ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

คำว่า “สังคมผู้สูงอายุ” เราอาจเคย ได้ยินได้ฟังมาว่าเป็นสภาพสังคมที่เกิดขึ้นในหลายๆประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น อันเนื่องมาจากจำนวนผู้สูงอายุมีเพิ่มมากขึ้น

แต่เราอาจไม่ทราบกันว่า สังคมไทยได้เริ่มเดินทางเข้าสู่สภาพ “สังคมผู้สูงอายุ” มาตั้งแต่ปี 2552 แล้ว อันเนื่องมาจากสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นและอายุขัยเฉลี่ยของผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น

กล่าวคือ ในผู้หญิง 74.5 ปีและในผู้ชาย 69.9 ปี ฟังดูน่าจะดี แต่ในความเป็นจริง คือคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุส่วนใหญ่กลับสวนทางกับอายุขัยเฉลี่ยดังกล่าว

ปัญหามีว่า...แล้วสังคมไทย โดยเฉพาะสังคมชนบท ชุมชนท้องถิ่นซึ่งมีผู้สูงอายุจำนวนมาก จะปรับตัวเพื่อรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ได้อย่างไร

มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) แผนงานพัฒนาองค์ความรู้เพื่อเพิ่มมโนทัศน์ใหม่ของนิยามผู้สูงอายุและอายุเกษียณที่เหมาะสมสำหรับคนไทย สนับสนุนโดย สสส. จัดเสวนาวิชาการ “สังคมไทยจะก้าวไปอย่างไรบนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร” เมื่อไม่นานมานี้...ฉายภาพสถานการณ์โครงสร้างสังคมไทยที่กำลังมุ่งสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว

รศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ปัจจุบันแนวโน้มโครงสร้างทางประชากรของสังคมไทยกำลังมุ่งสู่สังคมผู้สูงอายุ จากตัวเลขเมื่อปี 2553 ระบุว่ามีผู้สูงอายุทั่วประเทศประมาณ 8.5 ล้านคน

หากเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศไทยที่มีประมาณ 65.9 ล้านคน พบว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้สูงอายุมากถึง ร้อยละ 13 โดยมีการคาดการณ์ว่าสัดส่วนจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ในอีก 10 ปีข้างหน้า ดังนั้นประเด็นการเตรียมความพร้อมของสังคมไทยในการมุ่งสู่สังคมผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายควรให้ความสำคัญ โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่จะได้รับผลกระทบด้านกำลังแรงงาน

รศ.ดร.วรเวศม์ ย้ำว่า นอกจากสถานการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรแล้วนั้น ขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็กำลังประสบกับภาวะเจริญพันธุ์ที่ต่ำลง หรือที่เรียกว่าภาวการณ์มีบุตรน้อย

จากการสำรวจเมื่อปี 2554 พบว่า ประชากรที่มีอายุ 80 ปี จะมีอัตราการมีบุตรเฉลี่ยคนละ 4.6 คน ส่วนประชากรอายุระหว่าง 50-54 ปี มีบุตรเฉลี่ยเพียงคนละ 2.1 คน เท่านั้น

เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนจะเห็นว่า แนวโน้มการมีบุตรลดลงค่อนข้างมาก ประกอบกับค่าเฉลี่ยอายุในปัจจุบันที่สูงขึ้น ในระยะยาวสังคมไทยจึงอาจประสบปัญหาคุณภาพชีวิต และการเป็นอยู่ชีวิตของผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งอาจไม่มีบุตรหลานคอยดูแล

 “ประเด็นเรื่องความมั่นคงในชีวิต โดยเฉพาะความเป็นอยู่ยามชราภาพ ควรมีการพูดถึง...วางแผนรองรับ ปัจจุบันไม่เหมือนสมัยก่อนที่ครอบครัวมักมีลูกเยอะ ยามแก่เฒ่าจึงมีลูกหลานคอยดูแลให้ความช่วยเหลือ”

อย่างไรก็ตาม ประเด็นด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเงินของผู้สูงอายุ ก็ถือเป็นสำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องคุณภาพชีวิต...ความเป็นอยู่ ผลการศึกษาวิจัยพบว่า ในอนาคตประเทศไทยน่าจะประสบกับภาวะขาดแคลนกำลังแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างภาคเอกชน เนื่องจากสัดส่วนการออกจากงานของคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีอายุระหว่าง 47-48 ปี มีแนวโน้มออกจากระบบมากขึ้น

ส่วนใหญ่มักจะออกไปประกอบธุรกิจส่วนตัว หรือหากเป็นเพศหญิงก็มักจะออกไปเป็นแม่บ้าน ซึ่งการออกจากงานที่ค่อนข้างเร็ว ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางรายได้ในอนาคต

