ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันระบบการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานหรือพีฟอร์พี เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทุกคนที่ปฏิบัติงานได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่สายบริหารยังได้รับเท่าวงเงินเดิมที่เคยได้รับในระบบเหมาจ่ายตามพื้นที่ ไม่ใช่ร้อยละ 1 ของเงินเดือน การเก็บผลงานขึ้นอยู่กับความพร้อมของโรงพยาบาล โดยจะเบิกจ่ายย้อนหลังได้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2556 วงเงิน 1,000 ล้านบาท ขณะนี้มีหลายแห่งพร้อมเบิกจ่ายได้ในเดือนพฤษภาคมนี้

วันนี้ (7 พฤษภาคม 2556) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน ว่า ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้วางแผนดำเนินการใน 4 กิจกรรมหลัก เพื่อให้ทุกแห่งสามารถเบิกจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน ได้แก่ 1.การชี้แจงทำความเข้าใจเจ้าหน้าที่รายจังหวัด 2.ศึกษารวบรวมข้อมูลการปฏิบัติงาน 3.การกำหนดคะแนนกิจกรรมซึ่งจะต้องพิจารณาควบคู่มาตรฐานของงาน และ 4.การเก็บผลการปฏิบัติงานเพื่อนำมาคิดค่าคะแนน โดยการจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวขึ้นอยู่กับความพร้อมของโรงพยาบาลเป็นหลัก ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมงบประมาณ 1,000 ล้านบาทเพื่อจ่ายเป็นค่าตอบแทนตั้งแต่เดือนเมษายน 2556 จนถึงขณะนี้ได้รับรายงานว่า มีหลายแห่งที่จะเริ่มจ่ายได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไป

สำหรับการจ่ายค่าตอบแทนตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 4, 6 และ7 เดิม ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2555 – 31 มีนาคม 2556 จำนวน 2,000 ล้านบาทนั้น ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขกำลังแจ้งยอดวงเงินไปยังแต่ละเครือข่ายบริการสุขภาพและจังหวัดเพื่อดำเนินการเบิกจ่ายต่อไป

นายแพทย์สุพรรณกล่าวต่อว่า สำหรับเจ้าหน้าที่ในสายงานบริหารทั้งหมด ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 9 ได้กำหนดให้ได้รับค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่สายสนับสนุนทุกสายงานเพื่อความเป็นธรรม เนื่องจากถือเป็นสายสนับสนุนงานภาคบริการรักษาพยาบาลประชาชน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในพื้นที่ที่เคยได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 6 กระทรวงสาธารณสุขได้กันเงินค่าตอบแทนไว้เท่ากับวงเงินเดิมที่เคยได้รับเพื่อจ่ายตามผลการปฏิบัติงาน ซึ่งไม่ใช่ร้อยละ 1 ของเงินเดือนตามที่บางฝ่ายเข้าใจ และขอยืนยันว่า เงินร้อยละ 1 ที่กล่าวถึงนั้นเป็นเงินที่กระทรวงสาธารณสุขกันไว้เพื่อชดเชยให้โรงพยาบาลที่ขาดสภาพคล่องทางการเงินหรือมีเงินบำรุงไม่พอจ่าย โดยเป็นร้อยละ 1 ของวงเงินค่าจ้างของบุคลากรสาธารณสุขทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะรายบุคคล

อย่างไรก็ดี กระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการด้านวิชาการและการติดตามประเมินผล เพื่อติดตามกำกับระบบการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานทั้งระบบ พร้อมทั้งเร่งดำเนินการปรับปรุงการกำหนดพื้นที่ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 8 ให้เป็นปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้ได้เปิดโอกาสให้ทุกจังหวัดส่งข้อมูลเข้าส่วนกลางและมอบให้ผู้ตรวจราชการร่วมพิจารณาด้วย เนื่องจากเป็นผู้ที่รู้พื้นที่ดีที่สุด แล้วนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการโดยเร็วที่สุด เพื่อให้การจ่ายค่าตอบแทนครั้งนี้เป็นไปอย่างยุติธรรมต่อไป