ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เมื่อวันที่ 6 พ.ค. นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงการตรวจสอบวัตถุดิบพาราเซตามอลของ หจก.พ. ระหว่างเดือน ม.ค. 2554-ก.ย.2555 จำนวน 386 ตัน ขายให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) 148 ตัน โรงงานเภสัชกรรมทหาร (รภท.) 237.15 ตัน ในจำนวนนี้ 44 ตัน มีปัญหาทางกายภาพว่า วัตถุดิบ 44 ตัน ไม่ได้มีปัญหาทั้งหมดเพราะมีรุ่นที่ รภท. ตรวจวิเคราะห์ผ่านแล้วนำไปผลิตยา 23.65 ตัน ส่งคืน หจก.พ. 20.35 ตัน ทำลายไป 0.1 ตัน ขายต่อให้บริษัท ม. 7 ตัน ยังไม่ได้นำไปผลิตยา และขายให้บริษัท บ. 1 ตัน ใช้ผลิตยาแล้ว เหลืออยู่ที่ หจก.พ. 13.25 ตัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีบริษัทนำวัตถุดิบ 1 ตัน ไปผลิตยาแล้ว อย. ดำเนินการอย่างไร นพ.บุญชัย กล่าวว่า ได้ขอความร่วมมือให้บริษัทเรียกยาทั้งหมดคืนจากท้องตลาดแล้ว เมื่อถามว่ากรณีบริษัท อ. ที่รับจ้างผลิตยาพาราเซตามอลชนิดแผงให้ อภ. ที่เคยพบวัตถุดิบมีปัญหาดำเนินการอย่างไร นพ.บุญชัย กล่าวว่า น่าจะคืนบริษัทผู้ผลิตในประเทศจีน คือที่ผ่านมายังไม่มีข้อมูลว่าวัตถุดิบมีปัญหาไปไหนตรงนี้เป็นช่องโหว่จึงได้ออกกฎกระทรวงและประกาศ อย. มาอุดช่องโหว่แล้ว ต่อข้อถามว่า อภ. เคยแถลงว่าบริษัทที่จัดซื้อวัตถุดิบได้รับการรับรองมาตร ฐานในระดับสากลจาก อย. สหรัฐ ออสเตรเลีย และยุโรป  นพ.บุญชัย กล่าวว่า ได้ขอเอกสารดังกล่าวจากผู้นำเข้าวัตถุดิบคือ หจก.พ. ไป 2 สัปดาห์แล้ว ตอนนี้กำลังรอเอกสารอยู่

ภก.วินิต อัศวกิจวิรี ผอ.สำนักยา อย. กล่าวว่า ขณะนี้ อย. อยู่ระหว่างหารือเพื่อออกประกาศหรือหลักเกณฑ์สำหรับผู้รับอนุญาตผลิตยา วัตถุประสงค์เพื่อควบคุมวัตถุดิบที่จะนำมาผลิตยาสำเร็จรูปโดยอาจกำหนดว่าวัตถุดิบที่ใกล้หมดอายุแล้วจะต้องมีการดำเนินการอย่างไรเพื่อให้มั่นใจว่า ยาที่จะผลิตออกมาไม่มีปัญหา ต่อข้อถามถึงกรณีที่สำนักยาเข้าไปตรวจสอบวัตถุดิบโอเซลทามิเวียร์ ภก.วินิต กล่าวว่า ได้เข้าไปดูว่าปริมาณวัตถุดิบมีอยู่มากน้อยเท่าไหร่ หมดอายุหรือยัง เพราะวัตถุดิบที่ซื้อมาจากประเทศอินเดียจะกำหนดวันทดสอบซ้ำ (รีเทสต์ เดท) ว่ายังใช้ได้อยู่หรือไม่

ด้าน นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบกรณีความล่าช้าโรงงานผลิตยาต้านไวรัสเอชไอวี กรณีวัตถุดิบพาราเซตามอล และโรงงานแมสโปรดักซ์ชั่น  กล่าวว่า ในวันพุธที่ 8 พ.ค. นี้ จะสรุปผลการตรวจสอบทั้ง 3 กรณี  เมื่อถามว่าวัตถุดิบโอเซลทามิเวียร์จำเป็นต้องตรวจซ้ำหรือไม่ นพ.นิพนธ์ กล่าวว่า กรณีนี้ อภ. ตรวจผ่านแล้ว แต่คงกลัวคนนอกจะไม่เชื่อจึงอยากให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ไปช่วยตรวจอีกทาง เท่าที่ทราบวิธีการตรวจยังไม่สอดคล้องกันนิดหน่อยระหว่างวิธีตรวจมาตรฐานกับของบริษัทก็เลยต้องพูดคุยกัน.

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 7 พฤษภาคม 2556