ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

อดีต รมว.สธ.ห่วงวงการแพทย์ล่ม เหตุหมอซัดกันเอง ชี้แนวปฏิรูป สธ.เป็นแนวคิดที่ดี แต่ภาคปฏิบัติต้องให้หลายฝ่ายมีส่วนร่วม ไม่ใช่สั่งการไม่ถามใคร เพราะราชการไม่ใช่บริษัทเอกชน จี้เลิกหาคนผิดสร้างโรงงานวัคซีนได้แล้ว แต่ควรชี้แนะ อภ.ทำอย่างไรให้สร้างเสร็จโดยเร็ว เพื่อเตรียมความพร้อมให้มากที่สุดเผื่อเกิดโรคระบาด ชี้ปัญหายาพาราฯ ทำให้ไทยอาจเสียตลาดยาพาราฯ ในต่างประเทศไปแล้ว

นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงประเด็นการปฏิรูป สธ. และความขัดแย้งระหว่างกลุ่มแพทย์ชนบท กับ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สธ. ว่า ส่วนตัวเห็นว่านโยบายหลายๆ อย่างของการปฏิรูปเป็นเรื่องที่ดี แต่ปัญหาที่เกิดเนื่องจากขาดการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เรื่องพีโฟร์พี เป็นเพียงการเรียกแพทย์เข้ามารับทราบ เรียกเขามาสั่งให้ทำตามสิ่งที่ตัวเองและทีมงานคิดเอาไว้แล้วเท่านั้น ที่จริงไม่มีอะไรที่เป็นมานะทิฐิของทั้ง 2 ฝ่าย สามารถปรับเข้าหากันได้ แต่อะไรก็ตามที่ปล่อยให้เนิ่นนานเกินไป จากความไม่เข้าใจ ความสงสัย ความที่ไม่ชัดเจน คิดวน จะกลายเป็นโทสะ ตอนนี้โมหจริตเปลี่ยนเป็นโทสจริตไปแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่าหลังจากสู้กันเชิงนโยบายแล้ว ตอนนี้มีการออกมาเปิดโปงเรื่องทุจริต นพ.มงคลกล่าวว่า ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ต้องเอามาพิจารณา มันคือการสาดโคลนใส่กัน ทำให้ต่างคนต่างเปื้อน ซึ่งมีเรื่องจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง ผู้ที่เข้าร่วมในการต่อสู้ก็หวังชนะ จึงต้องใช้ทุกวิถีทางในการที่จะให้ชนะให้ได้ เพราะฉะนั้นไม่มีใครชนะ แต่จะตายกันทั้งคู่ ดูแล้วจึงกลายเป็นตลก และต่างคนต่างก็เก่งกาจที่ออกมาชี้ว่าคนนั้นผิดอย่างไร อย่างไรก็ตาม ตนไม่ค่อยให้น้ำหนักสิ่งที่ต่างคนต่างก็ยกขึ้นมาโจมตี เพราะเป็นเรื่องที่ต่างคนต่างออกหมัด

ผู้สื่อข่าวถามว่าตอนแรกเหมือนว่าความขัดแย้งเกิดจากการออกระเบียบพีโฟร์พี แต่ตอนหลังกลายเป็นขุดปัญหาของ อภ.ขึ้นมา นพ.มงคลกล่าวว่า เรื่อง อภ.เป็นอีกส่วนหนึ่ง แต่มองว่า สธ.เปิดศึกหลายด้าน ทั้งกับแพทย์ชนบท กับ อภ. กับองค์กร ส.ทั้งหลาย เลยไม่รู้ว่าวัตถุประสงค์จริงๆ คืออะไร แต่รู้ว่านักการเมืองส่วนหนึ่งไม่ว่าจะสมัยไหนจะไม่ค่อยชอบกลุ่ม ส.ทั้งหลาย เป็นอคติบางอย่าง ซึ่งตนคิดว่าบางคนไม่อยากให้มีองค์กรอิสระ เพราะคิดว่าทำงานล้ำหน้า หรือว่าทำงานดีเกินไป ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะการเกิดองค์กร ส. ส่วนมากจะนำคนเก่งๆ จาก สธ.มาทำงาน ทำให้ สธ.อ่อนกำลังลง ทั้งที่ สธ.เป็นแม่ เป็นผู้ผลักดันให้เกิด สสส. สปสช. สวรส. และ ส.ทั้งหลาย ซึ่งสามารถเรียกมาร่วมกันคิด มาร่วมกันทำงานได้ แต่ไม่ทำ กลับไม่ยอมรับว่านี่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ สธ.

