ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

นักวิชาการเภสัชจุฬาฯป้อง อภ. จี้'ประดิษฐ-ดีเอสไอ' หยุดให้ข่าวทำภาพลักษณ์เสียหาย คนเข้าใจผิดผลิตยาไม่ได้มาตรฐาน 'ธาริต'ปัดกลั่นแกล้ง'หมอวิทิต' เหตุหนังสือชี้แจงมีมูลเพียงพอแล้ว

กลุ่มนักวิชาการเภสัชศาสตร์ แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) และหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม (วจภส.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมตัวกันแถลงข้อกังวลต่อภาพลักษณ์ขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) กรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ส่งสำนวนคดีการจัดซื้อวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอล ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อตรวจสอบ นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการ อภ.และ นพ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานบอร์ด อภ. ที่เข้าข่ายผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) และมาตรา 157 กฎหมายอาญา

ทั้งนี้ มีการแถลงข่าวภายในงานเสวนาวิชาการ "ความมั่นคงของระบบจัดหายาของประเทศไทย" ที่โรงแรมเดอะ ทวิน ทาวเวอร์ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม โดย ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ อาจารย์ประจำหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม จุฬาฯ กล่าวว่า นักวิชาการด้านเภสัชศาสตร์มีความกังวลถึงกรณีข่าวของ อภ. เนื่องจากเรื่องนี้ไม่ได้ส่งผลแค่ตัวบุคคลที่ยังไม่สรุปว่า ผิดจริง แต่ที่แน่ๆ ขณะนี้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของ อภ.ในภาพรวม ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า อภ.ผลิตยาไม่ได้มาตรฐาน และจะนำไปสู่ปัญหาการไม่กล้าใช้ยาที่ผลิตในประเทศไทย โดยเฉพาะยาชื่อสามัญ หรือยาที่ผลิตหลังจากยาต้นแบบหมดสิทธิบัตร จะทำให้เกิดการผูกขาดยา จากต่างประเทศ มีผลกระทบทางลบทั้งต่อสุขภาพ ของประชาชน และต่อเศรษฐกิจความมั่นคงของประเทศ

"ขอเรียกร้องให้ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หยุดให้ข่าวที่อาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ของ อภ. รวมทั้งดีเอสไอควรมีข้อมูลทางหลักวิชาการให้ชัดเจนก่อนจะประกาศหรือพูดอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ เนื่องจากเรื่องการผลิตวัตถุดิบยาพาราเซตามอลเป็นเรื่องวิชาการ ขั้นตอนการผลิต การเลือกบริษัท ล้วนมีรายละเอียด การจะพูดว่าปนเปื้อน ต้องมีข้อมูลชัดเจน ซึ่งปกติขั้นตอนการผลิตยาจะมีระบบตรวจสอบคุณภาพ ความการจะพูดว่าปนเปื้อน ต้องมีข้อมูลชัดเจน ซึ่งปกติขั้นตอนการผลิตยาจะมีระบบตรวจสอบคุณภาพ ความปลอดภัย การพบอะไรปนเปื้อน หรือสิ่งแปลกปลอมเพียงเล็กน้อยเป็นเรื่องปกติที่บริษัทผลิตยาทั่วโลกต้องเจอ เมื่อพบก็ไม่มีการผลิต นับเป็นเรื่องปกติของการผลิตยาอยู่แล้ว" ภญ.จิราภรณ์กล่าว

ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงาน กพย. กล่าวว่า การมีข่าวออกมาในทำนองลักษณะนี้ ย่อมทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า อภ.ผลิตยาไม่มีคุณภาพ ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นได้สร้างความเสียหาย จึงอยากถามผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องว่า ใครจะรับผิดชอบเรื่องดังกล่าว

ภญ.กาญจน์พิมล ฤทธิเดช ภาควิชาวิทยาการเภสัชกรรมและเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ระบบการผลิตยาภายในประเทศเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตยาฉบับปัจจุบัน หรือจีเอ็มพี เป็นมาตรฐานสากลที่องค์การอนามัยโลก หรือฮู รับรอง รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นผู้กำกับ ดูแล ตรวจสอบ และให้ใบรับรองเมื่อผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ ภายใต้การควบคุมดูแลของเภสัชกรประจำโรงงานตามกฎหมาย ซึ่งผู้ผลิตยาในประเทศทุกบริษัทต้องได้รับจีเอ็มพีก่อนจึงจะสามารถผลิตยาออกจำหน่ายได้ รวมถึง อภ.ก็ต้องได้รับการรับรองมาตรฐานเช่นกัน

"วัตถุดิบที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น มีการปนเปื้อนหรือหมดอายุ จะไม่ได้รับอนุญาตให้นำไปผลิตเป็นยาสำเร็จรูป ส่วนวัตถุดิบที่ยังอยู่ในมาตรฐาน แต่ใกล้หมดอายุ ไม่ได้หมายความว่า เมื่อผลิตเป็นยาสำเร็จรูปจะต้องหมดอายุตามวัตถุดิบ เนื่องจากสูตรตำรับและกระบวนการผลิตสามารถขยายเวลาความคงสภาพของยาสำคัญให้อยู่ในมาตรฐานเภสัชตำรับได้ ดังนั้น อายุของยาสำเร็จรูปจะนับตั้งแต่เริ่มการผลิตเป็นยาสำเร็จรูปเป็นต้นไป" ภญ.กาญจน์พิมลกล่าว

