ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

หมอประดิษฐลั่นการประเมินผลระบบพีฟอร์พี ในช่วง1 เดือนยังเร็วเกินไป ชี้ยังอยู่ในช่วงของการเก็บข้อมูล และการปฏิบัติหน่วยงาน ยันเดินหน้าระบบพีฟอร์พีขณะที่นักวิชาการด้านเภสัชเรียงแถวป้องอภ.ระบุใช้วัตถุดิบใกล้หมดอายุผลิตยาทำได้อายุยาสำเร็จรูปนักจากวันเป็นยา

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานหรือพีฟอร์พี (P4P) ว่า ขณะนี้ระบบดังกล่าวอยู่ในระยะของการนำไปสู่การปฏิบัติ รวมทั้งมีความพยายามที่จะทำความเข้าใจร่วมกัน เช่น ประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป/ โรงพยาบาลชุมชน เพื่อทำความเข้าใจให้ชัดเจนถึงวิธีการปฏิบัติก่อน ซึ่งในระยะแรกมีโรงพยาบาลชุมชนหลายแห่งกังวลใจในเรื่องนี้ แต่หลังจากพูดคุยกันแล้วโรงพยาบาลชุมชนหลายแห่งยินดีที่จะทำ โดยขอให้มีทีมพี่เลี้ยงเข้าไปช่วย

นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า การจะประเมินภายใน 1 เดือนว่าดีหรือไม่ดีนั้นเป็นเรื่องที่เร็วเกินไป เพราะขณะนี้โรงพยาบาลส่วนใหญ่อยู่ในขั้นตอนการเก็บข้อมูล ส่วนความเร็วหรือช้าในการดำเนินการขึ้นอยู่กับความพร้อมของโรงพยาบาล แต่ก็เริ่มมีการทยอยทำไปแล้ว รวมทั้งได้ให้โรงพยาบาลชุมชนส่งข้อมูลเรื่องการปรับระดับพื้นที่ควบคู่ไปด้วย โดยขอให้ทุกโรงพยาบาลเริ่มต้นทำตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเรื่องที่เป็นปัญหาในทางปฏิบัติ แก้ไขได้

นพ.ประดิษฐ กล่าวต่อไปว่า การจ่ายค่าตอบแทนแบบพีฟอร์พี เป็นการจ่ายค่าตอบแทนตามประสิทธิภาพของงานและคุณภาพ ไม่ใช่การจ่ายตามปริมาณงานอย่างเดียว สิ่งที่ประชาชนได้คือปริมาณและคุณภาพบริการแบบครบวงจร ทั้งรักษา ส่งเสริม และป้องกัน ส่วนแพทย์ บุคลากรจะได้มีการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพการให้บริการ และได้ค่าตอบแทนตามหลักธรรมาภิบาล ใครมีภาระงานมากก็ได้ค่าตอบแทนมาก เป็นการรั้งให้คนที่อยู่ในโรงพยาบาลมากขึ้น รวมทั้งเป็นช่องทางอย่างหนึ่งในการปรับปรุงประสิทธิภาพเชิงระบบทั้งหมด หากประสิทธิภาพการบริหารงานดีจะมีเงินเหลือ

 "ระเบียบนี้รองรับจ่ายให้บุคลากรที่ทำงานตามวัตถุประสงค์ให้ดีขึ้น และประโยชน์จากการทำงานอีกอย่างคือ ระบบรายงานจะครบถ้วน รพ.สามารถนำไปใช้ในการเบิกเงินจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพได้มากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมารายงานไม่ครบ จึงเบิกเงินไม่ได้ ปีละ 2,000-3,000 ล้านบาท รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขก็ยังจะได้ข้อมูลการบริการทางสุขภาพที่ครบถ้วนด้วย นพ.ประดิษฐ กล่าว

นักวิชาการเภสัชออกโรงป้องอภ.

ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา(กพย.) กล่าวถึงกรณีที่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สธ.ให้ดีเอสไอ ตรวจสอบองค์การเภสัชกรรมในข้อสงสัยต่างๆ ว่าในระหว่างนั้นมีการให้ข้อมูลต่อสังคมบางอย่าง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของ อภ.และยาชื่อสามัญ อาจทำให้เกิดการผูกขาดยาจากต่างประเทศและกระทบต่อการเข้าถึงยาของประชาชน ทั้งนี้ หาก อภ.มีการดำเนินการที่ผิดพลาดจริง ก็ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส ที่สำคัญหน่วยงานสืบสวนจะต้องทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ทำตามข้อเท็จจริงและรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการด้วย

เช่น กรณีข้อสงสัยการสต็อกยาโอเซลทามิเวียร์เกินความจำเป็น และจะหมดอายุภายในอีก 3 ปี ข้อเท็จจริง อภ.ดำเนินการตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดคือ ต้องมียาใช้ยามจำเป็นหรือภัยพิบัติ ซึ่งขณะนั้นเกิดการระบาดของโรคไข้หวัดนกขึ้น การสต็อกยาดังกล่าวก็ช่วยให้ประเทศไทยผ่านวิกฤติมาได้ โดนหากอภ.ทำผิดจริง กพย.ก็พร้อมทีจะเข้าไปแสดงความคิดเห็นให้คำแนะนำแต่การตรวจสอบเป็นไปอย่างโปร่งใสโดยใช้หลักวิชาการ ไม่ควรถูกใช้เป็นประเด็นการเมือง

ด้าน ศ.ภญ.กาญจน์พิมล ฤทธิเดช คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประเทศไทยมีระบบผลิตยาที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยมีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เป็นหน่วยงานในการกำกับ ดูแล ตรวจสอบ และให้ใบรับรอง นอกจากนี้ วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตโดยเฉพาะตัวยาสำคัญ(API) จะต้องเข้ามาตรฐานเภสัชตำรับ ซึ่ง อภ.ก็ได้รับการรับรองมาตรฐานในทุกรูปแบบยา การผลิตยาชื่อสามัญทุกตำรับจึงเป็นยาที่ได้มาตรฐานสากล

ส่วนข้อกังวลเรื่องวัตถุดิบที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น มีการปนเปื้อนหรือหมดอายุก็ไม่ได้นำไปผลิตเป็นยาสำเร็จรูปแต่อย่างใด ขณะที่วัตถุดิบใกล้หมดอายุอย่างกรณีโอเซลทามิเวียร์ หากตรวจสอบแล้วยังอยู่ในมาตรฐานก็สามารถนำไปผลิตเป็นยาสำเร็จรูปได้ เพราะวัตถุดิบใกล้หมดอายุไม่ได้หมายความว่า เมื่อผลิตเป็นยาสำเร็จรูปจะต้องมีวันหมดอายุตามวัตถุดิบ เนื่องจากสูตรตำรับและกระบวนการผลิตสามารถขยายเวลาความคงสภาพของยาสำคัญให้อยู่ในมาตรฐานเภสัชตำรับได้ อายุของยาสำเร็จรูปจึงนับตั้งแต่เริ่มการผลิตเป็นยาสำเร็จรูปเป็นต้นไป

ขณะที่ ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ อาจารย์ประจำ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ รมว.สธ.หยุดให้ข่าวที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของอภ.และขอให้ดีเอสไอ ก่อนจะประกาศหรือพูดอะไรเรื่องนี้ควรมีข้อมูลวิชาการ โดยเฉพาะเรื่องยานั้น เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยข้อมูล เนื่องจากการออกมาพูดว่าปนเปื้อนโดยไม่มีข้อมูลมาประกอบ จะยิ่งทำให้สังคมเข้าใจคลาดเคลื่อน ไม่กล้าใช้ยาของอภ.ซึ่งจะส่งผลต่อการผลิตยาในประเทศ อย่างยาชื่อสามัญ จะได้รับผลกระทบที่สุด และในอนาคตจะเปิดช่องให้บริษัทต่างชาติเข้ามามากขึ้น คนไทยก็จะใช้ยาแพงขึ้นซึ่งเรื่องนี้ไม่ส่งผลดีต่อประเทศเลย

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 4 พฤษภาคม 2556