีประชาชนบริจาคช่วยเหลือในการสู้ความจริงตรงนี้ด้วย จึงเรียนให้ทราบว่า มือหนึ่งต้องทำงานไป แต่อีกมือหนึ่งก็ต้องต่อสู้คดีความด้วยตัวเอง เพราะเป็นคดีอาญา ที่เป็นห่วงคือ หากสุดท้าย ป.ป.ช.ไม่พบมูลความผิด คือตน และ นพ.วิชัย เป็นผู้บริสุทธิ์ ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพวกตนและองค์กร ที่มีเจ้าหน้าที่หลายชีวิตกว่า 3,000 คน ได้รับผลกระทบกับเรื่องนี้ ถามว่าใครจะออกมารับผิดชอบต่อความเสียหายเหล่านี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องนี้มีนัยยะแอบแฝงที่ต้องการปลดออกจากตำแหน่งหรือไม่ นพ.วิทิตกล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะหากต้องการให้ออก ต้องทำถึงขนาดนี้เลยหรือ เพราะการทำแบบนี้ทำให้องค์กรเสียหาย คิดว่าไม่คุ้มค่า แต่ก็ไม่ทราบว่าใครคิดอย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อไม่มีโอกาสชี้แจงเรื่องนี้ จะฟ้องร้องหรือดำเนินการใดๆ นพ.วิทิต กล่าวว่า คงไม่ฟ้องร้อง แต่จะเดินหน้าสู้ต่อไปด้วยข้อเท็จจริง อย่างกรณีที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่า การสั่งซื้อวัตถุดิบยาพาราฯ จำนวนมาก แต่ไม่มีแผนในการผลิต ข้อเท็จจริงคือ มีแผนในการผลิตมาอยู่ก่อนแล้ว โดยมีโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยาที่เรียกว่า Mass Production โดยมีแผนผลิตยากว่า 15 รายการ หนึ่งในนั้นมียาพาราเซตามอล ซึ่งภายหลังได้รับการอนุมัติการจัดสร้างโรงงานฯ ก็ได้มีการดำเนินการ สั่งซื้อวัตถุดิบมาแบบคู่ขนาน ระหว่างการก่อสร้าง เพื่อใช้ในการทดลอง ศึกษาผลิตเบื้องต้นล็อตแรกสั่งมา 48 ตัน หากเกิดปัญหาจากการว่าจ้างโรงงานเพื่อใช้ในการทดลอง ศึกษาผลิตเบื้องต้นล็อตแรกสั่งมา 48 ตัน หากเกิดปัญหาจากการว่าจ้างโรงงานเภสัชกรรมทหาร และบริษัทเอกชน  ทาง อภ.ก็จะสามารถผลิตยาในโรงงานนี้ได้ ที่ผ่านมาก็มีปัญหาในการว่าจ้างผลิต จนเกิดคำถามจากเจ้าหน้าที่และประชาชนว่า ทำไม อภ.ไม่ผลิตเอง ทำให้ต้องมีแผนสร้างโรงงานขึ้น โดยปัจจุบันโรงงานนี้ก่อสร้างเสร็จตั้งแต่วันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งพร้อมผลิตเช่นกัน โดยมีเครื่องจักรตอกเม็ดยา สามารถผลิตได้ในปริมาณ 4 แสนเม็ดต่อชั่วโมง จากเดิม 2.7 แสนเม็ดต่อชั่วโมง

นพ.วิทิตกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ การเลือกบริษัทนำเข้าวัตถุดิบ ไม่ได้มุ่งเลือกบริษัทเดียว แต่มีขั้นตอนในการเลือกจาก 6 บริษัท เหลือ 4 บริษัท และเหลือ 2 บริษัท กระทั่งเลือกเหลือ 1 บริษัท เนื่องจากอีกบริษัทไม่ได้ส่งเอกสารสำคัญเกี่ยวกับคุณภาพ แต่ไม่ได้หมายความว่าตกคุณภาพ อภ.จึงตัดสินใจเลือกจัดซื้อด้วยวิธีการพิเศษอีกบริษัท ซึ่งที่ผ่านมา อภ.ได้ดำเนินการจัดซื้อด้วยวิธีการพิเศษมาตลอด เพราะ อภ.เป็นรัฐวิสาหกิจ มีระเบียบการจัดซื้อพัสดุของ อภ.เอง จะใช้ระเบียบพัสดุของสำนักนายกรัฐมนตรีมาพิจารณาเหมือนหน่วยงานราชการอื่นไม่ได้

เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ว่าดีเอสไอจะตรวจสอบกรณีโรงงานวัคซีนออกมาเหมือนวัตถุดิบยาพาราฯ นพ.วิทิตกล่าวว่า หากทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ให้โอกาสในการชี้แจง ก็ไม่กังวล แต่จากเรื่องวัตถุดิบยาพาราฯ ค่อนข้างผิดหวังมาก

