ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

"หมอประดิษฐ" ดึง สปสช. วางกรอบระบบ P4P คาดเสร็จก่อน 1 ต.ค. 2556  แจงกรณี "หมอวิชัย" ฟ้อง ดีเอสไอ เป็นสิทธิส่วนตัว ตัดพ้อคนแก้ปัญหากลับถูกมองเป็นพวกยุ่งยาก ปฏิเสธจัดการพวกกล่าวหารายวัน ยึดหลักอโหสิกรรม ด้าน คกก.สอบข้อเท็จจริงโรงงานผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ เตรียมส่งข้อสรุปบอร์ด อภ. ขณะที่สหภาพแรงงาน อภ. ออกสมุดปกขาวแจงทุกกรณี

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) เปิดเผยถึงกรณีการประเมินการจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรด้านสาธารณสุขตามผลการปฏิบัติงานหรือ พีฟอร์พี (Pay For Performance : P4P) ว่า ยังไม่มีการประเมินเกี่ยวกับข้อติดขัดในเรื่องของระเบียบต่างๆ แต่เบื้องต้นจะประเมินเรื่องว่าโรงพยาบาลดำเนินการได้หรือไม่ จากนั้นจึงจะประเมินว่ามีระเบียบเรื่องใดที่ไม่ยืดหยุ่น ซึ่งขณะนี้ก็ได้เปิดโอกาสให้มีการอุทธรณ์ในส่วนของการจัดแบ่งพื้นที่โรงพยาบาลใหม่

"เดิมทีจะประเมินหลังจากปรับรูปแบบการจ่ายค่าตอบแทนเป็นแบบ พีฟอร์พีไปแล้ว 1 ปี แต่นายกรัฐมนตรีให้ความเห็นว่าเมื่อต้องใช้เงินจ่ายค่าตอบแทนผูกติดกับการของบประมาณผ่าน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งจะเริ่มใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2556 ก็ควรให้ สปสช. เข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนี้ด้วย ดังนั้น ในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม นี้ จะเชิญ สปสช. มาหารือเพื่อวางระเบียบการดำเนินงาน" นพ.ประดิษฐ กล่าว

ส่วนกรณีที่ นพ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม(บอร์ด อภ.) จะฟ้องกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ หากพิจารณาสำนวนที่ดีเอสไอ ส่งชี้มูลเข้าข่ายกระทำความผิดไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้าข่ายการละเมิดเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า เป็นสิทธิส่วนตัว ที่ นพ.วิชัย จะดำเนินการฟ้องร้อง แต่ ดีเอสไอเป็นหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่ตามกฎหมายอยู่แล้ว

นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า จากการเข้าไปดูโรงงานผลิตยาพาราเซตามอล ที่ อภ.ด้วยตนเองเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2556 พบว่า ยังไม่มีการเปิดการผลิต เครื่องจักรยังไม่ได้ติดตั้ง ส่วนการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องต่างๆ ของ อภ. เช่น การก่อสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก ยาพาราเซตามอล ทั้งเรื่องการจัดซื้อวัตถุดิบและโรงงานผลิต และการก่อสร้างโรงงานผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ เป็นต้น โดยบอร์ด อภ.นั้น ตนยังไม่ได้รับรายงานแต่ทราบว่าบอร์ดจะประชุมในช่วงสิ้นเดือนพ.ค.นี้

"การที่ผมดำเนินการเรื่องเหล่านี้เพราะต้องการให้เกิดความเป็นธรรม เพราะหากจะยึดตามรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ผมได้มาก่อนนี้ซึ่งเขียนระบุชัดว่าให้ใครรับผิดชอบ ผมก็สั่งการได้เลย แต่ก็ไม่ได้ทำ ต้องการให้เกิดความเป็นธรรม" นพ.ประดิษฐ กล่าว

ส่วนที่มีนักวิชาการจากสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า การดำเนินการเช่นนี้ เป็นการ "ป้ายความผิดเพื่อปลด ผอ.อภ." นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า คำว่าป้าย หมายถึงการเอาเรื่องไม่จริงไปพูด แต่ในทุกวันนี้ยอมให้มีการกล่าวหาตนทุกวัน ก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่หากท้ายที่สุดแล้ว ผลออกมาว่าสิ่งที่พูดมีข้อเท็จจริงยืนยันทุกครั้ง คนที่กล่าวหาก็ต้องถอนคำพูด