 “ที่ผ่านมา สธ.มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอด ดังนั้นการปรับเปลี่ยนจึงไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย แต่ไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาประโคมข่าว ตอนนี้เป็นความผิดปกติที่ขยับอะไรก็ต้องเป็นข่าว เป็นการสร้างกระแสความคิดเห็นที่เหมือนและที่ต่าง แต่ถ้าเรื่องเล็กน้อย พูดคุยแล้วสมเหตุผล ก็ลงมือทำ ไม่จำเป็นต้องให้ข่าว ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะเวลานำไปสู่การปฏิบัติ ตั้งแต่การหารือกับคนที่เกี่ยวข้องยังไม่เหมาะสม องค์กรรัฐไม่เหมือนกับภาคเอกชน จะทำเหมือนนายห้างสั่งคนเดียวไม่ได้ ยอมรับว่าหลายนโยบายเป็นเรื่องดี แต่ถ้านำไปปฏิบัติอย่างเหมาะสมจะเป็นเรื่องดี” นพ.มงคลกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณี สธ.ยื่นเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ตรวจสอบเรื่อง อภ.สร้างโรงงานผลิตวัคซีนล่าช้า นพ.มงคลกล่าวว่า เป็นเรื่องที่ไม่สมควร แทนที่จะไปให้ดีเอสไอซึ่งไม่มีความรู้เรื่องการแพทย์เลย แล้วไปจ้างคนนั้นคนนี้มาดูด้วยอคติจะเกิดอะไร มีใครเคยไปถามหรือไม่ว่าขาดอะไรที่จะทำงานให้สำเร็จ ควรสนับสนุนให้โรงงานนี้เสร็จเร็วๆ เพื่อจะได้ผลิตเร็วๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว อภ.ควรออกสมุดปกขาว ถามตอบในข้อสงสัย ทั้งรูปแบบภาษาอังกฤษด้วย และออกเป็นระยะเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับ อภ.

 “เชื่อว่าโรงงานวัคซีนจะต้องสำเร็จ ให้เราช่วยกันเปิดทางเถอะ แล้วอันนี้เหมือนกับเราซื้อปืนเอฟ 16 ที่ไม่ได้เอาไปถล่มใคร ถ้าไม่มีโรคระบาดก็เก็บเอาไว้ใช้เป็นความมั่นคง แต่ถ้าเกิดโรคระบาดเราก็พร้อมผลิตออกมารักษาชีวิตคน มันยิ่งกว่าอาวุธทางทหารเสียอีก” นพ.มงคลกล่าว และว่า ไม่แน่ใจว่าเป็นการเล่นเกมการเมืองหรือไม่ แต่การเมืองเขาไม่เล่นกันอย่างนี้ เป็นพฤติกรรมของคนเท่านั้น การเมืองที่ดีๆ ก็มีอยู่เหมือนกัน

นพ.มงคลยังมองว่าปัญหาโรงงานผลิตวัคซีนไม่ควรเป็นไปทำนองจับผิดคน แต่ควรตั้งเป้าว่าทำอย่างไรให้ประโยชน์เกิดขึ้น ตนเชื่อใน อภ. โดยเฉพาะ นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผอ.อภ. เรื่องเจตนาไม่ดีไม่ใช่แน่ แต่การทำผิดพลาดก็ต้องมีบ้าง เมื่อทำงานก็ต้องมีอะไรที่ตกลง แต่ไม่ใช่เจตนาที่จะให้เกิดความผิดพลาด เช่นเดียวกับเรื่องการผลิตยาพาราเซตามอล ที่คนไทยต้องกินเป็นประจำ เราไม่ได้โง่กว่าประเทศอื่นๆ แต่ที่ต้องซื้อวัตถุดิบราคาถูกจากประเทศจีน เนื่องจากที่ผ่านมาเมื่อ อภ.ได้กำไรมาในแต่ละปีก็ต้องส่งเงินเข้าคลัง เพื่อนำไปพัฒนาประเทศ ทำให้ อภ.ไม่มีเงินมาพัฒนาต้นน้ำ แต่รัฐบาลประเทศอื่นไม่ได้คิดเอาเงินเข้าคลังอย่างเดียว จะคิดเรื่องการลงทุนพัฒนา อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการผลิตอาจจะเกิดการปนเปื้อนได้ แต่เกิดขึ้นจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะยังไม่มีการพิสูจน์ ส่วนตัวแล้วตนเชื่อมั่นใน อภ.มากกว่าองค์การเภสัชกรรมทหาร

 “อภ.เป็นหน่วยงานที่ขายผลิตภัณฑ์ให้กับประเทศศรีลังกา และประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ใช่ขายให้กับสถานพยาบาลในประเทศเท่านั้น ซึ่งเมื่อถูกกล่าวหาก็ต้องผลิตลดลง แต่ต่างประเทศอาจจะไปซื้อที่อื่น ขณะนี้ประเทศอินโดนีเซียมีความสามารถผลิตวัคซีน ผลิตยาไม่แตกต่างจากประเทศไทย ยิ่งถ้าเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบ ซึ่งตอนนี้ตนยังไม่ทราบว่ามีใครติดตามเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน” อดีต รมว.สธ.กล่าว

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ วันที่ 14 พฤษภาคม 2556