ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

'หมอวิทิต'เปิดแถลงข่าวแจงทุกข้อกล่าวหา ยันเปิดประมูลโปร่งใส โต้กระแสปลดพ้น อภ.ใช้เหตุผลอะไร ยันใช้สิทธิต่อสู้ตามกฎหมาย

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการสอบสวนก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก หนังสือพิมพ์มติชนรายวันขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) มีความล่าช้า และส่อว่าอาจมีความไม่โปร่งใสว่า ภายในสัปดาห์นี้ดีเอสไอจะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับประเด็นสำคัญกรณีการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีน ขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) โดยแบ่งเป็น 3 ประเด็นหลัก คือ 1.ความผิดเกี่ยวกับการแบ่งซื้อแบ่งจ้าง 2.ความไม่เหมาะสมของการดำเนินการในโครงการ ทำให้สูญเสียงบประมาณไปโดยไม่คุ้มค่า และ 3.การบริหารสัญญาที่ล่าช้า เป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย

ขณะที่วันเดียวกัน นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชและทีมกฎหมาย เดินทางมายังดีเอสไอเพื่อพบนายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ ผอ.ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยนำหนังสือคำให้การโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนมาให้ดีเอสไอเพื่อประกอบสำนวนการสืบสวนกรณีดังกล่าว

จากนั้น นพ.วิทิตเดินทางไปที่โรงแรมริชมอนด์ เพื่อเปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนชี้แจงข้อกล่าวหาการจัดซื้อวัตถุดิบยาพาราเซตามอล ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และความล่าช้าการก่อสร้างโรงงานวัคซีน และกรณีคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) จะมีการประชุมในวันที่ 17 พฤษภาคม โดยมีกระแสข่าวว่าจะปลด นพ.วิทิตออกจากตำแหน่ง

นพ.วิทิตกล่าวว่า ข้อสงสัยต่างๆ มีข้อมูลสามารถชี้แจงได้ทั้งหมด กรณีการจัดซื้อวัตถุดิบยาพาราเซตามอล ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเหตุใดจึงจัดซื้อเพียงบริษัทเดียว ได้ชี้แจงไปหลายครั้งแล้วว่ามีการคัดเลือกจาก 6 บริษัท และคัดเลือกเหลือ 2 แห่ง และมีระบบคัดเลือกว่าแห่งใดดีที่สุดจนเหลือแห่งเดียว ส่วนที่กล่าวหาว่าเพราะเหตุใดต้องสำรองวัตถุดิบจำนวนมาก ก็เคยชี้แจงเช่นกัน อภ.มีโครงการผลิตเอง ซึ่งเป็นโครงการผลิตยาหลายรายการ และหนึ่งในนั้นมียาพาราเซตามอลด้วย ปัจจุบันโรงงานแห่งนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา และแม้โรงงานยังไม่เสร็จ อภ.ก็พร้อมผลิตอยู่แล้ว ดังนั้น การที่มีข่าวว่า อภ.สำรองยา และไม่พร้อมผลิต จึงไม่เป็นความจริง อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ได้รับหนังสือจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ถึงแนวทางแก้ปัญหาวัตถุดิบ โดยให้คืนกลับไปทั้งหมด ซึ่งจะเริ่มคืนภายในวันที่ 26 พฤษภาคมนี้

"คิดว่าเรื่องนี้จะจบตั้งแต่คืนวัตถุดิบ แต่ไม่รู้ว่าใครเซตเกมนี้ เพราะจนบัดนี้ก็ยังไม่จบสิ้น" นพ.วิทิตกล่าว

นพ.วิทิตกล่าวอีกว่า ส่วนความล่าช้าในการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนซึ่งมีข้อสงสัยมากมาย โดยเฉพาะการคัดเลือกบริษัท ข้อเท็จจริงแล้ว อภ.เรียกบริษัทมานับสิบแห่ง แต่มีเพียงแห่งเดียวยืนยันว่าสามารถเขียนแบบได้ทัน ซึ่งในที่ประชุมบอร์ด อภ.ก็ยังไม่มั่นใจ จึงให้แยกออกเป็น 4 บริษัทในการออกแบบ โดยทั้งหมดให้แยกการประมูล ซึ่งพบว่าช่วยประหยัดงบจาก 17 ล้านบาท เหลือเพียง 9 ล้านบาท และยืนยันว่าโรงงานดังกล่าวมีความจำเป็น เพราะปัจจุบันวัคซีนป้องกันผลิตทั่วโลกเพียง 500 ล้านโดส เมื่อตอนเกิดการระบาด แทบไม่มีใครขาย จึงจำเป็นต้องพึ่งตนเอง