"ผมไม่เข้าใจว่าทำไมคนพยายามเข้าไปแก้ปัญหา กลับกลายเป็นคนยุ่งยาก แต่คนที่สร้างปัญหากลับได้รับการปฏิบัติอีกอย่าง ทั้งที่สิ่งที่ผมดำเนินการเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสิ้นและเป็นการแก้ปัญหาเชิงระบบทั้งหมด อย่างเรื่องยาใกล้หมดอายุก็เป็นการแก้ที่ต้นน้ำ เพราะว่า อภ.เป็นตัวอย่างที่ดี หากวันหนึ่งบริษัทเอกชนทำบ้าง ประชาชนจะรับได้หรือไม่ ซึ่งในเรื่องนี้ผมได้สั่งการให้ อภ.รายงานบัญชียาที่จะหมดอายุภายใน 1 ปี จากสต็อกยาที่ อภ. มีอยู่ 3,400 ล้านบาท ว่า จำนวนเท่าไร จะได้บริหารจัดการที่ดี ผมจึงเสียใจว่าผมเป็นคนสร้างความยุ่งยาก" นพ.ประดิษฐ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการดำเนินการอย่างไรกับกรณีที่ผู้ใต้บังคับบัญชาพูดจาใส่ร้ายกล่าวหาผู้บังคับบัญชารายวัน นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า ยึดหลักอโหสิกรรม ถ้าไม่มีใครร้องเรียนก็ไม่รู้ว่าจะสอบทำไม ถือว่าเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกัน

ด้าน นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในฐานะคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีการก่อสร้างโรงงานผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ หรือ เออาวีขององค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค. หรือเมื่อวานนี้ ทางคณะกรรมการฯ จะมีการสรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งผลสรุปเบื้องต้นไม่ได้มีการชี้มูลความถูกผิดของเรื่องดังกล่าว เพียงแต่ได้มีการตั้งข้อสังเกตของกระบวนการทำงาน ซึ่งพบว่า มีการปรับแบบการก่อสร้างตลอดระยะเวลา และทำให้มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ เห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งบริษัทที่ปรึกษา ผู้รับเหมา คณะกรรมการตรวจการจ้าง จำเป็นต้องหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้โรงงานที่ใกล้จะเสร็จสามารถเดินหน้าต่อและเปิดใช้งานได้ โดยถือเป็นหน้าที่ของบอร์ด อภ.ที่ต้องดำเนินการ เพราะคณะกรรมการฯไม่มีหน้าที่ตัดสิน เพียงแต่สอบเพื่อให้เกิดความชัดเจนในกระบวนการทำงานเท่านั้น และประเด็นที่ยังค้างอยู่ คือ เรื่องเครื่องปรับอากาศที่ทำให้ยังไม่สามารถเปิดโรงงานได้นั้น เป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการแก้ปัญหา คณะกรรมการฯ จะไม่ลงความเห็น เพราะจะเกิดความไม่เป็นธรรม

ขณะที่ นายระวัย ภู่ผะกา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสหากิจองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า ได้มีการจัดทำสมุดปกขาวเป็นเอกสารที่ส่วนใหญ่ทางผู้บริหารได้ยื่นให้แก่ดีเอสไอทุกเรื่อง ทั้งกรณีวัตถุดิบยาพาราฯ การสร้างโรงงานวัคซีนล่าช้า ฯลฯ ซึ่งเวลาออกข่าวกลับไม่เคยได้รับการพูดถึง เช่น กรณีข้อสงสัยที่ว่าสั่งซื้อวัตถุดิบยาพาราฯ เข้ามา 48 ตัน แล้วพบการปนเปื้อน เหตุใดจึงยังสั่งเข้าอีก 100 ตัน ซึ่งความจริงแล้วเอกสารที่ผู้บริหารยื่นให้ดีเอสไอระบุว่า การพบการปนเปื้อนนั้นพบภายหลังจากการนำเข้าวัตถุดิบล็อตที่สอง หรืออย่างกรณี นพ.ประดิษฐ ให้ อภ.จัดหาน้ำเกลือ 7 ล้านถุง เพื่อให้โรงพยาบาลต่างๆ มาซื้อน้ำเกลือจาก อภ.โดยตรง ในช่วงที่น้ำเกลือขาดแคลน ปรากฏว่าขณะนี้ขายไปได้เพียง 1 ล้านถุงเท่านั้น ยังเหลืออีก 6 ล้านถุง ซึ่งตีเป็นมูลค่าแล้วก็ประมาณ 180 ล้านบาท อย่างเรื่องนี้ก็อยากจะถาม รมว.สาธารณสุข กลับเช่นกันว่าใครควรเป็นผู้รับผิดชอบ

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 9 พฤษภาคม 2556