ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

 “หมอประดิษฐ” ลั่นเดินหน้าพีโฟว์ฟี เหตุได้ประโยชน์ทั้งหมอ และคนไข้ ชี้หากระบบรายงานครบถ้วน รพ.สามารถนำไปใช้เบิกเงินจาก สปสช.มากขึ้น เผยที่ผ่านมาเบิกเงินไม่ได้ ปีละ 2,000-3,000 ล้าน

วันนี้ ( 3 พ.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน ( พีโฟว์พี) ว่า ขณะนี้อยู่ในระยะของการนำไปปฏิบัติ ได้มีความพยายามในการพูดคุยกัน เช่น ประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผอ.รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป รพ.ชุมชน เพื่อทำความเข้าใจให้ชัดเจนถึงวิธีการปฏิบัติก่อน ซึ่งในระยะแรก มี รพ.ชุมชนหลายแห่งกังวลใจในเรื่องนี้ แต่หลังจากพูดคุยกันแล้วหลายแห่งยินดีที่จะทำ โดยขอให้มีทีมพี่เลี้ยงเข้าไปช่วย ส่วนการจะประเมินภายใน 1 เดือนว่าดีหรือไม่ดีนั้นเป็นเรื่องที่เร็วเกินไปเพราะขณะนี้ รพ.ส่วนใหญ่อยู่ในขั้นการเก็บข้อมูล ความเร็วหรือช้าในการดำเนินการขึ้นอยู่กับความพร้อมของ รพ.แต่ก็เริ่มทยอยทำแล้ว รวมทั้งได้ให้ รพ.ชุมชนส่งข้อมูลเรื่องการปรับระดับพื้นที่ควบคู่ไปด้วย ขอให้ทุก รพ.เริ่มต้นทำ ตามประกาศของของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนเรื่องที่เป็นปัญหาในทางปฏิบัติแก้ไขได้

รมว.สาธารณสุข กล่าวต่อว่า การจ่ายค่าตอบแทนแบบพีโฟว์พีเป็นการจ่ายค่าตอบแทนตามประสิทธิภาพของงานและคุณภาพ ไม่ใช่การจ่ายตามปริมาณงานอย่างเดียว สิ่งที่ประชาชนได้คือคุณภาพบริการแบบครบวงจร ทั้งรักษา ส่งเสริม ป้องกัน ส่วนแพทย์ บุคลากรจะได้มีการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพการให้บริการ และได้ค่าตอแทนตามหลักธรรมาภิบาล ใครภาระงานมากก็ได้ค่าตอบแทนมาก เป็นการรั้งให้คนที่อยู่ใน รพ.มากขึ้น และเป็นช่องทางอย่างหนึ่งในการปรับปรุงประสิทธิภาพเชิงระบบทั้งหมด หากประสิทธิภาพดีจะมีเงินเหลือมีระเบียบนี้รองรับจ่ายให้บุคลากรที่ทำงานตามวัตถุประสงค์ให้ดีขึ้น และประโยชน์จากการทำอีกอย่าง คือระบบรายงานจะครบถ้วน รพ.สามารถนำไปใช้ในการเบิกเงินจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) มากขึ้น ที่ผ่านมารายงานไม่ครบ เบิกเงินไม่ได้ ปีละ 2,000-3,000 ล้านบาท รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขก็ยังได้ข้อมูลการบริการทางสุขภาพที่ครบถ้วน ทั้งนี้การจ่ายแบบนี้จะเป็นรูปแบบของหน่วยราชการต่อไป ถ้าต่อไปจะมีการเพิ่มค่าตอบแทนต่าง ๆ เพื่อจะลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ การใช้เงินค่าตอบแทนตามคุณภาพและประสิทธิภาพ จะทำให้ประชาชนยอมรับได้ เป็นเงินที่ข้าราชการได้ด้วยความชอบธรรมและถูกต้อง

นพ.ประดิษฐ กล่าวด้วยว่า สำหรับกรณีแพทย์ 7 จังหวัดชายแดนใต้ ขอให้จ่ายค่าตอบแทนแบบ 2 ระบบนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะใน รพ.อาจมีบุคลากรบางกลุ่มอยากทำ กลายเป็น 1 โรงพยาบาล มี 2 ระบบดำเนินงาน น่าจะทำแบบที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอดีกว่า จะได้ไม่เป็นการตัดสินแทนคนอื่นและตัดสิทธิผู้อื่น ถ้าทำแบบเดิมบุคลากรด้านอื่นจะเสียประโยชน์ เพราะไม่ครอบคลุมทุกสายงาน

ด้าน นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบบริการสุขภาพ รพ.มะการักษ์ จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า รพ.มะการักษ์ ได้เริ่มระบบพีฟอร์พีตั้งแต่ปี 2546 แต่จ่ายจริงในปี 2552 ในช่วงเริ่มต้นมีอุปสรรคบ้างในเรื่องการเก็บค่าคะแนนวิชาชีพ เจ้าหน้าที่มองว่าไม่ยุติธรรม ได้แก้ไขโดยมีคณะกรรมการคอยปรับค่าคะแนนให้เหมาะสม เช่น งานสำคัญ งานเร่งด่วน งานนโยบาย อาจได้ค่าคะแนนเพิ่มขึ้น งานเชิงรุกหรืองานส่งเสริมป้องกัน อาจเป็นงานที่คนไม่อยากทำ ก็ได้ใช้คะแนนที่เพิ่มขึ้นมาเป็นแรงจูงใจ ในช่วงแรก ๆ เจ้าหน้าที่อาจเข้าใจว่าเป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้น แต่หลังจากระบบเดินไปแล้ว ก็เข้าใจดีขึ้น และเห็นความชัดเจนของผลการทำงานของเจ้าหน้าที่แต่ละคน และเกิดความภาคภูมิใจในผลงานที่ปรากฏในการให้บริการประชาชน สำหรับกระแสข่าวที่มีเจ้าหน้าที่ รพ.อื่น มีความเห็นว่าไม่ควรทำนั้น จากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของ รพ. พบว่าส่วนใหญ่มั่นใจว่าสิ่ง รพ.มะการักษ์ทำมานั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว และอยากให้ทุก รพ.ลองเดินหน้าทำไปก่อน จะเข้าใจระบบนี้ดีขึ้นเรื่อย ๆ เกิดการปรับตัวไปในทางเดียวกัน หากยังไม่ได้เริ่มต้นเดินก็จะรู้สึกกังวล

 “จากการประเมินผลพบ ระบบการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงานสร้างความพึงพอใจเจ้าหน้าที่จากร้อยละ 30 ในปี 2552 เพิ่มเป็นร้อยละ 70 ในปี 2555 ส่วนระบบบริการประชาชนดีขึ้น เวลารอคอยบริการในโรงพยาบาลลดลง จาก 95 นาทีในปี 2552 เหลือเพียง 83 นาที ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน โรงพยาบาลตั้งไว้ 90 นาที และขณะเดียวกันความพึงพอใจประชาชนเพิ่มจากร้อยละ 80 เป็นมากกว่าร้อยละ 88 ในช่วงเดียวกัน และระบบนี้ยังช่วยให้เจ้าหน้าที่มีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องทั้งในระดับบุคคลและระดับงานภาพรวมที่รับผิดชอบ และมีการปรับเกลี่ยบุคคลากรส่วนเกินไปช่วยส่วนที่ขาด เติมเต็มระบบ”นพ.อนุกูล กล่าว.

ที่มา: http://www.dailynews.co.th