 “แม้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลทุกชุดจะพยายามสร้าง หลักประกันให้กับกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของเงินบำนาญ แต่ในเรื่องของการขยายโอกาสการทำงาน หรือการสร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุ ตรงนี้ดูเหมือนว่าประเทศไทยจะยังไม่ค่อยมีความพร้อมมากนัก”

ภาครัฐจำเป็นต้องมองถึงแนวทางการส่งเสริมให้ผู้ที่เริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุอยู่ในระบบการทำงานอย่างต่อเนื่องได้อย่างไร ควรเริ่มวางแผนในกลุ่มที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป กระนั้นการดึงให้คนอยู่ในระบบการทำงานยาวนานขึ้น ไม่ได้หมายถึงการขยายอายุเกษียณเพียงอย่างเดียว

หนึ่งในเวทีชุมชนท้องถิ่นที่มีผู้สูงอายุเตรียมรับมือภายใต้ “เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่” ร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. ชื่อว่า “ฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย”สุวรรณี ค่ำมั่น รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ บอกว่า

“สังคมผู้สูงอายุเป็นหน้าที่ของทุกๆคนที่จะต้องช่วยกันสร้างมาตรการรองรับในเรื่องนี้โดยเริ่มตั้งแต่ชุมชนท้องถิ่น ซึ่งจะต้องสร้างเสริมศักยภาพให้แก่ผู้สูงอายุ โดยเน้นการใช้เทคโนโลยี ความรู้เฉพาะทางมากยิ่งขึ้น”

พร้อมทั้งต้องมีนโยบายที่ดี เช่น ประกันสังคม ประกันการว่างงาน ประกันชราภาพให้แก่แรงงานทั้งไทย...ต่างชาติอย่างเท่าเทียมกัน และจะต้องปรับสภาพให้สอดรับกับสังคมของผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างบ้านเรือน ปรับโครงสร้างสภาพแวดล้อมในชุมชนให้สะดวกกับผู้สูงอายุ

ซึ่งที่ผ่านมา...การจัดทำนโยบายขององค์กรท้องถิ่นนั้นมีการบรรจุนโยบายที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุเป็นลำดับท้ายๆ สุวรรณี สรุปมาตรการที่จะต้องเร่งดำเนินการ อาทิ มีการดูแลด้านโภชนาการ การสร้างงานสำหรับผู้สูงอายุ การจัดระเบียบแรงงานต่างชาติ เพิ่มทักษะแรงงาน และส่งเสริมการออมตั้งแต่วัยทำงาน

นพ.โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในงานเสวนาวิชาการ “สังคมไทยจะก้าวไปอย่างไรบนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร” อีกว่า...ด้วยสภาพสังคมไทยที่มีผู้สูงอายุมากขึ้น ในอนาคตจะส่งผลให้มีอัตราการเป็นภาระวัยสูงอายุ หรืออัตราที่พึ่งพิงวัยสูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งเชื่อมโยงเกี่ยวกับการเจ็บไข้ได้ป่วย

หากแบ่งตามสัดส่วนของผู้สูงอายุตามศักยภาพ จะพบว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีกลุ่มผู้สูงอายุติดสังคม คือ...สามารถออกมาพบปะผู้คนได้ ร้อยละ 78 กลุ่มติดบ้าน คือ...ลูกหลานต้องคอยดูแล ร้อยละ 20 และกลุ่มติดเตียง คือ...ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เลย ร้อยละ 2

ดังนั้นกระบวนการสำคัญที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น จึงต้องอาศัยรูปแบบการให้บริการที่มีส่วนร่วมจากชุมชนเข้ามาช่วยกัน โดยพยายามผลักดันให้กลุ่มผู้สูงอายุที่ติดบ้าน ขยับเป็นกลุ่มติดสังคมมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้สูงอายุกลุ่มติดเตียงให้สามารถดูแลตัวเองได้เพิ่มมากขึ้น

ภายใต้ “เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่” จ.อ.ไพศาล มีสมบัติ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านควน จังหวัดชุมพร บอกว่า สิ่งที่เป็นหลักในการพัฒนาคือ “ผู้สูงอายุต้องอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี และมีคุณค่า”

อีก 12 ปีข้างหน้า ประมาณการกันว่า...ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุมากถึง 14.4 ล้านคน

 “ชุมชนท้องถิ่น” เป็นฐานสำคัญของประเทศไทย ควรเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนไปสู่สังคมผู้สูงอายุ ด้วยการเริ่ม...เดินหน้านโยบายส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเสียแต่วันนี้

ที่มา: นสพ.ไทยรัฐ วันที่ 9 พฤษภาคม 2556