รศ.ดร.ภก.สาธิต พุทธิพิพัฒน์ขจร ภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในส่วนข้อกังวลว่าการนำวัตถุดิบใกล้หมดอายุมาผลิตยาจะผิดจริยธรรมหรือไม่นั้น หากทำตามขั้นตอนทางเภสัชศาสตร์ มีการตรวจสอบคุณภาพ ประสิทธิภาพ ความปลอดภัย ก็ไม่ถือว่าผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพ

ด้านนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ กล่าวถึงกรณี นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการ อภ. ระบุว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากดีเอสไอนัดให้เข้าชี้แจงในวันที่ 7 พฤษภาคม แต่กลับส่งสำนวนไปยัง ป.ป.ช.ก่อนว่า การชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรของ นพ.วิทิต ในประเด็นการจัดซื้อวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอลนั้น ดีเอสไอเห็นว่าเพียงพอที่จะชี้มูลเบื้องต้นในชั้นสืบสวน สามารถสรุปสำนวนส่งให้ ป.ป.ช.ไต่สวนชี้มูลได้ อีกทั้งในขั้นตอนนี้ดีเอสไอไม่ได้สอบปากคำ นพ.วิทิต ในฐานะผู้ถูกกล่าวหา ที่พนักงานสอบสวนจะต้องรับฟังคำให้การของผู้ถูกกล่าวหาในการแก้ข้อกล่าวหา และที่สำคัญดีเอสไอไม่มีอำนาจในการแจ้งข้อกล่าวหากับ นพ.วิทิต และ นพ.วิชัย รวมทั้งการสรุปสำนวนส่งอัยการสั่งฟ้องเหมือนคดีอาญาทั่วไป เพราะผู้เกี่ยวข้องเป็นเจ้าหน้าที่รัฐจึงต้องส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช.

"หาก นพ.วิทิตมีพยานหลักฐานเอกสารชี้แจงเพิ่มเติม ควรจะไปชี้แจงในการไต่สวนของ ป.ป.ช.น่าจะเป็นผลมากกว่า ส่วนการเข้าชี้แจงของ นพ.วิทิต ในวันที่ 7 พฤษภาคมนั้น จะเป็นการชี้แจงในประเด็นการก่อสร้างโรงงานวัคซีนเท่านั้น" นายธาริตกล่าว

นายธาริตกล่าวว่า ขอยืนยันว่าดีเอสไอมีเอกสารหลักฐานเพียงพอในชั้นสืบสวนว่าพบการกระทำที่เข้าข่ายกระทำผิด พ.ร.บ.ฮั้วประมูล ซึ่งเป็นกฎหมายตามบัญชีแนบท้ายของดีเอสไอ ที่สามารถดำเนินคดีได้ทันที ไม่ต้องนำเรื่องเข้าคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ทั้งนี้ หากดีเอสไอสรุปสำนวนเบื้องต้นไปยัง ป.ป.ช. แล้วทาง ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นควรส่งเรื่องกลับมายังดีเอสไอให้ดำเนินการสอบสวนต่อจนแล้วเสร็จ ในขั้นตอนนั้นดีเอสไอจะเรียกทั้ง 2 คน มา สอบปากคำอย่างละเอียดอีกครั้ง

"หากในอนาคต ป.ป.ช.สรุปว่าไม่ผิดหรือไม่มีมูล และ นพ.วิทิตคิดว่าได้รับความเสียหาย ผมในฐานะหัวหน้าองค์กรดีเอสไอ ยินดีรับผิดชอบทางกฎหมาย แต่อยากบอกว่าที่ผ่านมาดีเอสไอทำหน้าที่ตามอำนาจหน้าที่ ไม่ได้กลั่นแกล้งใคร" นายธาริตกล่าว และว่า ประเด็นที่มีการกล่าวหาว่าดีเอสไอทำให้ภาพลักษณ์ อภ.เสียหาย ดิสเครดิต ลดความเชื่อมั่นองค์กรนั้น คิดว่าควรเลิกพูดแบบนี้ เพราะดีเอสไอเข้าไปตรวจสอบคนในองค์กร และเบื้องต้นผลปรากฏว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นและคนในองค์กรเกี่ยวข้องตามเอกสารหลักฐานที่ปรากฏ

นายธาริตกล่าวว่า สิ่งที่ดีเอสไอบอกกับสาธารณชนผ่านสื่อ เพียงต้องการให้สังคมรับรู้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานของการสอบสวน มีพยานหลักฐานรองรับทุกอย่าง ดีเอสไอมีความเป็นมืออาชีพพอในการทำงาน และที่สำคัญดีเอสไอเป็นองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือเหมือนกัน คงไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่อธิบดีดีเอสไอ ไปเพียงแค่ดิสเครดิตกลั่นแกล้งหรือทำลายองค์กรอื่น เพราะหากเป็นเช่นนั้นความน่าเชื่อถือจะลดลงเช่นกัน

--มติชน ฉบับวันที่ 5 พ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--