ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

'หมอวิทิต'เปิดแถลงชี้แจงทุกประเด็น ฝ่ากระแสข่าวสะพัดบอร์ด อภ.ร่นประชุมเตรียมเลิกจ้าง ภาค ปชช.จับตาหากปลดไร้เหตุผล พร้อมเคลื่อนไหว

หลังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งสำนวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการจัดซื้อวัตถุดิบยาพาราเซตามอล ไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เนื่องจากพบว่าอาจเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ในมาตรา 12 (ฮั้วประมูล) และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดยมีผู้เกี่ยวข้อง 2 ราย คือ นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และ นพ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) จึงมีกระแสข่าวว่าจะมีปลดผู้อำนวยการ อภ.นั้น

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม แหล่งข่าว อภ.เปิดเผยว่า ขณะนี้มีกระแสข่าววิพากษ์วิจารณ์ว่า บอร์ด อภ.ที่มี นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เป็นประธาน นอกจากอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ของ อภ. ทั้งกรณีวัตถุดิบยาพาราเซตามอล ความล่าช้าการก่อสร้างโรงงานวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่/ ไข้หวัดนก และความล่าช้าของโรงงานผลิตยาต้านไวรัสเอชไอวีแล้ว ยังมีการพิจารณาถึงความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งของ นพ.วิทิต ด้วย มีกระแสข่าวหนาหูว่า อาจมีการปลดออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการ อภ. ทำให้ภาคประชาชนและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเตรียมหารือว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไรหากมีการปลด นพ.วิทิต

แหล่งข่าวกล่าวว่า ตำแหน่งผู้อำนวยการ อภ.เป็นการสรรหาในลักษณะสัญญาจ้างระหว่างประธาน บอร์ด อภ. กับผู้อำนวยการ อภ. จึงไม่ใช่ข้าราชประจำ ไม่สามารถพิจารณาความผิดทางวินัยได้ แต่หากไม่ต่อสัญญาจ้างจะต้องมีรายละเอียดระบุไว้ชัดเจนเช่น บริหารงานอันก่อให้เกิดความเสียหายต่อองค์กร หรือบริหารงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ ตาม พ.ร.บ.องค์การเภสัชกรรม พ.ศ.2509 มาตรา 25 ระบุว่า ผู้อำนวยการจะพ้นจากนอกจากนี้ ตาม พ.ร.บ.องค์การเภสัชกรรม พ.ศ.2509 มาตรา 25 ระบุว่า ผู้อำนวยการจะพ้นจากตำแหน่งเมื่อตาย ลาออก หรือคณะกรรมการให้ออกจากตำแหน่ง ดังนั้น เมื่อเกิดกรณีการชี้มูลความผิดจากดีเอสไอ ก็จะขึ้นอยู่กับอำนาจของ บอร์ด อภ.ในการพิจารณาเลิกสัญญาจ้างแล้วนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อปี 2550 บอร์ด อภ.ขณะนั้นซึ่งมี นพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธานบอร์ด อภ. เคยมีมติให้ พล.ท.นพ.มงคล จิวะสันติการ ผู้อำนวยการ อภ.ในขณะนั้นออกจากตำแหน่ง ด้วยเหตุผลว่าไม่สามารถตอบสนองนโยบายงานได้ หลัง พล.ท.นพ.มงคลเข้าทำงานได้ประมาณ 1 ปีกว่า ก่อนที่นพ.วิทิตจะเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการ อภ.แทน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกระแสข่าวดังกล่าวทำให้ นพ.วิทิตนัดสื่อมวลชน แถลงชี้แจงทุกประเด็นเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ ที่โรงแรมริชมอนด์

ขณะที่ นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานบอร์ด อภ.กล่าวถึงกระแสข่าวปลด นพ.วิทิต ว่า เดิมทีจะประชุมบอร์ด อภ.วันที่ 23 พฤษภาคม แต่เนื่องจากกรรมการหลายคนติดภารกิจ จึงเลื่อนมาเป็นวันที่ 17 พฤษภาคม ขณะนี้ ยังไม่ได้รับรายงานการตรวจสอบกรณีปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับ อภ.แต่อย่างใด จึงไม่อยากให้กังวลก่อน ขอให้รอการพิจารณาจากที่ประชุมก่อน

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า ยังไม่ทราบเรื่องนี้ เนื่องจาก บอร์ด อภ.มีหน้าที่ดำเนินการเรื่องต่างๆ ผ่านมติบอร์ดอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องผ่านรัฐมนตรี สธ.

ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ยังไม่แน่ชัดว่า บอร์ด อภ.จะพิจารณาเรื่องนี้อย่างไร แต่หวังว่าจะไม่เป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง บอร์ด อภ.ควรเป็นอิสระอย่างแท้จริง และมีเหตุผลอย่างถูกต้อง หากสุดท้ายมีการปลด นพ.วิทิตก็ต้องมีเหตุผลเพียงพอว่าเพราะอะไร ทางภาคประชาชนจะเฝ้าติดตาม และหารือว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 15 พฤษภาคม 2556