โรงงานดังกล่าวสามารถผลิตได้ทั้งเชื้อเป็นและเชื้อตาย เพื่อป้องกันและเตรียมความพร้อมรับมือการระบาด เนื่องจากเชื้อเป็นสามารถผลิตได้มากกว่าเชื้อตาย 30-100 เท่าเพื่อรองรับ ภาวะการระบาด และการทำสัญญา อภ.ได้เขียนชัดเจนว่าสามารถปรับเปลี่ยนแบบได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อ อภ.กรณีต้องมีการปรับเปลี่ยน ความคืบหน้าขณะนี้อยู่ระหว่างการต่อรอง ราคาการปรับแบบ หากบริษัทไม่ตอบกลับมาภายใน 7 วันนับจากนี้ สามารถยกเลิกสัญญา ส่วนเรื่องความล่าช้าก่อสร้างโรงงานผลิตยาต้านไวรัสเอชไอวีนั้น ขณะนี้ยกเลิกบริษัทที่ทำเรื่องเครื่องความเย็น เพราะล่าช้ามาก และอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบเรียกค่าปรับ ขณะเดียวกันจะมีการทำทีโออาร์ใหม่เพื่อให้โรงงานเดินหน้าต่อไป ข้อมูลหลักฐานทั้งหมดสามารถชี้แจงสาธารณชนได้

"ผมแค่อยากบอกความจริง ที่ผ่านมาแม้พวกเรา อภ.จะต้องหาข้อมูลมากมายแค่ไหนมาชี้แจง พวกเราก็ไม่ท้อ แต่อยากบอกให้สังคมรับรู้ความจริงเท่านั้น ข้อมูลที่ชี้แจงครั้งนี้ทั้งหมด เป็นข้อมูลเดียวกับที่ให้ดีเอสไอ" นพ.วิทิตกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีกระแสข่าวบอร์ด อภ.เตรียมปลดออกจากตำแหน่ง นพ.วิทิตกล่าวว่า เท่าที่ทราบคือบอร์ด อภ.จะประชุมในเร็วๆ นี้เท่านั้น แต่อยากบอกว่าไม่สบายใจที่องค์กรต้องได้รับกระทบ ซึ่งไม่เกี่ยวว่าตัวเองจะอยู่หรือจะไป เพราะหากไม่ปลด อีก 2 ปีก็หมดสัญญาจ้างแล้ว ดังนั้น จะไปพรุ่งนี้หรือวันไหนก็ไม่แตกต่างกัน และยินดีให้คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง

เมื่อถามว่า หากถูกปลดจะดำเนินการอย่างไร นพ.วิทิตกล่าวว่า ไม่ทราบว่าจะถูกปลดหรือไม่ และด้วยเหตุผลอะไร แต่คงต้องดำเนินการตามสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง

ด้าน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการตรวจสอบโรงงานผลิตวัคซีนของดีเอสไอว่า ดีเอสไอไม่ได้รายงานความคืบหน้ามาให้รับทราบแต่อย่างใด เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องในเรื่องของการตรวจสอบ ดังนั้น กรณีดีเอสไอเข้าสอบสวน หรือคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ถือเป็นเรื่องภายใน อภ. ซึ่งในฐานะผู้กำกับดูแลได้ให้นโยบายไปชัดเจนแล้วว่า ต้องเดินหน้าโครงการดังกล่าวต่อไปอย่างดีและเหมาะสมที่สุด โดยจะเชิญคณะกรรมการวัคซีนจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติและผู้เชี่ยวชาญ มาเป็นที่ปรึกษาทั้งด้านวิชาการและบริหารจัดการ ส่วนเรื่องในอดีตเป็นเรื่องของคนสอบสวนจะเสนอขึ้นมาว่าผลเป็นอย่างไร และดำเนินการไปตามขั้นตอนของผู้รับผิดชอบ

"ที่กล่าวหาผมตั้งธงจะเปลี่ยนตัว ผอ.อภ. ข้อกล่าวหาต้องเป็นข้อเท็จจริงเท่านั้น ผมคงไม่สามารถไปบิดเบือนขึ้นมาได้ และหากจะทำอย่างที่ตั้งธงจริง ทำไมจะต้องส่งเรื่องให้องค์กรกลางอย่างดีเอสไอดำเนินการ นั่นเพราะผมต้องการให้คนอื่นเห็นว่าผมไม่ได้มีเจตนาตั้งธง อยากให้ทุกคนดูว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ มีมูลหรือไม่ และที่สำคัญเรื่องที่เกิดขึ้นมาจะมีการรับผิดชอบอย่างไรด้วย" นพ.ประดิษฐกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากบอร์ด อภ.ปลด นพ. วิทิตออกจากตำแหน่ง จะส่งผลให้การก่อสร้างโรงงานวัคซีนล่าช้ากว่าเดิมหรือไม่ นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวข้องกัน และคงไม่ช้าไปกว่านี้ เพราะทุกวันนี้ไม่ได้มีความคืบหน้าใดๆ มาหลายปีแล้ว