ด้านนายสมศักดิ์ โตรักษา ทนายความของ นพ.วิทิตและ อภ. กล่าวว่า ในระบบการค้นหาความจริงหรือการสอบสวน ไม่ใช่พิสูจน์ความผิดของผู้ถูกกล่าวหาอย่างเดียว แต่ต้องให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาพิสูจน์ชี้แจงคู่ขนานด้วย ซึ่งเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องรีบเร่งสรุปผล ในเมื่อผู้ถูกกล่าวหาต้องการเข้าชี้แจงในวันที่ 7 พฤษภาคม แต่กลับไม่เปิดโอกาสให้ชี้แจง ทำให้สังคมเกิดคำถามว่ารีบด่วนสรุปทำไม ทั้งที่ผู้เกี่ยวข้องพร้อมเข้าชี้แจงเพราะมั่นใจในความบริสุทธิ์การทำงาน ทั้งนี้ จากข้อมูลและหลักฐานของ อภ.เห็นว่าสามารถชี้แจงได้ด้วยเหตุผลในทุกประเด็นกล่าวหา โดยจะนำหลักฐานทั้งหมดชี้แจงในขั้นสอบสวนต่อไป หากท้ายที่สุดแล้ว ป.ป.ช.ชี้ว่าไม่มีมูล ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่รายบุคคล และ อภ.ใครจะรับผิดชอบ ส่วนจะมีการฟ้องกลับหรือไม่นั้น เป็นสิทธิของบุคคลและองค์กร

ผู้สื่อข่าวถามการกระทำแบบนี้ละเมิดสิทธิหรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า ตอนนี้กำลังรวบรวมข้อมูลว่าจะมีผลกระทบอย่างไร การที่ไม่ให้เข้าชี้แจง ผลกระทบจะมีต่อพนักงานสอบสวนเอง ทั้งส่วนการมองของสาธารณชนแน่ๆ แต่หากให้เข้าชี้แจงก่อน ผลจะเป็นยังไงไม่ได้ติดใจ ก็เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมอีกขั้นตอน แต่การนำเสนอข้อเท็จจริงควรนำเสนอทั้งสองฝ่าย

ขณะที่ นายสมชาย ขำน้อย รองประธานสหภาพแรงงานองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า สภาพองค์การเภสัชฯ ต้องการเรียกร้องให้ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่ายาของ อภ.มีคุณภาพเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานบอร์ด อภ. กล่าวถึงกรณีการสอบสวนทางวินัย นพ.วิทิต ว่าต้องพักงานหรือไม่ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบ คาดว่าจะประชุมอีกครั้งในปลายเดือนพฤษภาคมนี้

นพ.ประดิษฐกล่าวว่า ไม่คิดดิสเครดิตใคร แต่ต้องการทำให้ อภ.โปร่งใส ชัดเจนในทุกขั้นตอน เพราะเป็นหน่วยงานที่ผลิตยาซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตคน

"สิ่งที่ทำคือ พยายามให้ประชาชนไว้ใจ หากไม่ทำ ก็อึมครึม สื่อก็ลงแต่คำถาม สุดท้ายคือความลังเล ประชาชนไม่เชื่อมั่น ถ้าประชาชนบอกว่ายา อภ.กินไม่ได้ก็เสียหายทั้งประเทศ ดังนั้น สหภาพ อภ.ต้องช่วยกันในเรื่องนี้ การตรวจสอบเรื่องยาอาจเป็นเพียงการบริหารจัดการที่ไม่รอบคอบเท่านั้น" นพ.ประดิษฐกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ นพ.วิทิต เรียกร้องความเป็นธรรม นพ.ประดิษฐกล่าวว่า หาก ป.ป.ช.ชี้มูลว่าผิด นพ.วิทิตจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร ส่วนที่กลุ่มเอ็นจีโอยื่นร้องต่อวุฒิสภาถึงธรรมาภิบาลในการสอบสวนนั้น เป็นเรื่องที่ดี ทุกองค์กรทำตามหน้าที่ ทำโดยถูกต้องก็ต้องกล้าให้พิสูจน์ และต้องคงทนต่อการตรวจสอบ แต่หากถูกตรวจสอบอย่างไม่มีธรรมาภิบาลก็ร้องเรียนได้

ที่รัฐสภา ตัวแทนสหภาพองค์การเภสัชกรรม ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษา ตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา กรณี นพ.ประดิษฐ ให้ดีเอสไอตรวจสอบเรื่องทุจริตการจัดซื้อวัตถุดิบยาพาราเซตามอล ขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) โดยกระบวนการทั้งหมดไม่ผ่านการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงภายในองค์กร ถือเป็นการกระทำที่ข้ามขั้นตอน และทำลายภาพลักษณ์ขององค์การเภสัชกรรม และเรียกร้องให้ ส.ว.ถอดถอนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายอาญามาตรา 326 และ 157 ด้วย

น.ส.รสนากล่าวว่า มอบให้คณะอนุ กมธ.เสริมสร้างธรรมาภิบาลในภาครัฐ ที่มี พล.อ.อ. วีรวิทย์ คงศักดิ์ เป็นประธาน ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นไปตามคำเรียกร้องดังกล่าวหรือไม่ โดยจะเชิญ รมว.สธ,อภ. เข้ามาชี้แจงอย่างเร่งด่วน และอาจเชิญดีเอสไอเข้าชี้แจงด้วย

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 3 พฤษภาคม 2556