ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความความปลอดภัยทางถนน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์สถิติและสถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา พบว่า ในปี 2556 มียอดรวมการเกิดอุบัติเหตุ 2,828 ครั้ง บาดเจ็บ 3,040 ราย จากการเปรียบเทียบการเกิดอุบัติเหตุในปีที่ผ่านมาพบว่า มีแนวโน้มที่ลดลง จำนวนการเกิดอุบัติเหตุลดลง ร้อยละ 9.62 การบาดเจ็บลดลง ร้อยละ 8.43 แต่จำนวนผู้เสียชีวิตยังใกล้เคียงสงกรานต์ปีก่อน สิ่งสำคัญคือ ความรุนแรงของอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น สาเหตุจากการขับรถเร็ว หลับใน ดื่มแล้วขับ ไม่ใช้อุปกรณ์ป้องกันทั้งหมวก เข็มขัดนิรภัย

นพ.ธนะพงศ์ กล่าวต่อว่า สำหรับสถิติการเกิดอุบัติเหตุชี้ว่า 1 ใน 4 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี แม้การเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดในถนนท้องถิ่น เทศบาล อบต. หมู่บ้าน แต่การเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดบนทางหลวงแผ่นดิน โดย 2 ใน 3 หรือ ร้อยละ 67 เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ สาเหตุหลักยังมาจากเมาแล้วขับ ร้อยละ 39 รองลงมาคือ ขับรถเร็ว ร้อยละ 21.5 จากข้อมูลสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) พบว่า ผู้เสียชีวิต ร้อยละ 55 ขับขี่รถจักรยานยนต์ รองลงมาคือ รถปิกอัพ ร้อยละ 19 และ ร้อยละ 7.4 เป็นคนเดินถนน โดยพบว่ากลุ่มผู้เสียชีวิตที่ดื่มแล้วขับ คิดเป็นครึ่งหนึ่งและมีแนวโน้มมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยตำรวจดำเนินคดีได้เพิ่มขึ้น ทั้งขับรถเร็ว เมาแล้วขับ

นพ.ธนะพงศ์กล่าวว่า ข้อเสนอแนวทางแก้ปัญหา 1.ต้องเร่งพัฒนากลไกการบริหารจัดการของหน่วยงานระดับพื้นที่ให้วิเคราะห์ปัญหาเพื่อแก้ไขได้ตรงจุด ทำต่อเนื่องตลอดปี 2.ปัญหาเมาแล้วขับ ต้องหามาตรการเข้มแข็งมากขึ้น เช่น สนับสนุนเครื่องตรวจแก่เจ้าหน้าที่ 3.ทบทวนความปลอดภัยของถนน จัดการจุดอันตราย และ 4.ผลักดันกฎหมายเข็มขัดนิรภัยผู้โดยสารตอนหลัง

--ข่าวสด ฉบับวันที่ 6 พ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--