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ในฐานะรองประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวถึงกระแสข่าวการจะปลด นพ.วิทิตว่า อภ.เป็นอีกองค์กรที่กำลังถูกแทรกแซง นพ.วิทิตถือเป็นคนมีฝีมือที่สุดคนหนึ่งของการบริหารภาครัฐ เป็นคนที่ตรงไปตรงมาไม่ยอมสยบให้กับอำนาจที่มิชอบ โดยปฏิบัติการยึด อภ.เริ่มจากการที่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ส่งสัญญาณให้นายกมล บันไดเพชร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ สธ. ส่งเรื่องไปยังกรมดีเอสไอเพื่อสอบสวนข้อมูลโรงงานวัคซีนก่อสร้างล่าช้า และการจัดซื้อวัตถุดิบยาพาราเซตามอล เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของ นพ.วิทิต เพื่อหาเหตุปลดออกจากตำแหน่ง

"นพ.วิทิตบริหาร อภ.จนสามารถพยุงราคายาให้โรงพยาบาลของรัฐจัดซื้อยาได้ในราคายุติธรรมมากขึ้น ทำให้บริษัทยาโดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติเสียผลประโยชน์อย่างมาก ทั้งยอดขายตก เสียส่วนแบ่งการตลาด ไม่สามารถโก่งราคายาเหมือนเดิมได้ การไปฟ้องดีเอสไอก็เพื่อหวังอาศัยจังหวะหาเหตุสั่งปลดนพ.วิทิตนั่นเอง" นพ.สุภัทรกล่าว

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ได้รับเอกสารและมีพยานบุคคลที่ขอสงวนนาม ระบุชัดว่ามีบุคคลใน สธ.ที่มีอำนาจเหนือบอร์ด อภ. และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สั่งเปลี่ยนเส้นทางของเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ หรือเงินที่ อภ.ต้องจ่ายให้หน่วยงานต่างๆ ที่สั่งซื้อยาและชำระเงินสดภายใน 60 วัน ของปี 2555 จำนวนกว่า 91 ล้านบาท ที่เตรียมจัดส่งให้โรงพยาบาล รพ.ต่างๆ โดยบุคคลดังกล่าวได้สั่งระงับการส่งเงินให้โรงพยาบาล และสั่งให้ สปสช. มีหนังสือลงวันที่ 31 มกราคม 2556 แจ้งให้ อภ.แบ่งเงิน 75 ล้านบาทส่งเข้าสำนักงานปลัด สธ. แต่ถูก นพ.วิทิตมีหนังสือลงวันที่ 4 เมษายน 2556 ขัดขวางไว้ โดยระบุว่าจะส่งเงิน 75 ล้านบาทตามคำสั่งได้ ต่อเมื่อมีการจัดทำโครงการสนับสนุนโรงพยาบาลต่างๆ อย่างชัดเจนก่อน ทำให้บุคคลดังกล่าวต้องสั่ง สปสช. ให้มีหนังสือเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2556 มอบอำนาจให้ปลัด สธ.เป็นผู้พิจารณาโครงการแบบเบ็ดเสร็จเอง

นพ.วชิระ บถพิบูลย์ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยว่า ขณะนี้ชมรมแพทย์ชนบท เครือข่ายกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายผู้ป่วยทั่วประเทศ เตรียมจับมือกับสหภาพวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม และ รัฐวิสาหกิจอื่นๆ ชุมนุมใหญ่ เพื่อเข้าพบนายกรัฐมนตรีที่บ้านพัก เรียกร้องให้ยกเลิกนโยบาย พีฟอร์พี การทำลายระบบสาธารณสุข ทำร้ายองค์การเภสัชกรรม และให้ปลด นพ.ประดิษฐ์ ซึ่งตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายนนี้ จะมีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จากโรงพยาบาลชุมชนต่างๆ ผลัดเปลี่ยนกันตั้งจุดบริการตรวจสุขภาพฟรีให้ประชาชนที่มีบ้านพักอาศัยรอบๆ บริเวณบ้านพักนายกฯจนกว่าจะได้คำตอบ

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 16 พฤษภาคม 2556